การเตรียมหัวนมก่อนคลอด แก้ไขหัวนมบอด หัวนมบุ๋ม

14 December 2017
91918 view

การเตรียมหัวนมก่อนคลอด

คุณแม่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อนค่ะว่า ขณะตั้งครรภ์เต้านม หัวนมของเราเปลี่ยนไปมากน้อยแตกต่างกัน แม่ตั้งครรภ์ควรมีการเตรียมหัวนม หรือการดูแลหัวนมอย่างถูกต้อง เพื่อรอรับลูกรักที่กำลังออกมาดูดนมแม่ การเตรียม หัวนมนับเป็นสิ่งจำเป็นที่แม่ท้องต้องทำ เพราะหากถึงวันที่ลูกต้องดูดนมแม่แล้ว กลับพบว่า หัวนมแม่ไม่พร้อมเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะลูกรักของคุณอาจพลาดสิ่งดีๆ ที่ควรจะได้รับในวันแรกที่คลอด

การเปลี่ยนแปลงของเต้านมและหัวนมระหว่างตั้งครรภ์ 

  • เดือนแรกของการตั้งครรภ์   ฮอร์โมนจากรก แลคโตเจน, โกแนโดโทรฟิน, โปรแลคติน  รวมทั้ง  ฮอร์โมนจากรังไข่  คือ เอสโตเจน และโปรเจสเตอโรน  จะกระตุ้นเต้านม  จากขนาดปกติ  ให้เริ่มขยายขึ้น ส่วนของท่อน้ำนมจะแตกตัวขึ้นอย่างมาก และรวดเร็วเหมือนกับการเจริญของถั่วงอกไม่มีผิด  ท่อน้ำนมจะเจริญไปจนถึงส่วนปลาย  และกลีบต่อมน้ำนมที่เป็นตุ่มเล็ก ๆ ก็จะเริ่มขยายตัวตามมากขึ้น

  • เดือนที่สอง  เต้านมจะใหญ่ขึ้นชัดเจน  สีของวงปานนมจะเริ่มเข้ม  คล้ำขึ้น

  • 4 เดือนขึ้นไป  กลีบต่อมน้ำนมจะเริ่มขยายและมีเซลล์ต่อมน้ำนมเกิดขึ้นชัดเจน  ต่อมน้ำนมจะสร้างน้ำคัดคลั่งที่เป็นสีใสขุ่น  แต่ยังไม่เป็นสีน้ำนม  ซึ่งน้ำคัดหลั่งนี้อุดมด้วยสารภูมิต้านทานและเซลล์เม็ดเลือด และไขมัน  ซึ่งเราเรียกว่า  คอลลอสตรัม (colostrum)

  • เดือนที่ 6 ต่อมน้ำนมจะขยายเพิ่มขึ้น  มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นจนเห็น  เส้นเลือดดำใต้ผิวหนังขยาย รวมทั้งมีเซลล์กล้ามเนื้อรอบ ๆ ท่อน้ำนมหนาตัวขึ้น  เพื่อพร้อมให้นมลูกต่อไป  น้ำคัดหลั่งคอลอสตรัมก็จะเพิ่มจำนวน  ถ้าบีบหัวนมจะมีน้ำขุ่น ๆ ไหลออกมาได้

  • เดือนที่9 หน้าอกจะขยายขึ้นประมาณ 1-2 เท่า และมีเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นถึง  80%

  • วันที่คลอด เต้านมจะยังไม่สร้างน้ำนมทันทีจะมีแต่น้ำคัดหลั่ง คอลอสตรัม  ซึ่งเป็นสารที่อุดมด้วย วิตามิน  ภูมิต้านทาน และไขมัน ออกมาประมาณ 2-3  วัน หลังจากนั้น  ถ้ามีการให้นม เต้านมก็เริ่มผลิตน้ำนมขึ้นมาแทน

การเตรียมหัวนมก่อนคลอด

1.อาบน้ำดูแลความสะอาดของเต้านมและหัวนมตามปกติ ห้ามคลึงหรือบีบบริเวณหัวนม

2.หลีกเลี่ยงการใช้น้ำอุ่น อาจทำให้หัวนมแห้งเป็นขุย รวมถึงผิวกายด้วย

3.ป้องกันเต้านมแตกลายด้วยน้ำมัน หรือออยชนิดต่างๆ แต่ไม่ควรเหนียวเหนอะหนะ มีการดูดซึมดี เพราะเมื่อผิวชุ่มชื่น ก็จะช่วยลดอาการแตกลายได้ แต่ถ้าคุณแม่เลือกครีมที่มีความเหนอะหนะมากเกินไป จะทำให้ผิวบริเวณนั้นอุดตันกับไขมัน ต่อมไขมันจะไม่สามารถขับน้ำออกมาได้ ทำให้เกิดตุ่มสิวขึ้นมาได้ค่ะ

