เจาะน้ำคร่ำของคุณแม่ตั้งครรภ์ เจาะอย่างไร ใครบ้างที่ต้องเจาะ

07 March 2012
46370 view

เจาะน้ำคร่ำ

เจาะน้ำคร่ำหรือการตรวจน้ำคร่ำในการตั้งครรภ์สามารถบอกปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ เช่น ปัญหาของกลุ่มเลือด หรือ การติดเชื้อ และยังช่วยบอกถึงความพร้อมของทารกได้ด้วยว่าเติบโตเต็มที่หรือไม่ ปอดสมบูรณ์พอที่จะมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่ คุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มไหนบ้างที่จะต้องเข้ารับการตรวจ มาดูกันค่ะ...

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร

เจาะน้ำคร่ำ คือ การเจาะดูดน้ำคร่ำปริมาณ 20 มิลลิลิตร ออกจากถุงน้ำคร่ำที่อยู่รอบ ๆ ตัวทารกในครรภ์ เพื่อการวินิจฉัยโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ในประเทศไทย ยังนำมาคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นทุกรายที่มีอายุครรภ์ในช่วง 16- 19 สัปดาห์

เจาะน้ำคร่ำ มีข้อบ่งชี้อย่างไร

การเจาะน้ำคร่ำเป็นการตรวจคัดกรองที่จะทำเฉพาะในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง ต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ ดังต่อไปนี้

  1. คุณแม่ตั้งครรภ์ มีอายุครบ 35 ปี หรือมากกว่าที่วันครบกำหนดคลอด
  2. เคยคลอดบุตรที่มีโครโมโซมผิดปกติ
  3. มีประวัติการแท้งซ้ำซาก
  4. ตรวจพบสารชีวเคมีในเลือดผิดปกติ
  5. ตรวจพบความพิการของทารกในครรภ์
  6. ตรวจพบเป็นคู่สมรสที่เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคเลือดจากธาลัสซีเมีย

สูติแพทย์ จะพิจารณา ตรวจเจาะน้ำคร่ำให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงเมื่ออายุครรภ์ 16 – 18 สัปดาห์

เจาะน้ำคร่ำ เพื่อหาความผิดปกติของดาวน์ซินโดรม

ปัจจุบันสถิติการคลอดลูกเป็นดาวน์ซินโดรมค่อนข้างสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างน่าตกใจ เนื่องจากการ สมรสช้า ทำให้ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก นอกจากนั้น ดาวน์ซินโดรมยังพบในคุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มวัยรุ่นด้วย แต่ยังน้อยกว่ากลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุมากในกลุ่มคุณแม่ที่อายุมากมีความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรมดังนี้

  1. คุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อ อายุ 33 ปี อัตราเสี่ยง 1:417
  2. คุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อ  อายุ 34 ปี อัตราเสี่ยง 1:333
  3. คุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อ  อายุ 35 ปี อัตราเสี่ยง 1:250
  4. คุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อ  อายุ 36 ปี อัตราเสี่ยง 1:192
  5. คุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อ  อายุ 37 ปี อัตราเสี่ยง 1:252
  6. คุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อ  อายุ 40 ปี อัตราเสี่ยง 1:69
  7. คุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อ  อายุ 45 ปี อัตราเสี่ยง 1:19

เจาะน้ำคร่ำ ในคุณแม่ตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป

แม้ว่าการเจาะน้ำคร่ำจะมีข้อดีที่สามารถวินิจฉัยความผิดปกติได้ แต่ก็มีความเสี่ยงเช่นกันคือเสี่ยงต่อการแท้งบุตร โดยพบได้ประมาณร้อยละ 0.4 หรือแท้ง 1ครั้ง ต่อการตรวจเจาะน้ำคร่ำใรคุณแม่ตั้งครรภ์ 250 คน  ซึ่งใกล้เคียงกับความเสี่ยงในการมีบุตรเป็นกลุ่มอาการดาวน์เมื่อคุณแม่อายุ 35 ปี ดังนั้นโดยทั่วไปจึงแนะนำการเจาะน้ำคร่ำแก่คุณแม่ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี สำหรับคุณแม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี สามารถปรึกษาเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การตรวจคัดกรองจากการตรวจเลือด Tipple 3 test ได้จากสูติแพทย์ที่ฝากครรภ์

