ผ่าคลอดบุตรด้วยการบล็อคหลัง เป็นอย่างไร แม่ท้องเตรียมความรู้ให้พร้อมเพื่อลดอาการกลัว

23 June 2012
67115 view

บล็อคหลัง

บล็อคหลัง ปัจจุบันการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องจัดเป็นวิธีที่ปลอดภัย วิสัญญี แพทย์ส่วนใหญ่จะใช้ การบล็อก หลังเพื่อให้คุณแม่มีอาการชาตั้งแต่ระดับ เอวลงไป คุณแม่ยังคงรู้สึกตัวตลอด สามารถพูดคุยกับแพทย์หรือคนข้าง  เคียงได้ในขณะที่ผ่าตัดและยาชานี้ไม่มีผลต่อลูก

บล็อคหลัง มีข้อดีอย่างไร

บล็อคหลังมีข้อดี คือ หลังจากลูกคลอดแล้ว คุณแม่สามารถเห็นหน้าลูกได้เลย เพราะไม่สลบ ยาชายังออกฤทธิ์ในช่วงหลังคลอดได้นานถึง 24-36 ชั่วโมง ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดและสามารถฟื้นตัวได้เร็วในช่วงหลังผ่าตัดคลอด

บล็อคหลัง มีข้อเสียอย่างไร

มีอาการคัน เพราะส่วนใหญ่จะใช้มอร์ฟีนผสมในยาชาเพื่อให้ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น ขณะผ่าตัดอาจมีอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่อิ่มเนื่องจากระดับการชาสูงเกินไป หรือคลื่นไส้ อาเจียน หลังทำอาจปวดหลัง ปวดศีรษะมากขณะลุกนั่ง ถ้านอนราบอาการปวดจะลดลงค่ะ และที่สำคัญหลังการผ่าตัดเสร็จคุณแม่จะมีอาการเจ็บแผลทันที เพราะยาสลบหมดฤทธิ์แล้ว

บล็อคหลัง เจ็บหรือไม่

ความรู้สึกขณะบล็อกหลัง จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยเหมือนโดนเข็มแทงเข้าไปในร่างกาย แต่ไม่ต้องตกใจไปค่ะ เพราะว่าเข็มที่ใช้บล็อกหลังนั้นมีขนาดที่เล็กมาก ขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าเข็มที่ใช้เปิดเส้นให้น้ำเกลืออีก เพียงแต่เข็มบล็อคหลังจะมีความยาวมากกว่าเข็มปกติเพื่อให้สามารถแทงเข้าไปจนถึงช่องไขสันหลังได้

บล็อคหลัง มีกี่ประเภท

1.การบล็อกหลังแบบ Epidural

วิธีการ: วิสัญญีแพทย์จะแทงเข็มซึ่งภายในมีหลอดนำยาขนาดเล็กเข้าไปในกระดูกสันหลังของคุณแม่ หลอดนำยาจะค้างอยู่ข้างในและค่อยๆ ปล่อยยาชาอย่างต่อเนื่องออกไปควบคุมชั้นผิวหนังของไขสันหลังที่เรียกว่า Dura ให้หมดความรู้สึก คุณแม่จะบอกให้แพทย์ใช้วิธีนี้ในช่วงใดของการรอคลอดก็ได้

ข้อดี: หลังจากที่แพทย์แทงเข็มบริเวณกระดูกสันหลังแล้ว คุณแม่ส่วนมากจะหมดความรู้สึกตั้งแต่ช่วงเอวลงไปภายใน 5 นาที แต่ในบ้างครั้งอาจใช้เวลานานกว่านี้ แล้วแต่ปริมาณของตัวยาที่ใช้วิธีบล็อกหลังแบบ Epidural จะช่วยให้คุณแม่ไม่เจ็บปวดจากการบีบรัดตัวของมดลูก และยังสามารถขยับตัวเคลื่อนไหวร่างกายได้ คุณแม่สามารถพักผ่อนหรืองีบหลับเพื่อรอเวลาเบ่งคลอดได้

ข้อควรระวัง : ผลข้างเคียงจาการบล็อกหลังแบบ Epidural ที่พบมากที่สุดคืออาการปวดศีรษะ (1:200) ซึ่งเป็นผลจากการใช้เข็มเจาะและปล่อยยาเข้าไปในแนวไขสันหลังสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่นอกจากปวดศีรษะก็คือ คลื่นไส้ อาเจียน คัน เละสั่นตามร่างกาย ส่วนใหญ่จะหายไปเองเมื่อหมดฤทธิ์ยา แต่ถ้ายาหมดฤทธิ์แล้วอาการเหล่านี้ยังไม่หายไป คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ในทันทีนอกจากนี้การบล็อกหลังแบบ Epidural อาจทำให้ความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อกระดูกเชิงกรานลดลง ซึ่งจะส่งผลให้การคลอดในระยะที่สองต้องใช้เวลาเนิ่นนานออกไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง และยังมีโอกาสสูงที่จะต้องใช้คีมช่วยคลอดโดยปกติการบล็อกหลังแบบ Epidural เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศได้พยายามคิดค้นวิธีที่จะลดปริมาณการใช้ยา รวมทั้งการผสมชนิดของยาเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อคุณแม่น้อยที่สุด และทำให้คุณแม่รอคลอดสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้มากที่สุด จึงมีผู้เรียกวิธีบล็อกหลังแบบ Epidural ว่า “ชนิดเดิน” เพราะคุณแม่ยังสามารถลุกเดินไปไหนได้

