เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษา ต้องเลี้ยงอย่างไร? มาฟังประสบการณ์ดีๆ จากคุณแม่ต๊อบกันค่ะ

14 August 2020
3948 view

เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษา

แม่ๆ หลายคนคงรู้จักคำว่า เด็กสองภาษา กันมาบ้างแล้ว ไม่มากก็น้อยใช่ไหมคะ และเชื่อว่าหลายๆ ครอบครัวก็อยากที่จะให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา เพื่อให้ลูกมีพื้นฐานทางภาษาที่ดี แต่ก่อนอื่นต้องขออธิบายเพิ่มเติมความหมายของเด็กสองภาษาก่อนว่าคืออะไร เด็กสองภาษา หมายถึง เด็กที่พูดได้ทั้งภาษาหลักที่พ่อกับแม่พูด และภาษาเสริมอีกหนึ่ง หรืออีกหลายภาษา ที่พ่อแม่ต้องการที่จะให้ลูกพูดได้ พ่อแม่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าการเป็นเด็กสองภาษานั้น มีประโยชน์กับชีวิตลูกอย่างไร สามารถทำได้จริงหรือไม่ มันจะยากไปสำหรับลูกของเราหรือเปล่า แล้วต้องเริ่มสอนลูกอย่างไร วันนี้ Mama Expert มีบทสัมภาษณ์ คุณแม่ต๊อบ คุณแม่ที่เลี้ยงลูกและปูพื้นฐานให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา มาฝากกันค่ะ

จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษาคืออะไรคะ?

แม่ต๊อบ : ภาษาที่สองที่ครอบครัวเลือก คือ ภาษาอังกฤษค่ะ เริ่มแรกเลย คือ คุณพ่อของน้องไปเจอคลิปเด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ ในยูทูปค่ะ และคุณพ่อของน้องจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูล และไปเจอแนวคิดเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้ ของผู้ใหญ่บิ๊ก คุณพ่อจึงซื้อหนังสือของผู้ใหญ่บิ๊กมาทั้งเซตเลยค่ะ แม่อ่านแนวคิดอย่างตั้งใจและมาตกลงกันว่าใครจะเป็นคนพูดภาษาอังกฤษกับน้อง เนื่องจากพี่เป็นคุณแม่ที่ได้เลี้ยงลูกเต็มเวลา  ความถี่ในการใช้ภาษาจะเยอะกว่าคุณพ่อ พ่อจึงรับผิดชอบพูดไทยกับน้อง และแม่รับผิดชอบพูดอังกฤษกับน้อง โดยทำตามแนวคิดเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้อย่างตั้งใจ

แม่เองก็ได้เห็นคลิปเด็กสองภาษาหลายคลิป  เกิดแรงบันดาลใจ อยากให้ลูกพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อน้องโตขึ้นหากน้องอยากจะเรียนรู้ภาษาอื่น  ก็จะง่ายขึ้น  ไม่ต้องเสียเวลาในการฝึกภาษาอังกฤษ แม่ไม่อยากให้ลูกอ่อนภาษาเหมือนแม่ค่ะ และโชคดีแม่ได้อ่านหนังสือ “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” กล่าวว่าช่วงเวลาทองของเด็กคือแรกเกิดถึง 3 ขวบ เป็นช่วงที่มีพลังสมองในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ มหาศาล  สามารถดูดซับทุกสิ่งทุกอย่างกว่าวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นแม่จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะสร้างลูกให้เป็นเด็กสองภาษา หรือหลายภาษาตั้งแต่ยังเด็ก เพราะเด็ก ๆ พร้อมจะรับ และเรียนรู้ทุกอย่างโดยไม่ต่อต้าน และเป็นผลดีกับลูกด้วยทั้งในเรื่องสมอง และเป็นการเปิดโลกกว้างให้ลูกในอนาคตค่ะ

เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษาต้องมีพื้นฐานภาษาอังกฤษไหม/ถ้าไม่มีแล้วสอนอย่างไร

