ปานในเด็กแรกเกิด แบบไหนหายได้เอง แบบต้องรักษา

23 December 2013
19703 view

ปานในเด็กแรกเกิด

ปานในเด็กแรกเกิด ปานเป็นอีกหนึ่งอาการที่พบในเด็กแรกเกิด และเป็นปัญหาหนักอกของคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย เนื่องจากเกรงว่าจะไม่สวยงามเมื่อมีปานบนร่างกายลูกน้อย วันนี้ เบบี้ทูทอล์ค ได้นำชนิดของปานมาแชร์ เพื่อเป็นความรู้แก้คุณพ่อคุณและ และลดภาวะเครียด เนื่องจาก ปานบางชนิดไม่ได้อันตรายอย่างที่คุณพ่อคุณแม่กังวลค่ะ


ปานในเด็กแรกเกิด ปานดำแต่กำเนิด (Congenital melanocytic nevus)

ลักษณะ : เมื่อแรกเกิดปานชนิดนี้ของเจ้าตัวเล็กอาจจะสีค่อนข้างแดง แต่ผ่านมาไม่กี่เดือน ปานจะเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลที่เข้มขึ้น (แต่ในทารกบางคนอาจเป็นสีดำเข้มหรือน้ำตาลเข้มตั้งแต่แรกเกิด) ขนาดของปานจะโตกว่าไฝธรรมดา อาจมีผิวเรียบหรือนูน ขรุขระ อาจมีขนอยู่บนปานดำด้วย ปานประเภทนี้ไม่มีอันตราย นอกจากในเรื่องความสวยงาม

Concern : หากปานมีขนาดใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์เพราะในอนาคตอาจกลายมะเร็ง

ปานในเด็กแรกเกิด ปานมองโกเลียน (Mongolian spot)

ลักษณะ : ปานชนิดนี้พบบ่อยมากที่สุดในปานชนิดที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด ลักษณะเป็นผื่นราบสีฟ้าเทา ฟ้าเข้ม หรือเขียว พบบริเวณก้น สะโพก บางครั้งก็อาจพบที่อื่น เช่น แขน ขา หลัง ไหล่ หนังศีรษะ เป็นต้น แต่ปานมองโกเลียจะค่อยๆ จางหายไปเองเมื่อลูกน้อยโตขึ้น

ปานในเด็กแรกเกิด ปานสตรอว์เบอรี่ (Strawberry nevus)

ลักษณะ : เป็นปานที่มีลักษณะเป็นตุ่มก้อนนูนสีแดงหรือม่วงเข้ม มักพบบริเวณใบหน้าและลำคอแรกๆ ที่ลูกเกิดจนถึงอายุประมาณ 1 ขวบปานจะโตเร็วมาก หลังจากนั้นสีจะม่วงคล้ำขึ้น และส่วนใหญ่ประมาณ 85% เมื่อลูกประมาณอายุ 7 ปีปานชนิดนี้จะหายเองจหมด เหลือเพียงแผลเป็นจางๆ

Concern : ถึงปานชนิดนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อโต แต่บางครั้งควรระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อ ถ้าเกิดแผล มีเลือดออกอาจติดเชื้อได้ ในกรณีที่ปานมีขนาดใหญ่มาก อาจเสี่ยงต่อการมีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเกิดเกร็ดเลือดต่ำ(เกิดจากปฏิกิริยาเกร็ดเลือดทำลายกันเอง) ซึ่งหากมีภาวะแทรกซ้อนควรรีบพาลูกพบแพทย์

ปานในเด็กแรกเกิด ปานแดงจากผนังเส้นเลือดผิดปกติ (Capillary malformation)

ลักษณะ : มักพบตั้งแต่แรกเกิด และจะอยู่ไปตลอดไม่จาง มักขึ้นอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปานชนิดนี้จะขยายขึ้นเรื่อยๆ ตามตัวของเด็กที่โตขึ้น รวมทั้งมีสีเข้มขึ้น นูนและขรุขระเพิ่มขึ้นตามอายุ

Concern : หากพบบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา อาจมาพร้อมกับความผิดปกติของตาและสมองลูก ควรรีบพาลูกพบคุณหมอค่ะ เพื่อตรวจอาการ

ปานในเด็กแรกเกิด ปานโอตะ (Nevus of Ota)

ลักษณะ : พบในเด็กแรกเกิดและบางรายอาจมาพบเมื่อตอนเป็นผู้ใหญ่ ลักษณะคล้ายปาน

มองโกเลียน คือมีสีเทาหรือน้ำเงิน มักพบบริเวณโหนกแก้มหรือขมับ แต่จะไม่จางหายไปได้เองเหมือนปานมองโกเลียน ปานโอตะไม่มีอันตรายเพราะจะไม่กลายเป็นมะเร็ง เมื่อเด็กโตขึ้นสามารถใช้เลเซอร์ในการรักษาได้ค่ะ

ปานในเด็กแรกเกิด รักษาได้หรือไม่

โดยส่วนใหญ่ ปานจะยุบหายเองได้เมื่อลูกโตขึ้น ไม่ต้องรักษาอะไร มีเพียงบางชนิดที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ต้องได้รับการรักษา หรือปาน ที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ชนิดต่างๆ ในผิวหนัง ที่ทำให้เห็น เป็นปาน กลายเป็นเนื้อร้ายหรือเป็นแผลเรื้อรัง สามารถขยายขนาดได้ อาจดูน่าเกลียด ต้องตัดทิ้งหรือเลือกวิธีอื่นๆ ในการรักษา โดยผ่าน ดุลยพินิจของคุณหมอ เช่น กินยากลุ่มสเตียรอยด์, ฉีดยาสเตียรอยด์ เข้าที่ปานชนิดนั้นๆ เพื่อให้ปานยุบลง, การจี้ด้วยไฟฟ้า หรือการใช้ แสงเลเซอร์ (นิยมวิธีนี้มากที่สุด เพราะได้ผลค่อนข้างดี)

ปานในเด็กแรกเกิด มีวิธีดูแลอย่างไร

ประเด็นที่แนะนำคือ สังเกตอาการผิดปกติของปาน เช่น มีอาการบวมแดง มีสีเปลี่ยนไป เข้มขึ้นหรือ สีไม่สม่ำเสมอ ขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผิวที่เคยเรียบ เกิดขรุขระ มีน้ำเหลืองซึม มีเลือดคั่ง มีอาการเจ็บ อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติ ควรพาลูก ไปพบคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอดูแลรักษาอาการ และสิ่งที่ ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ การรักษาปานเอง เช่น ใช้ธูป หรือน้ำกรดจี้ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นแผล ใหญ่กว่ารอยเดิมได้ค่ะ

เรียบเรียงโดย : พว.นฤมล   เปรมปราโมทย์เรียบเรียง
ขอบคุณข้อมูล : พญ.วิญญารัตน์ ตันศิริ
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต