พัฒนาการเด็ก 9 เดือน และเทคนิคกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม

13 February 2018
52584 view

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน

พัฒนาการเด็ก 9  เดือน และเทคนิคกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม อายุของเด็กวัยนี้ เป็นอายุแห่งการเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว ทั้งการคลาน การดึงตัวขึ้นและอาจรวมถึงการเดินรอบเครื่องเรือน เด็กวัยนี้จะมีความอยากรู้อยากเห็นมากเป็นพิเศษ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ลูกน้อยได้สะสมทักษะ เตรียมความพร้อมในการใช้มือ การใช้สายตา การเข้าสังคมมา จึงเป็นก้าวที่สำคัญในการพัฒนาในเรื่องพัฒนาการของลูกน้อยในทุกๆด้าน ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับช่วงวัย คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ได้ผ่านการรู้สึกของเขา อาจจะเป็นการกระตุ้นด้วยของเล่นที่มีสีสดๆ กระตุ้นด้วยดนตรีหรือการร้องเพลง ที่สำคัญคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง และควรระวังเป็นพิเศษในเรื่องความปลอดภัยของลูกน้อย

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน ด้านการเรียนรู้

พัฒนาการของเด็กวัย 9 เดือน ด้านการเรียนรู้ ความจำและความสามารถของสมองของลูกน้อยมีการพัฒนาขึ้นมาก คุณรแม่ต้องพยายามหากิจกรรมที่ช่วยในการกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยที่มีความแปลกใหม่ เนื่องจากลูกน้อยอาจรู้สึกเบื่อกับกิจกรรมเดิมๆ หรือสภาพแวดล้อมเดิมๆ คุณแม่ควรสังเกตลูกน้อย ถ้าลูกเริ่มรู้สึกเบื่อในกิจกรรม คุณแม่ต้องรีบเปลี่ยนกิจกรรมใหม่ทันที เช่น ลูกน้อยเริ่มเบื่อที่จะเล่น จ๊ะเอ๋ หรือซ่อนของ คุณแม่อาจชวนลูกเล่นต่อบล็อก โยนบอลใส่กล่อง หรืออาจพาลูกน้อยไปเล่นนอกบ้านค่ะ

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว

เด็กวัย 9 เดือน สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งการคลาน การเดินรอบเครื่องเรือน แต่อาจมีเด็กบางรายที่คลานยังไม่คล่อง หรือพึ่งเข้าสู่การหัดดึงตัวขึ้นเพื่อเข้าสู่การเดินรอบเครื่องเรือน คุณแม่ควรเข้าใจในเรื่องของพัฒนาการที่แตกต่างกัน ซึ่งเด็กทารกมีความแตกต่างกัน บางคนคลานทีหลัง คุณแม่ไม่ควรวิตกกังวลถ้าลูกไม่คลานสี่ขาเมื่อถึงอายุ 9 เดือน หรือลูกอาจคลานถอยหลังเนื่องจากกล้ามเนื้อแขนแข็งแรงกว่ากล้ามเนื้อขา ลูกจึงพบว่า การดันตัวไปข้างหลังง่ายกว่า คุณแม่อาจจะให้ลูกน้อยได้ลองคลานเล่น หรือลองจับลูกให้ฝึกเดินบนพื้นผิวต่างๆ อาจจะเป็นดิน ทราย หรือสนามหญ้าด้วยเท้าเปล่าบ้าง เพราะเม็ดดินเม็ดทรายเหล่านี้จะช่วยนวดฝ่าเท้าลูก ซึ่งเส้นสมองของเด็กเชื่อมโยงกับประสาทที่ฝ่าเท้าของลูก ควรส่งเสริมให้ลูกได้สนุกกับกิจกรรม การนั่ง การยืน การหัดเดิน สนุกกับวัตถุรอบข้าง คุณแม่ควรยุให้ลูกคลานโดยมีพรมอ่อนนุ่มและของเล่นที่น่าสนใจ ที่ลูกสามารถเอื้อมถึง เด็กวัยนี้จะชอบของเล่นที่มีรูปร่างลวดลายน่าสนใจ และคุณแม่อาจใช้การร้องเพลงพร้อมพาลูกทำท่าประกอบต่างๆ ที่เหมาะสมกับช่วงวัย เข้ามาช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของลูกน้อยค่ะ 

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก - มัดใหญ่

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก เด็กในช่วงวัยนี้จะสามารถใช้นิ้วมือได้ เช่นการชี้ การใช้หัวแม่มือหยิบของ คุณแม่สามารถกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้ด้วยการให้ลูกใช้นิ้วมือหยิบอาหารชิ้นเล็กที่อ่อนนุ่มเข้าปากเอง เช่น ข้าวสุก ฟักทองต้ม และไม่ควรให้อาหารที่เป็นเม็ดแข็ง เช่น เมล็ดถั่ว เพราะลูกอาจสำลักได้