2. การบล็อกหลังแบบ Spinal Block

วิธีการ : แพทย์จะแทงเข็มเข้าไปที่บริเวณหลังส่วนล่างของคุณแม่ ซึ่งเข็มจะเจาะผ่านกระดูกไขสันหลังชั้น Dura ตรงเข้าไปยังแนวไขสันหลังทันที คุณแม่ส่วนมากจะรู้สึกชาตั้งแต่ช่วงเอวลงไป ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพในการเบ่งคลอดลดลงด้วย การบล็อกหลังแบบ Spinal มักจะใช้ช่วงทารกใกล้คลอด เนื่องจากยามีฤทธิ์อยู่ได้ในช่วงสั้นเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น

ข้อดี : เป็นวิธีที่จะช่วยระงับความเจ็บปวดได้ในทันทีภายใน 1–2 นาทีก็เห็นผล และปริมาณยาที่ใช้ก็น้อยกว่าการบล็อกหลังแบบ Epidural

ข้อควรระวัง : เนื่องจากมีฤทธิ์ค่อนข้างสั้น ยาที่ฉีดไปอาจหมดฤทธิ์ก่อนที่ทารกจะคลอดมา และแพทย์จะไม่ฉีดยาให้ซ้ำเป็นครั้งที่สอง เป็นวิธีที่ก่อให้เกิดประโยชน์น้อยมาก เพราะยังไม่มีใครสามารถคำนวณเวลาในการคลอดได้ และอาจทำให้คุณแม่ปวดศีรษะซึ่งเป็นผลจากการแทงเข็มไปในแนวไขสันหลังระดับลึก ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ ตัวสั่น อาการคัน และรู้สึกคลื่นไส้

3. การบล็อกหลังแบบผสมระหว่าง Epidural กับ Spinal

วิธีการ : วิธีการบล็อกหลังแบบผสมมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เทคนิคแบบสองเข็ม” คือการใช้เข็มเป็นเซ็ต โดยวิสัญญีแพทย์จะแทงเข็มขนาดใหญ่ซึ่งข้างในจะมีเข็มขนาดเล็กอยู่อีกอันหนึ่งเข้าไปที่กระดูกไขสันหลัง เข็มเล็กข้างในจะแทงลึกตรงเข้าไปที่แนวไขสันหลังคือ Spinal เพื่อให้ยาออกฤทธิ์แบบเฉียบพลัน หากการคลอดยังไม่เกิดขึ้นภายในช่วงที่ยาบล็อก Spinal ออกฤทธิ์ แพทย์ก็จะให้ยาชาบล็อกหลังอีกครั้งในระดับ Epidural ซึ่งออกฤทธิ์ช้าและอยู่ได้นานกว่าทางเข็มใหญ่ โดยไม่ต้องแทงเข็มซ้ำ

ข้อดี : เป็นการรวมข้อดีของการบล็อกหลังทั้งสองวิธีเข้าด้วยกัน และคุณแม่ยังเคลื่อนไหวร่างกายได้

ข้อควรระวัง : ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขั้นกับคุณแม่ก็คือ ปวดศีรษะ ตัวสั่น อาการคัน และคลื่นไส้

คุณแม่พอจะทราบคร่าวๆ แล้วว่าการบล็อคหลังคลอดลูกคืออะไร อันตรายหรือไม่ เจ็บหรือไม่ ส่งผลอะไรบ้างต่อแม่และลูกในครรภ์ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการคลอด ไม่ว่าจะเป็นการคลอดประเภทไหน ธรรมชาติ หรือผ่าคลอด คุณแม่เองต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และควรดูแลสุขภาพร่างกายให้พร้อมก่อนคลอดค่ะ ด้วยรักและห่วงใย จากใจ Mamaexpert

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. คลอดลูกแบบไหนดี ระหว่างคลอดธรรมชาติ กับ ผ่าคลอด

2. ขั้นตอนการผ่าตัดคลอดลูกและการตรวจร่างกายเด็กเมื่อแรกคลอด

3. 5 เหตุผลที่แม่ท้องอยากผ่าคลอด แต่ทางการแพทย์ไม่แนะนำ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณบทความจาก : รศ.พญ.สายฝน - นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์