แม่ต๊อบ :  ถ้ามีพื้นฐานก็ดีค่ะ แต่ถ้าไม่มีพื้นฐานเลย  แม่คิดว่าก็สามารถสอนได้ อยู่ที่ใจว่าอยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษาจริงหรือเปล่า  ถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษามากพอ  เราจะไม่มีข้ออ้างใด ๆ ที่จะทำเพื่อลูกเลยค่ะ มนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้อยู่แล้ว หากไม่มีพื้นฐานเลยก็สามารถเริ่มเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกได้ ตามแนวคิด คือเริ่มจากศัพท์รอบตัว  แล้วค่อยเพิ่มเป็นวลี แล้วจึงเป็นประโยค โดยฝึกพูดในพื้นที่ส่วนตัวก่อนค่ะ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลและเป็นตัวช่วยเราได้  เท่าที่แม่หาความรู้และอยู่ในกลุ่มเด็กสองภาษา  เห็นเด็กสองภาษามากมาย ครอบครัวส่วนใหญ่ที่สร้างลูกสองภาษาจะบอกว่า ตัวเองเป็นครอบครัวที่ไม่ได้เก่งภาษามาก่อนเลยค่ะ 

คุณแม่มีวิธีเตรียมตัวเป็นคุณแม่สองภาษาอย่างไรบ้าง

แม่ต๊อบ :  ก่อนอื่นแม่ต้องบอกก่อนเลยนะคะว่า  แม่เป็นคนหนึ่งที่เคยอ่อนภาษาอังกฤษ คือรู้เพียงศัพท์เด็กอนุบาล ฟังไม่ออก  พูดไม่ได้ค่ะ เพราะเรียนมาไม่มีโอกาสได้ใช้ จนกระทั่งมีลูกและเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ  เมื่อตัดสินใจสร้างลูกสองภาษาแล้ว สิ่งที่แม่ทำคือศึกษาเรื่องการออกเสียงค่ะ และได้รู้จักอักษรโฟเนติก คือการถอดรหัสการออกเสียงที่ถูกต้องค่ะ เป็นตัวกำกับการออกเสียง  และแม่เริ่มต้อนรับภาษาอังกฤษเข้าบ้าน  จัดสิ่งแวดล้อมให้มีภาษาอังกฤษเท่าที่จะทำได้ค่ะ เช่น เปิดเพลงภาษาอังกฤษให้ลูกฟัง  ซื้อหนังสือภาษาอังกฤษและอ่านให้ลูกฟังเป็นภาษาอังกฤษ โหลดแอฟต่าง ๆ ที่จะช่วยเรา  เช่น พจนานุกรมภาษาอังกฤษ การอ่านอักษรโฟเนติก แอฟแปลภาษา ไวยากรณ์ ประมาณนี้ค่ะ

ในแต่ละวันแม่พยายามจำประโยคที่จะคุยกับลูกสั้น ๆ ง่าย ๆ โดยจำมาจากหนังสือบ้าง ถามประโยคที่ไม่รู้เข้าไปในกลุ่มบ้าง ประโยคส่วนใหญ่เป็นประโยคตามสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน  เช่น เวลาอาบน้ำ  แต่งตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า เดินเล่น พยายามจำศัพท์รอบบ้านทุกวัน  พูดกับลูกและชี้ให้ดูบ่อย ๆ ค่ะ โดยพูดช้า ๆ ชัด ๆ เข้าไว้ พอลูกเริ่มหัดพูดก็กระตุ้นให้พูดตาม  ขัดเกลาเสียงน้องไปเรื่อย ๆ เหมือนเวลาลูกพูดไทยไม่ชัด  เราก็ค่อยพาพูดใหม่จนวันหนึ่งก็พูดชัดค่ะ