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ลูกสามารถ ลุกนั่งจากท่านอน คลาน เหนี่ยวตัวขึ้นยัน เกาะยืน คุณแม่ควรกระตุ้นและส่งเสริมโดยจัดพื้นที่และเปิดโอกาสให้ลูกได้นั่งเล่น ได้คลาน ได้เกาะ และยืน ด้วยตัวลูกเอง โดยที่คุณแม่ควรดูแลอยู่ใกล้ๆ เพื่อลดการเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ 

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน ด้านการมองเห็น

เนื่องจากเด็กวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็นมาก คุณแม่สามารถพัฒนาทักษะด้านการมองเห็นของลูกน้อย ด้วยการให้ลูกเรียนรู้ได้ผ่านการรู้สึก อาจจะกระตุ้นสายตาของลูกน้อยด้วยสีสดๆ ของเล่นที่มีสีสันสดใส หรืออาจจะเป็นโมบายแขวนก็ได้ และสีพื้นผนังของห้อง รวมถึงการจัดมุมเรียนรู้ที่หลากสี ก็สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการมองเห็นของลูกได้ค่ะ

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน ด้านภาษา

ทักษะการสื่อสารของลูกน้อยวัย 9 เดือน กำลังดีขึ้นอย่างมาก ลูกจะตอบสนองต่อชื่อตัวเอง จะทำเสียง 1 อย่างขึ้นไปที่ซ้ำๆ กัน จะพยายามเลียนเสียงที่ได้ยิน จะเริ่มทำเสียงง่ายๆ เช่น บา, มา, ดา จะมีการแสดงอารมณ์ท่าทางพร้อมกับทำเสียง เช่น เมื่อนำของเล่นออกไปจากเขา เขาจะแสดงออกด้วยการร้องไห้และพยายามเปล่งคำพูดที่สอดคล้องกับมิ่งที่เขาต้องการ เช่น " ขอ " คุณแม่ควรเริ่มฝึกให้ลูกเข้าใจในความหมายของคำ พูดกับลูกบ่อยๆ ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ ไม่ควรดุด่า หรือพูดเสียงดัง เพราะเด็กวัยนี้สามารถเรียนรู้ผ่านพฤติกรรมของพ่อแม่ได้ แค่นี้ก็เป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาให้กับลูกน้อยที่เรารักได้แล้วค่ะ และที่สำคัญ คุณแม่อย่าลืมชื่นชมลูกเมื่อลูกทำได้ด้วยนะคะ เพราะเด็กในวัยนี้จะชอบคำชมเป็นพิเศษค่ะ

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน อาหารและโภชนาการ

ระบบการย่อย การดูดซึม และการเคี้ยวอาหารของลูกวัย 9 เดือน ยังคงมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ เห็นได้ชัดก็คือมือน้อยๆ สามารถหยิบจับสิ่งต่าง ๆ ได้แล้ว การส่งเสริมพัฒนาการของลูกในช่วงวัยนี้ จึงเหมาะมากๆที่คุณแม่จะเลือกผลไม้เนื้ออ่อน  มาประเปลี่ยนรูปทรงให้ลูกสามารถหยิบจับ ถือ กัดได้โดยปลอดภัยโดยไม่ต้องกังวลว่าจะติดคอ คุณแม่สามารถเพิ่มข้าวเป็นสองมื้อ อาหารบดหยาบ แต่ต้องตุ๋นให้นุ่มแต่ต้องดูด้วยว่าลูกสามารถกินได้หรือไม่ ถ้าเคี้ยวแล้วกลืนได้ ไม่ติดคอ ไม่คายออกมา ไม่อมเอาไว้ในปากโดยไม่กลืน แสดงว่ากินได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ ให้กลับไปบดละเอียดเหมือนเดิม แต่ทำให้ข้นมากขึ้นเล็กน้อย  แล้วลองนำกลับมาป้อนใหม่ค่ะ เมื่อลูกน้อยได้รับอาหารเสริมตามวัยแล้ว ปริมาณน้ำที่ลูกได้รับจะลดลงตามปริมาณนมที่ลดลงด้วย เพราะในอาหารเสริมตามวัยมีน้ำเป็นส่วนประกอบไม่มากเท่าในนม จึงจำเป็นที่คุณแม่ต้องใส่ใจให้ลูกได้กินน้ำเปล่าเพิ่มขึ้นตามปริมาณนมที่ลดลงด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว อาจมีปัญหาลูกไม่สบายมีอาการท้องผูกเนื่องจากร่างกายได้รับน้ำปริมาณไม่เพียงพอได้ มื้ออาหารจะกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของลูกน้อยได้ ถ้าคุณแม่เปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้มีส่วนร่วมในการรับประทานอาหาร การเลือกใช้ภาชนะ ถ้วย ช้อน แก้วน้ำ ที่มีลายน่ารักๆ เช่น ลายการ์ตูน ลายดอกไม้ต่างๆ เป็นอีกวิธีที่จะช่วยดึงดูดให้ลูกสนใจในเรื่องการกินเพิ่มมากขึ้นค่ะ