เจาะน้ำคร่ำ มีค่าใช้จ่ายอย่างไร

ค่าใช้จ่ายของการตรวจเจาะน้ำคร่ำ โดยประมาณ ( ราคาโรงพยาบาลรัฐบาล ) 

  1. ค่าตรวจอัลตราซาวด์ 400 บาท
  2. ค่าอุปกรณ์ 600 บท
  3. ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2,500 บาท รวมค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 3,500 บาท

เจาะน้ำคร่ำ ต้องเตรียมตัวอย่างไร

  1. ด้านจิตใจ สตรีตรั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะมีความกลัวเจ็บและกังวลถึงการแท้งที่อาจเกิดขึ้นได้ จากข้อมูลปัจจุบัน การเจาะน้ำคร่ำโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ชี้นำการเจาะ กำหนดตำแหน่งความลึกและติดตามปลายเข็มในบริเวณที่เจาะตลอดเวลา โอกาสทารกเกิดการบาดเจ็บและการแท้งพบได้ยาก และเข็มที่เจาะมีขนาดเล็กมาก จะมีความรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อย ปกติแพทย์จะไม่แนะนำให้ฉีดยาชาเฉพาะที่ เนื่องจากเข็มที่ฉีดยาจะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บหรือรู้สึกไม่สบายมากกว่าเข็มเจาะน้ำคร่ำเสียอีก
  2. ด้านร่างกาย คุณแม่ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารมาก่อนค่ะ สามารถสวมชุดที่หลวมและเปิดบริเวณท้องน้อยได้สะดวก คุณแม่ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและควรถ่ายปัสสาวะก่อนเข้าห้องตรวจ

เจาะน้ำคร่ำ มีวิธีการตรวจอย่างไร

เจ้าหน้าที่พยาบาลให้คำปรึกษาและแนะนำขั้นตอนการตรวจให้เข้าใจก่อนตรวจ

  1. นอนบนเตียงตามสบาย เปิดเสื้อผ้าบริเวณท้องน้อยออก ไม่เกร็ง
  2. ตรวจอัลตราซาวด์เพื่อกำหนดอายุครรภ์ จำนวนทารก ตำแหน่งรกและปริมาณน้ำคร่ำ
  3. ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เจาะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  4. ใช้เข็มขนาด 22 G แทงผ่านผิวหนังโดยการชี้นำของคลื่นเสียงความถี่สูง
  5. เจาะดูดน้ำคร่ำประมาณ 20 มิลลิลิตร
  6. นอนพักหลังตรวจประมาณ 20 นาที

เจาะน้ำคร่ำเสร็จต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

  1. งดทำงานหนัก เช่น ยกของ ออกกำลังกาย หรือเดินทางไกล อย่างน้อย 3 วัน
  2. งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  3. กรณีที่มีอาการผิดปกติต้องรีบพบแพทย์ทันที

ผลการตรวจจะเสร็จสิ้นภายใน 4 สัปดาห์  สูติแพทย์ จะนัดทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์และคู่สมรสมาร่วมรับฟังผลการตรวจน้ำคร่ำ หากพบว่าผลผิดปกติ คู่สมรสต้องตัดสินใจร่วมกันว่าจะยุติการตั้งครรภ์ครั้งนี้หรือไม่หรือต้องการตั้งครรภ์ต่อ โดยสูติแพทย์จะไม่ชี้นำให้เลือกอย่างหนึ่งอย่างใด ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของคู่สมรสเท่านั้น

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. การตรวจครรภ์ตลอด 9 เดือน ที่แม่ต้องรู้

2. การตรวจความผิดปกติของหัวใจทารกในครรภ์

3. โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editoriao Team