4.เพราะฮอร์โมนในร่างกายช่วงที่คุณแม่ตั้งท้องทำให้สีผิวเปลี่ยนเป็นสีที่คล้ำขึ้น คุณแม่บางคนจึงอาจจะเข้าใจว่าตัวเองสกปรกเลยใช้สบู่หรือมีการทำความสะอาดบริเวณเต้านมมากจนเกินไป ซึ่งก็ไม่ดี เพราะจะทำให้ผิวแห้งแล้วแบคทีเรียที่ช่วยปกป้องร่างกายของเราถูกกำจัดออกไปด้วย ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงไป การปกป้องผิวบริเวณนั้นก็ลดลงด้วยและยังมีผลต่อเนื่องตามมาอีกค่ะ คือหัวนมแตก ปกติหัวนม

5.คุณแม่บางคนดูแลพิถีพิถันกับบริเวณหัวนมมากจนเกินไป  บางคนก็ดึงเอาจุกไขมันที่อยู่ในหัวนมที่จะมีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ ออก เพราะเข้าใจว่าเป็นสิ่งสกปรก ก็ต้องบอกให้เข้าใจเลยค่ะว่า คุณแม่อย่าไปดึงออก เพราะไขมันตรงนั้นเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาให้ และไขมันตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นอันตรายอะไรกับลูก แต่ถ้าเราไปดึงออก ไปถูสบู่เยอะเกินไป บริเวณนั้นจะเกิดการแห้งและทำให้หัวนมแตกในที่สุด

6.คุณแม่ที่เคยมีประวัติการแท้ง หรือแพทย์วินิจฉัยว่าอาจคลอดก่อนกำหนด ห้ามกระตุ้น หัวนมโดยเด็ดขาดเพราะทำให้มดลูกบีบบรัดตัวอาจคลอดก่อนกำหนดได้ 

7.หากตรวจพบหัวนมบอด หัวนมสั้น หัวนมบุ๋ม ต้องรีบขอคำแนะนำในการเตรียมหัวนมจากสูติแพทย์ พยายาบาล หรือ คลินิคนมแม่

การเตรียมหัวนมก่อนคลอดด้วยเทคนิคขั้นเทพ


การแก้ไขหัวนมให้ยื่นด้วยมือ

  1. วางนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างให้ชิดโคนหัวนม
  2. กดและดึงออกจากกันไปทางด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ทำเช่นนี้ทางด้านบนและด้านล่าง ทำซ้ำหลายๆครั้ง จนรอบหัวนม
  3. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับด้านข้างของหัวนมส่วนที่ติดกับลานนม
  4. คลึงไปมาเบาๆ พร้อมทั้งจับหัวนมดึงยืดออกมาเล็กน้อย แล้วปล่อย ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง นานครั้งละ 2-5 นาที จะช่วยให้หัวนมที่ฝังอยู่ในลานนม ยื่นยาวออกมาได้

การแก้ไขหัวนมด้วยอุปกรณ์

1.ใช้อุปกรณ์ดึง ในกรณีที่มีนมสั้น บอด แบน บุ๋ม มาก ใช้เครื่องช่วยดึงนม มีลักษณะเป็นอุปกรณ์ดึงสุญญากาศ ดึงหัวนมทุกวัน วันละ 2 ครั้ง หลังอาบน้ำเช้า เย็น ประมาณข้างละ 10 นาที

2.ใช้อุปกรณ์ “ประทุมแก้ว”  ในกรณีที่มีนมสั้น บอด แบน บุ๋ม ลานนมและโคนหัวนมแข็งดึง ให้ใช้อุปกรณ์ “ประทุมแก้ว” ซึ่งทำจากพลาสติก 2 ชั้น มีช่องว่างกลมสำหรับครอบหัวนม ใส่เฉพาะเวลากลางวันทุกวันหลังอาบน้ำ วางประทุมแก้วบนเต้านมครอบหัวนม ส่วนของหัวนมอยู่ตรงช่องกลม โดยให้ใส่ไว้ใต้เสื้อยกทรงที่มีขนาดพอเหมาะใส่เฉพาะเวลากลางวัน


การใช้อุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดนี้ ถ้ามีอาการท้องแข็งหรือหัวนมแตกเป็นแผลให้หยุดทำ และมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจดูสภาพของหัวนมว่าดีขึ้น ยื่นยาวออกมาพอที่ลูกจะดูดได้หรือไม่

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ : 

1.แนะเคล็ดลับ อัพน้ำนม ได้ผลสุดๆ ตั้งแต่72ชั่วโมงแรกหลังคลอด

2.เมื่อลูกไม่ดูดเต้า ปั๊มนมอย่างไรให้ได้น้ำนมมาก

3." ทัลคัม " มัจจุราชสีขาวในแป้งเด็กที่แม่ต้องระวัง !!!

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team