เวลาสอนน้องสำเนียงต้องเป๊ะไหม แล้วคุณแม่สอนน้องแบบแบบไหน สอนอย่างไรบ้าง

แม่ต๊อบ : จากที่แม่ต๊อบฝึกมา การออกเสียงที่ถูกต้องสำคัญกว่าสำเนียงค่ะ  เมื่อเราออกเสียงถูกต้องแล้ว  เช่น การเน้นคำหนักเบาถูกที่ การออกเสียงท้าย จะทำให้ผู้ฟังหรือเจ้าของภาษาเข้าใจว่าเรากำลังหมายถึงคำไหนอยู่ และถ้าเราฝึกออกเสียงบ่อย ๆ สม่ำเสมอ หรือฟังเจ้าของภาษามากพอ เดี๋ยวเราก็จะได้สำเนียงนั้น ๆ มาเองค่ะ ในการพูดภาษาอังกฤษของแม่ต๊อบ  แม่ต๊อบเลือกใช้การออกเสียงของสำเนียงอเมริกัน แม้ว่าในช่วงแรกที่ฝึก  สำเนียงแม่ยังออกไทยอยู่บ้าง  แต่ลูกซึ่งเป็นเด็กสามารถออกเสียงได้ดีกว่า เพราะเด็ก ๆ มีความสามารถในการเลียนแบบสูง เมื่อน้องฟังสื่อจากเจ้าของภาษาบ่อย ๆ น้องจะออกเสียงถูกพร้อมกับมีสำเนียงดีกว่าพ่อแม่ค่ะ  ขอแค่เวลาพูดกับลูก เราออกเสียงให้ถูกก็ใช้ได้แล้วค่ะ อย่าเพิ่งกังวลสำเนียงจนทำให้เราไม่อยากฝึกนะคะ  เพราะในชีวิตจริงแล้ว แม้แต่ในประเทศของเจ้าของภาษาเอง เขายังเจอหลายสำเนียงเลยค่ะ

มีอุปกรณ์ในการเสริมพัฒนาการของน้องไหมคะ

แม่ต๊อบ : ถ้าเป็นเรื่องภาษา ที่บ้านมีเพียงหนังสือค่ะ มีทั้งนิทานภาษาไทยและนิทานภาษาอังกฤษ แม่เป็นคนอ่านให้น้องฟังค่ะ  มีซีดีเครื่องหนึ่ง เอาไว้เปิดเพลงให้น้องฟัง เท่านี้ค่ะ



มีเพื่อนที่เป็นคุณแม่สองภาษาเหมือนกันบ้างไหมคะ

แม่ต๊อบ :  มีมากมายค่ะ ตอนนี้มี 4 กลุ่มนะคะ ในไลน์ค่ะ กลุ่มที่คุยกันบ่อยที่สุดคือ กลุ่มพ่อแม่สองภาษาของพ่อฉีค่ะ เคยนัดเจอกับแม่ ๆ ในกลุ่ม  หรือไปพบปะกันที่บ้านตามโอกาสด้วยค่ะ  ในกลุ่มก็จะคอยอัพเดทพัฒนาการของเด็ก ๆ  ปรึกษาเรื่องประโยคกันบ้าง  เรื่องสองภาษาบ้างค่ะ บางครั้งพ่อฉีก็มีการบ้านมาให้ค่ะ  

คุณแม่เริ่มสอนน้องพูดภาษาอังกฤษตอนไหน/อายุเท่าไหร่

แม่ต๊อบ :  แม่ต๊อบรู้จักแนวคิดเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้  ตอนน้องอายุ  6 เดือนค่ะ และแม่ใช้เวลาอ่านหนังสือเกือบสองเดือน (เป็นคนอ่านช้ามาก) พอน้องได้ประมาณ  8 เดือน แม่ก็เริ่มพูดอังกฤษกับน้องค่ะ ในขวบปีแรก  แม่พูดแค่คำศัพท์ทั่วไปเลยนะคะ  โดยไม่แปล เห็นอะไรก็ชี้ให้ดูและพูดอังกฤษไปเลย  เช่น เห็น สุนัข แมว ผ่านมา  ก็ชี้บอก Dog , Cat. ประมาณนี้ค่ะส่วนประโยคสั้น ๆ ถ้าแม่จำได้ ก็พูดค่ะ และไม่แปลเช่นกัน

