เด็กขาดธาตุเหล็ก ภาวะอันตรายที่พ่อแม่ป้องกันได้

27 March 2018
17027 view

เด็กขาดธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของโปรตีนในร่างกายหลายชนิด ธาตุเหล็กมีหน้าที่ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่จะนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย เป็นส่วนประกอบของเอนไซน์ที่ร่างกายใช้ในการเผาผลาญพลังงาน โดยธาตุเหล็กเป็นธาตุอาหารสำคัญที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องได้จากอาหารอย่างเพียงพอ การขาดธาตุเหล็กจะส่งผลต่อพัฒนาการ ต่อการทำงานของร่างกายในส่วนต่างๆ แต่นอกเหนือไปจากนั้น ธาตุเหล็ก ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารสื่อประสาท ช่วยในการพัฒนาสมองของเด็กด้วย มีการศึกษาพบว่าเด็กที่ขาดธาตุเหล็กตั้งแต่วัยทารกจะมีผลการเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กที่ไม่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก ด้วยเหตุนี้ Mama expert จึงได้นำเกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับธาตุเหล็กมาฝากคุณพ่อคุณแม่ มาดูกันเลยค่ะ

เด็กขาดธาตุเหล็กสาเหตุเกิดจากอะไร

ภาวะขาดธาตุเหล็ก เกิดจากร่างกายได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ หรือมีภาวะที่ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ขาดธาตุเหล็ก ได้แก่

  1. แม่ขาดธาตุเหล็กในระหว่างตั้งครรภ์
  2. เด็กคลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์)
  3. การดื่มนมวัวปริมาณมาก (มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน)
  4. การให้นมแม่นานกว่า 6 เดือน โดยไม่ให้อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพียงพอ
  5. อาหารที่รับประทานขาดธาตุเหล็ก หรือธาตุเหล็กไม่เพียงพอ (อาจเกิดจากการกินอาหารมังสวิรัติ)

เด็กขาดธาตุเหล็กมีอาการอย่างไร

การขาดธาตุเหล็กในระยะแรกอาจยังไม่มีอาการใดๆที่แสดงออกได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีธาตุเหล็กที่เก็บสะสมสำรองอยู่ในร่างกาย เมื่อการขาดธาตุเหล็กนั้นเป็นมากขึ้นจึงจะค่อยๆเริ่มแสดงอาการ โดยอาการที่เกิดได้บ่อยและทำให้แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดธาตุเหล็กได้นั้นมักเกิดจากอาการทางระบบเลือด คือ การเกิดภาวะโลหิตจาง อาการของภาวะโลหิตจาง ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือหากเป็นมากอาจมีอาการเหนื่อยเวลาอยู่เฉยๆ มีอาการเวียนศีรษะ หมดสติ ใจสั่น บางรายอาจแสดงออกทางสีผิว คือผิวซีดลง คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของเด็กที่ขาดธาตุเหล็กเบื้องต้นได้ ดังนี้

  1. หัวใจเต้นแรง ชีพจรเร็วกว่าปกติ
  2. ร่างกายอ่อนเพลีย หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายเวลาออกแรงหรือดูดนม
  3. ผิวซีด เปลือกตาล่าง ริมฝีปากหรือผิวมีภาวะซีด ไม่มีเลือดฝาดเหมือนผิดเด็กปกติ ปลายมือปลายเท้าเย็น
  4. มีแผลในปาก หรือมีอาการปวดบวมที่ลิ้น ลิ้นอักเสบ ปากหรือบริเวณรอบปากแห้ง
  5. เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง
  6. คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูกและหรือท้องเสีย

เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบว่าลูกน้อยมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคโดยเร็ว

เด็กขาดธาตุเหล็กต้องรักษาหรือไม่

เด็กขาดธาตุเหล็กควรได้รับการรักษา การดูแลและการเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะเด็กที่ขาดธาตุเหล็กจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กปกติ เนื่องจากการขาดธาตุเหล็กส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของสมอง หากพบว่าลูกมีอาการเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรรีบหาวิธีควบคุม ป้องกันและรักษาให้โดยเร็ว แนวทางการรักษาภาวะขาดธาตุเหล็ก คือ การให้ธาตุเหล็กเสริมอาหาร อาจโดยการกินหรือการฉีด (กรณีนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสาเหตุของโรค) และ การให้อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง นอกจากนั้น แพทย์จะรักษาตามอาการของเด็ก เช่น การรักษาด้วยการให้ยาถ่ายพยาธิเมื่อการขาดธาตุเหล็กเกิดจากพยาธิ

เด็กขาดธาตุเหล็กป้องกันได้หรือไม่

การป้องกันภาวะเด็กขาดธาตุเหล็ก สามารถทำได้โดย              

  1. ป้องกันไม่ให้แม่ขาดธาตุเหล็ก ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และระหว่างตั้งครรภ์
  2. พาลูกตรวจสุขภาพตั้งแต่แรกเกิด หรือตามที่แพทย์นัดเสมอ เพื่อการดูแลสุขภาพเด็กและการคัดกรองภาวะซีด
  3. Delay umbilical cord clampimg 30- 60 วินาที หรือ การตัดสายสะดือทารกหลังคลอดให้ช้าลง 2 นาที
  4. ให้อาหารลูกน้อยตามวัยที่เหมาะสม และถูกหลักโภชนาการ
  5. เมื่อพบว่าลูกมีอาการอยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลและรักษา

เด็กขาดธาตุเหล็กเลี้ยงดูอย่างไร

เมื่อพบว่าลูกน้อยมีภาวะเสี่ยงในการขาดธาตุเหล็ก อันดับแรกต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลรักษา โดยคุณพ่อคุณแม่เองก็มีส่วนสำคัญในการดูแลลูก สำหรับเด็กที่กินนมแม่ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เน้นอาหารตามโภชนาการเนื่องจากสารอาหารต่างๆที่แม่รับประทาน สามารถผ่านทางน้ำนมได้ และสำหรับเด็กที่เริ่มอาหารเสริมแล้ว คุณแม่ควรเลือกสรรอาหารเสริมที่เหมาะสมตามช่วงวัยและถูกหลักโภชนาการ และที่สำคัญควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง

เรื่องของโภชนาการสำหรับทารกในขวบปีแรก สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการให้กินนมแม่ ควบคู่ไปกับอาหารตามวัยที่ถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้ลูกน้อยของของคุณพ่อคุณแม่ มีสุขภาพแข็งแรง เติบโตสมวัย ฉลาด ไอคิวดีค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1.โรคโลหิตจาง

2.อาหารสำหรับเด็กขาดธาตุเหล็ก

3.เมนู ข้าวตุ๋นตับหมู เพิ่มธาตุเหล็กเพื่อลูกน้อย

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง

1.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. อาจารย์.นพ. ชัยเจริญ  ตันธเนศ.โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก.เข้าถึงได้จาก http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=850 .[ค้นคว้าเมื่อ 26 มีนาคม 2561]

2.มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย. รศ พญ อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ. นมแม่และธาตุเหล็ก.เข้าถึงได้จาก http://www.thaibreastfeeding.org/articles.php?mode=content&id=24 .[ค้นคว้าเมื่อ 26 มีนาคม 2561]

3.ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก.เข้าถึงได้จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Iron-deficiency_anemia.[ค้นคว้าเมื่อ 26 มีนาคม 2561]