พัฒนาการเด็ก 43-48 เดือน และวิธีกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม

13 February 2018
21929 view

พัฒนาการเด็ก 43 – 48 เดือน

พัฒนาการเด็ก 43-48 เดือน ด้านการเคลื่อนไหว

พัฒนาการเด็กวัยนี้จะสามารถเดินด้วยปลายเท้าได้ เดินบนเส้นตรงกว้าง5 ซม.ได้ ในขณะที่วิ่งสามารถเลี้ยวหรือหลบสิ่งกีดขวางได้ เดินขึ้นลงบันไดสลับเท้าได้ ปีนตาข่ายเชือกได้ ขว้างและรับลูกบอลขนาดเล็กได้ วิ่งไปเตะลูกบอลได้โดยไม่ต้องหยุดเล็ง กระโดดสองเท้าได้ไกล30 ซม. หรือกระโดดลงจากบันไดขั้นสุดท้ายได้ เเละถีบจักรยาน 3 ล้อได้ เด็กวัย 43-48 เดือน จะมีพัฒนาการที่ชัดเจน สามารถวัดเเละตรวจสอบได้

กิจกรรมเทคนิควิธีการกระตุ้นพัฒนาการ เด็กจะสามารถวิ่งไปข้างหน้าโดยลงนํ้าหนักที่ปลายเท้าและแกว่งแขนสลับกัน เป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว โดยมีวิธีดังนี้

  1. ผู้ปกครองยืนเขย่งปลายเท้าแล้ววิ่งด้วยปลายเท้าให้เด็กดู 
  2. ผู้ปกครองจูงมือเด็กข้างหนึ่งแล้ววิ่งด้วยปลายเท้าไปด้วยกัน
  3. เมื่อเด็กเริ่มทรงตัวได้เองดีขึ้น ให้ผู้ปกครองปล่อยให้เด็กวิ่งเองได้

พัฒนาการเด็ก 43-48 เดือน ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา

การกระตุ้นพัฒนาการเด็กวัย 43-48 เดือน ในด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เด็กจะสามารถตัดกระดาษรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 10 ซม. ออกเป็น 2 ชิ้นได้ อุปกรณ์ที่ผู้ปกครองต้องเตรียม ได้เเก่ กรรไกรปลายมนสำหรับเด็ก กระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 10 ซม. 1 แผ่น มีวิธีกระตุ้นพัฒนาการดังนี้

  1. ผู้ปกครองใช้กรรไกรตัดกระดาษให้เด็กดู แล้วบอกให้เด็กทําตาม
  2. ถ้าเด็กไม่สามารถทําได้ ให้จับมือเด็กทํา จนสามารถเด็กทําได้เอง

หมายเหตุ ผู้ปกครองควรดูความปลอดภัยขณะเด็กใช้กรรไกร

พัฒนาการเด็ก 43-48 เดือน ด้านการเข้าใจภาษาเเละการใช้ภาษา

การกระตุ้นพัฒนาการเด็กวัย 43-48 เดือน ผู้ปกครองควรฝึกเด็กในชีวิตประจําวัน เช่น ขณะรับประทานอาหาร สอนเด็กให้รู้จักช้อนคันใหญ่ ช้อนคันเล็ก และทดสอบความเข้าใจ โดยถาม คําถามกับเด็กว่า “อันไหนใหญ่กว่า อันไหนเล็กกว่า” ฝึกเด็กบ่อยๆ โดยเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ ไปตามสถานการณ์ในชีวิตประจําวัน เช่น ก้อนหิน รถยนต์ รองเท้า เสื้อผ้า เป็นต้น ผู้ปกครองฝึกเด็กให้รู้จัก ลักษณะ สี และขนาด เช่น ขณะรับประทานอาหาร บอกเด็กว่า “ช้อนมีสีขาว มีด้ามจับยาวๆ นะลูก” ขณะแต่งตัว บอกเด็กว่า “เสื้อหนูตัวเล็ก เสื้อแม่ ตัวใหญ่” ฝึกเด็กเกี่ยวกับ ลักษณะ สี และขนาด บ่อยๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เเละผู้ปกครองควรสอนให้เด็กพูดในโอกาสต่าง ๆ โดย ผู้ปกครองพูดให้เด็กฟังเป็นตัวอย่าง แล้วบอก ให้เด็กพูดตาม เช่น

