ฝึกการขับถ่ายให้ลูกอย่างไรดี เริ่มเมื่อไหร่

30 August 2012
3640 view

ฝึกขับถ่ายให้ลูก

ฝึกขับถ่ายให้ลูกอย่างไรดี การสอนให้ลูกรู้จักการควบคุมการขับถ่าย และสามารถใช้ห้องน้ำ และสุขภัณฑ์ ในการทำธุระสำคัญนี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้าใจว่า เป็นเรื่องที่ต้องการเวลา และความเข้าใจ รวมถึงความอดทน ในการที่จะตะล่อมให้หนูน้อย ยอมนั่งขับถ่ายอย่างเป็นที่เป็นทาง อย่างที่ควรจะเป็น

คุณพ่อคุณแม่จะพอสังเกตได้ว่า ลูกมีความพร้อมที่จะเริ่มทำการฝึกขับถ่ายได้ โดยสังเกตจาก ความพร้อมทางด้านร่างกาย และจิตใจของลูก โดยทั่วไป เด็กเล็กกว่าหนึ่งขวบ จะยังไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ และจะเริ่มแสดงว่าตนเอง เริ่มมีความพร้อม เมื่ออายุประมาณ ขวบครึ่งถึงสองขวบ แต่เด็กบางคนก็ยังต้องการเวลานานกว่านั้น การที่จะดูว่า ลูกเริ่มพร้อมที่จะทำ การฝึกการขับถ่ายได้ให้ดูว่า

  1. เด็กสามารถคงความ แห้ง” (ไม่มีปัสสาวะ) ได้อย่างน้อยสองชั่วโมง ในเวลากลางวัน หรือสามารถหลับไป และตื่นขึ้นมา โดยยังคงความแห้งอยู่
  2. เริ่มมีการขับถ่ายอุจจาระ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ในแต่ละวัน และสามารถคาดการณ์ได้
  3. เด็กเริ่มจะมีการทำสีหน้า หรือท่าทาง หรือแม้แต่คำพูด ที่จะสื่อให้คุณพ่อคุณแม่รู้ได้ ว่าเขากำลังจะต้องทำ ธุระแล้ว
  4. เด็กพอช่วยตัวเองได้ โดยการเดินไปที่ห้องน้ำ หรือสามารถช่วยถอดกางเกง ของตนเองออกได้
  5. เด็กเริ่มแสดงให้รู้ว่า เขาไม่ชอบที่จะทำเลอะเทอะในกางเกง (ผ้าอ้อม) ที่ใส่อยู่ และอยากให้มีคนช่วยเปลี่ยนให้

เพราะการขับถ่าย ส่งผลต่ออารมณ์และพัฒนาการของลูก หากการขับถ่ายของลูกผิดปกติ ก็จะทำให้ลูกอารมณ์บูด คุณแม่ลองเช็กการขับถ่ายของลูกดูนะคะ ว่าปกติดีหรือไม่ แค่ 3 ขั้นตอนง่ายๆ มาเช็กกันเลย 

หัวใจสำคัญของการฝึกลูกขับถ่าย

1. อย่าบังคับ 

นอกจากนี้ให้ดูอารมณ์ และปฎิกิริยาของเด็กด้วย ถ้าเด็กมีอาการที่แสดงว่า กลัวหรือขัดขืน โดยไม่ได้มีความสนใจเต็มใจที่จะนั่งทำธุระก็ขอให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ และอย่าได้ไปบังคับ หรือต่อว่าเด็ก ด้วยความโมโห ที่เด็กไม่ยอมร่วมมือทำตาม ทางที่ดีเราควรจะผ่อนปรน และให้เวลาแก่เด็ก ในการปรับตัว และค่อยเริ่มการฝึกใหม่ ในภายหลังเมื่อเด็กพร้อม  ก่อนที่จะเริ่มการฝึก คุณพ่อคุณแม่ควรจะเตรียมคำศัพท์ ในการเรียกส่วนต่างๆของร่างกาย ที่จะใช้ในการขับถ่าย รวมไปถึงอุจจาระ และปัสสาวะ ในเชิงที่เด็กจะใช้สื่อความหมายกับเราได้ และไม่เป็นคำที่ฟังดูหยาบ หรือน่าเกลียด เพราะเด็กจะต้องใช้คำเหล่านี้ กับเพื่อนๆ หรือคุณครู ฯลฯ ไม่เช่นนั้น คำพูดเหล่านี้อาจทำให้เด็กรู้สึกอับอาย หรือขยะแขยงได้

2. อย่าดุถ้าทำเลอะเทอะ

ในกรณีที่เกิด “อุบัติเหตุ” ทำเลอะขึ้นมา ควรทำให้การไปขับถ่ายทำ “ธุระ” ที่ห้องน้ำนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา และเป็นธรรมชาติ ที่ใครๆก็ทำกัน เด็กบางคนอาจจะตื่นเต้น อยากเล่นอุจจาระ หรือปัสสาวะที่ตนเองเพิ่งขับถ่ายออกมา ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของเขา ซึ่งเราสามารถบอกเด็ก โดยไม่ทำให้เด็กรู้สึกผิด โดยบอกเขาอย่างเรียบๆได้ว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ของที่จะเป็นของเล่น  ในบางครั้ง เด็กอาจเข้าใจว่า อุจจาระที่ออกมานั้นเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเขา และจะเกิดความกลัว เมื่อเห็นว่ามีการกดชักโครก และก้อนอุจจาระนั้นหายลงท่อไป คุณพ่อคุณแม่ควรจะให้โอกาสเด็กได้ลองกดชักโครกดู  โดยใช้กระดาษชำระเป็นตัวอย่างและอธิบายง่ายๆให้เด็กเข้าใจ เพื่อให้เด็กเลิกกลัว  และเกิดความสบายใจ

 

3. กระโถน ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ลูกอยากขับถ่าย 

การเลือกกระโถน หรือภาชนะที่ใช้นั่งในการขับถ่ายที่เหมาะสม กับเด็ก ก็มีส่วนสำคัญ เพราะจะทำให้เด็กร่วมมือได้ง่ายขึ้น การที่เด็กได้มีโอกาสดูคุณพ่อคุณแม่ (แล้วแต่ว่าจะเป็นเด็กชาย หรือหญิง) ในการทำ ธุระในห้องน้ำบ้าง ก็จะทำให้เด็กเข้าใจ ในกิจกรรมเหล่านี้ได้ดีขึ้น ถ้ายิ่งมีเด็กคนอื่น หรือพี่ที่จะช่วยเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก ก็จะยิ่งง่าย การสอนเรื่องการทำความสะอาดตนเอง หลังจากเสร็จธุระก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิง ที่ควรจะทำความสะอาด จากทางด้านหน้า (ที่ปัสสาวะ) ไปทางด้านหลัง (ทวารหนัก) และเด็กควรล้างมือให้สะอาด เมื่อเสร็จการทำภารกิจนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยสอนเด็กให้รู้จักสัญญานเตือนในร่างกายเด็ก ที่จะทำให้มีการขับถ่าย และช่วยให้เด็กบอกเรา เมื่อมีความรู้สึกนั้นขึ้น เพื่อที่จะได้พากันไปเข้าห้องน้ำ ทำ ธุระแต่ในช่วงแรกๆ เด็กมักจะบอกเราไม่ทัน และมักจะทำเลอะไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรที่จะดุเด็ก แต่ควรจะใจเย็น และบอกว่าคราวหน้าให้บอก ก่อนที่จะทำเลอะ คุณอาจช่วยเด็กได้ โดยคอยสังเกตท่าทางของเด็กว่า จะมีอาการปวดปัสสาวะ หรืออยากถ่ายอุจจาระ หรือไม่ ซึ่งถ้าเห็นดังนั้น ควรที่จะชักชวนเด็ก ให้ไปนั่งเล่นที่กระโถนในห้องน้ำ ที่ได้จัดเตรียมไว้แล้ว และให้เวลาแก่เด็ก

4. เด็กแต่ละคนจะมีความเป็นตัวของตัวเอง

ในการทำกิจกรรมอันสำคัญนั้นอย่างสบายๆ ไม่เร่งหรือคาดคั้นให้เด็กต้องทำให้ได้ อย่างที่เราต้องการ โดยทั่วไป เด็กจะสามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระได้ดี ก่อนที่จะเริ่มควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้ ในอีกหลายเดือนต่อมา และในเด็กผู้ชายส่วนใหญ่ มักจะนั่งปัสสาวะได้ ก่อนที่จะเริ่มรู้ว่าการยืนปัสสาวะได้นั้น เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของผู้ชายเท่านั้น และขอให้เข้าใจว่า เด็กแต่ละคนจะมีความเป็นตัวของตัวเอง ที่จะเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคน แม้กระทั่งในเด็กแฝด คุณพ่อคุณแม่จึงควรเข้าใจในการพัฒนาการของเด็กแต่ละคนด้วยว่ามีความแตกต่างกันได้ เด็กส่วนใหญ่จะสามารถควบคุม การขับถ่ายอุจจาระ และจะไม่ปัสสาวะเลอะ ในเวลากลางวันได้ ในช่วงอายุ 3-4 ปี และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนหรือเกือบปี ที่จะไม่ปัสสาวะรดที่นอน ในตอนกลางคืน ในช่วงอายุประมาณ 5 ขวบขึ้นไป ช่วงเวลาขับถ่าย ก็อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละคน และขึ้นอยู่กับอาหารที่ทานด้วย ถ้าทานอาหารที่มีกากใย และสมดุลดี ก็จะทำให้การขับถ่ายนั้นง่ายขึ้น บางคนอาจถ่ายทุกวัน ขณะที่บางคนอาจจะเป็นสองสามวันครั้ง ไม่ควรใช้การสวน หรือการเหน็บยาหรือใช้ยาระบายเองอย่างพร่ำเพรื่อ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์

กล่าวโดยสรุป คุณพ่อคุณแม่ควรมีความเข้าใจ และใจเย็น ที่จะค่อยๆ ฝึกลูกในการขับถ่าย โดยทำให้เหมาะสมตามวัย และความพร้อมของเด็ก ไม่บังคับจนเด็กเกิดความเครียด หรือกลัว ซึ่งอาจมีผลกระทบทางด้านจิตใจต่อไปในภายหลัง ขอให้โชคดี และประสบความสำเร็จ ในการฝึกลูกในเรื่องนี้ อย่างมีความสุขกันทุกคน

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. ฝึกนั่งกระโถนอย่างไรลูกไม่เครียด

2. การขับถ่ายของทารกและการแก้ไขหากลูกขับถ่ายผิดปกติ

3. แบบไหนที่เรียกว่าลูกขับถ่ายผิดปกติ คุณแม่มือใหม่อาจไม่รู้

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team