กังวลเรื่องแกรมม่าไหม เพราะคนไทยจะเน้นแกรมม่าแม้กระทั่งในโรงเรียน ก็จะเน้นอะไรแบบนี้

แม่ต๊อบ :  ตอนฝึกก็กังวลนิดหน่อยค่ะ กลัวว่าจะพาลูกพูดผิด เพราะแม่เองก็ไม่ได้แม่นแกรมม่า และยังไม่เข้าใจ Tense ต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษเลย ตามแนวคิดบอกว่าแกรมม่าอยู่ในความรู้สึก เมื่อฝึกพูดไปสักระยะหนึ่งเราจะชินในการใช้รูปประโยคนั้น ๆ ได้เอง

ในการสร้างลูกสองภาษาจะเน้นทักษะการฟัง พูด มาก่อนค่ะ พยายามพูดหรือสื่อสารให้ได้ก่อน ผิดถูกช่างมันเถิด ถ้าเราเริ่มไม่มั่นใจว่าที่เราพูดไปนั้นถูกไหม  เราค่อยมาหาข้อมูลภายหลังได้ค่ะ ว่าที่ถูกต้องพูดอย่างไร บางทีอาจมีคนแก้ให้เราตอนนั้นก็ได้ และเราก็จะจำได้ไม่ลืมเลยค่ะ ถึงอย่างไร แม่ก็ยังต้องศึกษาแกรมม่าควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มความเข้าใจ เพราะการจำอย่างเดียวโดยขาดความเข้าใจ  วันหนึ่งก็ลืม และยอมรับว่าแกรมม่ายังคงสำคัญกับกลุ่มคนวัยทำงานที่ระดับสูงขึ้นไป เช่น นักอ่านข่าว ครู ทูต ฯลฯ ค่ะ

 อุปสรรคในการสอนลูกให้เป็นเด็กสองภาษา/สำเนียงต้องชัดไหม (เวลาออกเสียงเรียกชื่อเป็นภาษาไทย)

แม่ต๊อบ : อุปสรรคในตอนเริ่มต้นจะมีบ้างที่รู้สึกอึดอัดตัวเองที่ไม่สามารถพูดอังกฤษได้ดั่งใจ นึกประโยคไม่ออก  หรือพูดติดขัด ไม่ไหลรื่น ก็จะแก้โดยการจดไว้ว่า ประโยคนี้ภาษาอังกฤษพูดว่าอะไร และไปหาข้อมูล โดยการถามเข้าไปในกลุ่มบ้าง ใน Google บ้าง และอีกความกดดันหนึ่ง คือ คนภายนอกไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ มักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ายัดเยียดลูกเร็วเกินไป, เราเป็นคนไทยทำไมไม่พูดไทย, เดี๋ยวลูกสับสน ประมาณนี้ค่ะ แต่ก็ไม่ได้สนใจมาก  เพราะเรากำลังสอนภาษาให้ลูกด้วยวิธีธรรมชาติ เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร  เพื่อใคร สำหรับเรื่องออกเสียงที่เป็นชื่อเรียกภาษาไทย เราควรออกเสียงภาษาไทยให้ชัดด้วยค่ะ คือเราสร้างลูกสองภาษา เราอยากเห็นลูกพูดไทยก็ชัด  พูดอังกฤษก็ชัดด้วย  เวลาเจอชื่อเฉพาะของภาษาไทย  เราก็ออกเสียงแบบภาษาไทยเลย  เคยสังเกตเห็นผู้ประกาศข่าว  หรือเสียงประกาศในสนามบิน หรือรถไฟฟ้าไหมคะ  ชื่อสถานีที่เป็นชื่อเฉพาะเป็นภาษาไทย เขายังพูดออกเสียงแบบไทยเลย เช่น “สถานีต่อไป สถานี คลองบางไผ่ - Next station,Khlong Bang Pai.” ในเสียงประกาศพูดว่า  เนคท    สเตชั่น คลองบางไผ่ เห็นไหมคะอังกฤษก็ชัด  ไทยก็ชัดค่ะ

คุณแม่คิดว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นคุณแม่สองภาษา เราได้ภาษาเพิ่มไหม เก่งขึ้นหรือเปล่า

แม่ต๊อบ :  คิดว่าประโยชน์ได้แน่นอนอยู่แล้วค่ะ ในเรื่องของการมีทักษะด้านภาษา ที่เพิ่มขึ้น การจะมีทักษะด้านภาษาใหม่ ๆ ต้องอาศัยวินัย ความขยันหาความรู้ และการฝึกฝนลงมือทำ ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด  ดีกับเราด้านสมอง ทำให้คลังศัพท์เพิ่มขึ้น ในทางชีวะวิทยา เซลล์สมองเพิ่มขึ้น  ทำให้ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ และทำให้แม่มั่นใจมากขึ้น ในการใช้ภาษาอังกฤษ และสนุกเมื่อเราได้ดูสื่อ  เช่น  ดูหนังฟังเพลง และฟังออกค่ะ มันได้อรรถรสขึ้น  ถามว่าเก่งขึ้นไหม แม่ขอตอบโดยเปรียบเทียบตัวเองในวันเริ่มต้น กับปัจจุบันนี้นะคะ รู้สึกว่าภาษาเก่งขึ้น  ดีขึ้น มีพัฒนาการเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน (3 ปี ที่แล้ว) เช่น รู้ศัพท์มากขึ้น  บางคำออกเสียงได้ถูกต้อง  อ่านเก่งขึ้น  สื่อสารหรือบอกความต้องการ  ความรู้สึกเบื้องต้นได้ ซึ่งเมื่อก่อนทำไม่ได้เลย

คุณแม่คิดว่าต้องสอนน้องให้เป็นเด็กสองภาษาไปอีกนานแค่ไหนคะ

แม่ต๊อบ :  ตามที่แม่ศึกษาแนวคิดเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้  ต้องประคับประคองโหมดภาษาที่สอง  จนถึง 10 ปีเลยค่ะ เพราะใน 10 ปีแรกเป็นช่วงที่เด็ก ๆ จะต้องสร้างภาษาให้แข็งแรง  หากเราหยุดคุยภาษาอังกฤษกับลูกในช่วงใดช่วงหนึ่งไปเป็นเวลานาน  โหมดภาษาที่สองอาจหายได้  หรือหลงลืมได้ค่ะ  เพราะไม่ได้ถูกนำมาใช้  หากภาษาที่สองของน้องแข็งแรงแล้ว เมื่อน้องโตขึ้น น้องสามารถต่อยอดภาษาได้ด้วยตัวเอง เช่น เรียนรู้จากสื่อ จากหนังสือ จากอินเตอร์เน็ต หรือคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ค่ะ

คุณแม่คิดว่าการเลี้ยงลูกสองภาษายากเกินไปไหม สำหรับครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมด้านภาษาเลย

แม่ต๊อบ :   แม่คิดว่า ไม่มีคำว่ายากเกินไป  สำหรับคนที่อยากทำค่ะ ต่อให้ตัวเองอ่อนภาษา  เวลาน้อย  ต้นทุนน้อย หรืออยู่ต่างจังหวัดเหล่านี้  เมื่อความอยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษามีมากพอ ก็สามารถทำได้หมดค่ะ จะหาทางทำมันจนได้ และไม่มีข้ออ้างใดหรือเงื่อนไขใด ที่จะไม่ทำค่ะ อยู่ที่การตัดสินใจของครอบครัวว่าจะทำหรือไม่ เท่านั้นเองค่ะ แม่เชื่อพลังความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก  ที่จะพยายามมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก เมื่อเชื่อว่าทำได้ พลังความรักจะช่วยพ่อแม่พัฒนาตัวเองจนสำเร็จค่ะ

คุณแม่คิดว่าเราเป็นคุณแม่ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกสองภาษาหรือยังคะ

แม่ต๊อบ :  คิดว่าประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่งค่ะ เพราะตอนนี้น้องเพิ่งอายุ 4 ขวบ แม่ยังต้องประคับประคองภาษาอังกฤษน้องไปอีกนานค่ะ เพื่อให้ภาษาอังกฤษของน้องแข็งแรงขึ้น  ที่คิดว่าประสบความสำเร็จคือ  ตอนนี้น้องมีพัฒนาการด้านภาษาอังกฤษในทักษะการฟัง  การพูด ค่อนข้างดี  สามารถสื่อสารประโยคง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน และน้องสามารถสลับโหมดทั้งสองภาษาได้ดี คือ เวลาถามภาษาไทย  น้องตอบไทย เวลาถามเป็นภาษาอังกฤษน้องตอบเป็นภาษาอังกฤษ พูดง่าย ๆ คือตอบตรงโหมดตลอดค่ะ  และสามารถพูดภาษาอังกฤษกับคนอื่นได้  ไม่ว่าจะกับใคร  หรือที่ใด และน้องเคยเล่นกับเด็กเจ้าของภาษาครั้งหนึ่งสามารถคุยกันรู้เรื่อง เคยพบเด็ก ๆ รุ่นพี่สองภาษา น้องก็สามารถคุยเป็นภาษาอังกฤษได้ค่ะ

ฝากถึงผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษาเหมือนกันหน่อยค่ะ

แม่ต๊อบ :  สำหรับผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษานะคะ เมื่อตัดสินใจอยากทำ ก่อนอื่นคืออยากให้ศึกษาแนวคิดเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้  ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งก่อนค่ะ เพื่อจะได้เดินบนเส้นทางนี้ได้อย่างมั่นคง และถูกต้อง ต้องอาศัยแรงใจค่อยข้างมากค่ะ ระหว่างทางก็จะมีบททดสอบใจเข้ามาเป็นระยะ เพราะสิ่งดี ๆ บางทีมันก็ต้องอาศัยความพยายามต่าง ๆ กว่าจะได้มา  

และขอให้เชื่อในศักยภาพของตนเอง  เชื่อว่าคนเราเรียนรู้ได้  พัฒนาได้ และหากลูกสำเร็จกลายเป็นเด็กสองภาษา  ความสำเร็จนั้นไม่ได้เป็นแค่ของลูก  แต่มันเป็นความสำเร็จของเราด้วย วันหนึ่งที่เขาได้ใช้มัน เขาจะขอบคุณเราที่ได้ติดทักษะนี้ให้แก่เขา สามารถนำไปต่อยอด เปิดโลกแห่งข้อมูลได้มากมาย ในวันนี้ที่ลูกยังเล็ก เป็นโอกาสดีที่เราสามารถมอบทุนปัญญาด้านภาษาให้ลูก  เรียนรู้ไปพร้อมกัน  เติบโตไปด้วยกัน  เก่งไปด้วยกันค่ะ.

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเทคนิคดี ๆ ในการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสองภาษาจากแม่ต๊อบ ที่ Mama Expert ได้นำมาฝากกันในวันนี้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ในการสอนลูกได้นะคะ และที่สำคัญเลย คุณพ่อคุณแม่ “อย่ากลัว” “อย่าอายที่จะพูดภาษาอังกฤษ” ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง ใช้ความพยายาม ความทุ่มเท และความใส่ใจ เพื่อให้ลูกมีทักษะการพูดภาษาอังกฤษ และเป็นเด็กสองภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนที่แม่ต๊อบบอกนะคะ  สู้ ๆ นะคะ Mama Expert ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ค่ะ ^_^

บทความแนะนำเพิ่มเติม
1.เลือกโรงเรียนอนุบาลให้กับลูก ยังไงดีที่สุด!
2.โรงเรียนเด็กพิเศษ!!! ทั้งใน กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

3. ค่าเทอมอนุบาลนานาชาติ 10 แห่ง ที่ไหนคุ้มค่าที่สุดมาเช็กกัน!!!

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณบทสัมภาษณ์จาก : คุณแม่ต๊อบ