  • สอนให้เด็กยกมือไหว้และกล่าวขอบคุณ ทุกครั้งที่รับของจากผู้ใหญ่ “ขอบคุณครับ น้า”
  •  สอนให้เด็กยกมือไหว้และกล่าวสวัสดีเมื่อ พบผู้ใหญ่หรือแขกของผู้ปกครองมาเยี่ยม ที่บ้าน “สวัสดีครับ ลุง”
  • สอนให้เด็กกล่าวคําขอโทษทุกครั้งที่ทำผิด “ขอโทษครับ พี่”
  •  กระตุ้นให้เด็กพูดแสดงความคิดเห็นด้วย คําถาม เช่น “หนูว่าอันนี้เป็นอย่างไร”
  • สอนให้เด็กบอกลา เช่น “หนูไปละนะคะ”

และผู้ปกครองจะต้องเตือนเมื่อเด็กลืมกล่าวคําขอบคุณ สวัสดี ขอโทษ และบอกลา ทุกครั้ง เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยที่เรารักให้มีการพัฒนาอยู่เสมอ

พัฒนาการเด็ก 43-48 เดือน ด้านการช่วยเหลือตัวเองเเละสังคม

เด็กในวัยนี้จะสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายได้เอง เป็นพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตัวเอง โดยมีวิธีกระตุ้นพัฒนาการ ดังนี้

  1. ผู้ปกครองสอนให้เด็กรู้จักหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็น อันตราย เช่น “เตากำลังร้อน อย่าจับเตาเดี๋ยว มือเจ็บ” “อย่าเดินไปทางที่มีเศษแก้ว เดี๋ยวแก้วบาด เลือดออก”
  2. เมื่อเด็กหกล้มหรือมีดบาด ในขณะทําแผล ผู้ปกครองสอนเด็กให้รู้ว่าของเหล่านี้เป็นอันตราย ควรหลีกเลี่ยงอย่างไร หรือชี้ให้เด็กดู ตัวอย่างจากหนังสือนิทาน ภาพยนตร์ และชีวิตประจําวัน
  3. ถ้าเด็กยังเล่นในสิ่งที่เป็นอันตราย ต้องมีบท ลงโทษที่ชัดเจน เช่น “หนูจะไม่ได้ดูการ์ตูน หนูจะไม่ได้กินขนม” และทำเหมือนกัน ทุกครั้ง เพื่อให้เด็กแยกแยะได้ว่า อะไรอันตราย อะไรไม่เป็นอันตราย

สำหรับวัยนี้จะต้องชมเชยเมื่อเด็กทำได้ จะเป็นการเสริมแรงทางบวกและเป็นการเสริมสร้างให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง รวมทั้งเรื่องความคิด การตัดสินใจ การสร้างทัศนคติที่ดี ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความสามารถที่จะทำได้ 

การกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่างๆของลูก หากประเมินเบื้องต้นแล้วพบว่า ลูกมีพัฒนาการไม่เป็นไปตามวัย และได้ทำการกระตุ้นแล้วไม่ก้าวหน้า ควรพาลูกรักไปพบกุมารแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อรับคำแนะนำและเทคนิคกระตุ้นพัฒนาการเพิ่มเติม Mamaexpert สนับสนุนให้คุณพ่อคุณแม่ทุกบ้าน ติดตามพัฒนาการของลูกในทุกช่วงวัยค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ป้องกันลูกติดเกม ด้วย7เทคนิคที่กุมารแพทย์แนะนำ

2. 30 วิธีพูด โน้มน้าวจิตใจลูก เพื่อให้ลูกวัยเด็กทำตามคำสั่ง

3. 10 วิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาดและมีวิทยาศาสตร์รองรับ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :
1. สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง.เข้าถึงได้จาก http://thaichilddevelopment.com/43-48month.php.[ค้นคว้าเมื่อ 29กันยายน 2560]
2. Your Baby's Development pre-schooler (ages 2 to 4).เข้าถึงได้จาก. https://goo.gl/ndkMq4.[ค้นคว้าเมื่อ 29 กันยายน 2560]
3.Development stages Pre-schooler 2-4 years.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/t2bd8R .[ค้นคว้าเมื่อ 29 กันยายน 2560]