การตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์ ที่แม่ตั้งครรภ์ควรรู้!!

01 January 2012
5712 view

การตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์

โรคหัวใจแต่กำเนิด เป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่ง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกเสียชีวิตหลังคลอด โดยอาจเสียชีวิตจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรง หรือจากที่ให้การรักษาล่าช้าไม่ทันเวลา เพราะไม่สามารถวินิจฉัยได้ก่อนคลอด นอกจากนี้อาจมีโรคอื่นแทรกซ้อน  ทำให้อาการของโรคหัวใจเลวลงจนทำให้เสียชีวิต ดังนั้นหากได้รับการตรวจวิเคราะห์โรคอย่างรวดเร็ว และรับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพทันเวลาจะช่วยให้ทารกซึ่งเป็นโรคโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสามารถรอดชีวิต และสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างปลอดภัย

การตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์ในปัจจุบัน

ปัจจุบันเราสามารถทำการตรวจวิเคราะห์โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดของทารกตั้งแต่ขณะที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ด้วย Fetal Echocardiogram (ฟีทัล เอคโค่คาร์ดิโอแกรม) ซึ่งเป็นการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อ ดูความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดของทารกในครรภ์มารดา ช่วยให้ทราบว่าทารกในครรภ์เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถทราบถึงความรุนแรงของความผิดปกตินั้นด้วยการที่ทราบได้ก่อนว่าทารกในครรภ์เป็นโรคหัวใจนั้น ส่วนหนึ่งจะช่วยให้พ่อแม่สามารถเตรียมพร้อมทางด้านจิตใจ และแพทย์สามารถวางแนวทางการรักษาที่เหมาะสมได้ ซึ่งอาจให้การรักษาได้ทันทีตั้งแต่ขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ หรือวางแผนการผ่าตัดหลังการคลอด การตรวจด้วย Fetal Echocardiogram นั้นสามารถทำได้ตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงใกล้คลอด

ความผิดปกติของหัวใจบางชนิดสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์โดยการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ แต่บางชนิดจะตรวจพบภายหลังจากทารกคลอดออกมา และบ่อยครั้งจะตรวจพบเมื่อเด็กโตขึ้นหรือขณะเป็นผู้ใหญ่ เมื่อแพทย์สงสัยว่าเด็กอาจเป็นโรคหัวใจจากประวัติและการตรวจร่างกายแล้วอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมค่ะ

บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์

1. ข้อบ่งชี้ในการตรวจเจาะน้ำคร่ำในแม่ตั้งครรภ์

2. ภาวะแท้งคุกคาม

3. โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team