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน ในเรื่องการนอน

การนอนของเด็กอายุ 9 เดือน ส่วนใหญ่จะสามารถนอนหลับได้นานรวดเดียวในเวลากลางคืน โดยจะไม่ตื่นมาดูดนมกลางคืนอีก ส่วนกลางวันก็จะหลับเป็นช่วงสั้น ๆ วันละ 2 ครั้ง รวมเวลาหรือความต้องการนอน 13 -14 ชม. เมื่อเด็กโตขึ้นระยะเวลาของการหลับสนิทก็จะเพิ่มขึ้นจาก 50% ไปจนถึง 70-80% ของระยะเวลาการนอนหลับทั้งหมด ทำให้รอบของการหลับมีความคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่คือ หลับได้นานขึ้นแต่ระยะเวลาของการหลับสนิทก็ยังสั้นกว่าผู้ใหญ่อยู่ดี ซึ่งถ้ามีอะไรมาทำให้เด็กตื่นระหว่างการนอน ก็จะทำให้เด็กกลับไปหลับต่อเนื่องจากเดิมได้ยาก ทำให้เกิดปัญหา เช่น พอเจ้าตัวเล็กตื่นกลางดึกแล้วจะไม่ยอมนอนต่อ จะลุกขึ้นมาเล่นบางรายเมื่อถึงเวลานอนแล้วจะไม่ยอมนอน เป็นต้น 

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน กับข้อควรระวังและความปลอดภัยของเด็ก

เด็กในวัยนี้มักเกิดอุบัติ เช่น ตกเตียง ของร้อนที่มักเกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้ ที่เห็นได้บ่อยก็คือ เด็กถูกน้ำร้อนลวก คุณแม่ควรระวังเป็นพิเศษ ควรเก็บของมีคม ของที่มีลักษณะเหลี่ยม แข็ง ให้พ้นจากเด็ก ควรเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างพื้น น้ำยาล้างท่อ ผงซักฟอก และยาฆ่าแมลง ให้เก็บไว้ที่สูงพ้นจากมือเด็ก รวมการจับเด็กเพื่อฝึกเดิน ฝึกยืน ควรจับให้ถูกวิธี ไม่ควรจับเด็กมือเดียว คุณแม่ควรให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของลูกน้อยให้มากเป็นพิเศษ ควรคิดอยู่เสมอว่า อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุของลูกน้อยค่ะ

บทบาทของพ่อแม่ในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกนั้น สามารถทำได้โดยการสร้างพื้นฐานการคิดให้ลูก เพียงส่งเสริมการคิดผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของลูกน้อย ได้แก่ การได้เห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้ลิ้มรส และการได้สัมผัสหรือเคลื่อนไหว ให้กับลูก เพราะลูกวัยนี้สามารถเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ควรเพิ่มสิ่งเร้าและกระตุ้นการทำงานของสมอง ซึ่งจะช่วยและส่งผลต่อพื้นฐานของการคิดและการพัฒนาในส่วนของพัฒนาการในแต่ด้าน ของลูกต่อไปค่ะ

บทความแนะนำ

1. เช็คพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 24 เดือน

2. 8 สิ่งผิดปกติของลูกรักที่บ่งบอกว่าลูกเป็นเด็กพัฒนาการล่าช้า

3. พัฒนาการล่าช้าและพัฒนาการถดถอยในเด็ก

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง : 

1. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.คู่มือสำหรับพ่อแม่เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก.วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี.เข้าถึงได้จาก http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20171010123052.pdf .[ค้นคว้าเมื่อ 24 ตุลาคม 2560]

2. Dr A.J.R Waterston,MD,FRCP,FRCPCH,DRCOG,DCH.คัมภีร์การดูแลทารกและเด็กเล็ก.พัฒนาการเดือนต่อเดือนของลูก,หน้า 114.สำนักพิมพ์เอ็มไอเอส.กรุงเทพฯ.[ค้นคว้าเมื่อ 26 ตุลาคม 2560]