ภาวะสูดสำลักขี้เทาเมื่อแรกคลอด กลุ่มอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นในเด็กแรกเกิด

08 March 2012
2997 view

ภาวะสูดสำลักขี้เทาเมื่อแรกคลอด

ภาวะสูดสำลักขี้เทาเมื่อแรกคลอด เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นในเด็กแรกเกิด จากการที่มีการสูดสำลักเอาขี้เทาของตนเองเข้าไปตั้งแต่ที่เด็กอยู่ในครรภ์ มารดา ตามปกติเด็กก็ควรจะถ่ายขี้เทาประมาณ 18-24 ชั่วโมง หลังคลอดซึ่งถือว่าปกติ

ภาวะสูดสำลักขี้เทาเมื่อแรกคลอด เกิดขึ้นได้อย่างไร

ภาวะสูดสำลักขี้เทา คือ อุจจาระของเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งโดยปกติเด็กจะสร้างเองได้ตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่ ตั้งแต่ประมาณช่วงเดือนที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ เด็กก็จะเริ่มสร้างขี้เทาออกมาในลำไส้ใหญ่อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะอยู่ในนั้น ไม่ได้สร้างเรื่องอะไรให้เกิดปัญหาตามมาจนกว่าจะมีภาวะบางอย่างที่เกิดปัญหาขึ้น

ภาวะสูดสำลักขี้เทาเมื่อแรกคลอด พบมากน้อยเพียงใด

ในประเทศไทยยังไม่มีการรวบรวมสถิติ จึงต้องใช้สถิติของต่างประเทศมาอ้างอิงอุบัติการณ์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการ เกิดภาวะสูดสำลักขี้เทา ทารกจะมีอุจจาระออกมาอยู่ในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่แรก และลักษณะอุจจาระนี้ที่เรียกว่าขี้เทา ซึ่งจะมีส่วนประกอบหลายอย่างที่ทำให้มีลักษณะ มันเหนียวเขียวจนเกือบจะดำ เราจึงเรียกว่าเป็นขี้เทา ซึ่งจะมีตั้งแต่ไขของตัวเด็กเอง หรือเป็นขนอ่อน ๆ ของตัวเด็กเอง น้ำคร่ำ หรืออะไรที่ปนอยู่ด้วยกัน ถ้าเด็กอยู่ในครรภ์มารดาแล้วไม่มีปัญหาอะไรระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีการถ่ายขี้เทาตัวนี้ออก หรือว่าเด็กบางคนหรือการตั้งครรภ์ของคนที่มีปัญหา ก็อาจจะทำให้เด็กถ่ายอุจจาระนี้ออกมาปะปนอยู่ในน้ำคร่ำ อุบัติการณ์ของน้ำคร่ำของคุณแม่มีขี้เทาปน พบได้ประมาณร้อยละ12-13 ในสถิติของต่างประเทศ และจากเด็กที่มีน้ำคร่ำนี้อยู่ในขณะที่ตั้งครรภ์พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ที่อาจจะมีภาวะสูดสำลักขี้เทานี้เข้าไป

ภาวะสูดสำลักขี้เทาเมื่อแรกคลอด มีสาเหตุเกิดจาก

การที่เด็กทารกที่อยู่ในครรภ์ถ่ายขี้เทาออกมาก่อนกำหนด ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงทารก ผ่านสายสะดือแม่น้อยลงหรือการที่คุณแม่มีโรคประจำตัว ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้มีหลายสาเหตุ เช่น ในคุณแม่ที่อาจจะพบปัญหาจากการเจ็บป่วยบางอย่างที่มีผลกระทบไปยังการไหล เวียนของเลือดที่ไปที่ลูกก็จะไปกระตุ้นให้มีภาวะนี้เกิดขึ้นได้

ภาวะสูดสำลักขี้เทาเมื่อแรกคลอด อันตรายหรือไม่

เมื่อเด็กมีภาวะสูดสำลักขี้เทา ผลที่กระทบเมื่อเด็กทารกมีอายุครรภ์มากขึ้น คือ มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบไหลเวียนเลือด เด็กจะมีอาการหายใจหอบ เหนื่อย หายใจไม่สะดวก คือจะมีลักษณะเหมือนปอดอักเสบ เพราะว่าตัวขี้เทานี้มีลักษณะเหนียวมาก ถ้าเด็กสูดสำลักเข้าไปแล้ว โอกาสที่จะไปอุดตันทางเดินหายใจ ถุงลมเล็ก ๆ หรือระดับที่ลึกลงไปเรื่อย ๆ ในปอด ก็ค่อนข้างจะอันตราย ซึ่งถ้าอุดเต็มที่อากาศไม่ผ่านเลย ปอดส่วนนั้นก็จะมีปัญหาการแลกเปลี่ยนก๊าซ แต่ในบางส่วนที่อาจจะอุดไม่เต็ม 100% คือ อากาศจะผ่านเข้าได้ แต่มักจะออกไม่ได้ ก็เหมือนกับว่าทำให้มีปอดโป่งพองออก เช่น ปอดบางส่วนอาจมีส่วนแฟบบ้าง บางส่วนโป่งพองบ้าง หลังจากนั้นก็จะมีการอักเสบของเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งมีผลทำให้เด็กหายใจหอบหลังคลอด ถ้าเป็นมาก ๆ บางครั้งก็จะทำให้เด็กขาดออกซิเจน แล้วก็จะไปกระทบต่อการไหลเวียนเลือดไปอีกต่อหนึ่ง

ภาวะสูดสำลักขี้เทาเมื่อแรกคลอด สามารถทราบล่วงหน้าได้หรือไม่

การตรวจสอบว่ามีขี้เทาปนอยู่ในน้ำคร่ำหรือไม่ อาจจะยากเพราะส่วนใหญ่คุณแม่ที่จะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องว่า คุณแม่มีน้ำเดินก่อนคลอด แล้วพอแพทย์ตรวจก็จะพบว่า น้ำคร่ำที่มีลักษณะเหมือนขี้เทาปน การที่แพทย์จะไปเจาะน้ำคร่ำ เพื่อเป็นการตรวจว่ามีขี้เทาปนหรือไม่ จะต้องมีข้อบ่งชี้ที่สำคัญ เพราะการที่จะไปเจาะถุงน้ำ จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคลอดอย่างหนึ่ง ถ้าเวลาไม่เหมาะสม ก็คือว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถเจาะถุงน้ำคร่ำได้ ก็คงไม่มีโอกาสทราบว่ามีน้ำคร่ำที่ปนขี้เทาหรือไม่ เพียงแต่ว่าในรายที่มีการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ โดยทั่วไปแพทย์จะประเมินสภาพเด็กในครรภ์ เพราะว่าภาวะในการที่เด็กทารกมีการถ่ายขี้เทาออกมา มักจะมีปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ อย่างทีทำให้มีการขาดเลือดไปเลี้ยงทารก บางครั้งเราได้ทราบสาเหตุแต่เด็กบางรายอาจจะแสดงอาการก่อนคลอด เช่น การเต้นของหัวใจผิดปกติ เต้นช้าลง เต้นเร็วขึ้น ในช่วงที่มีการเข้าสู่ระยะของการคลอด อันนี้จะเป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่าเด็กจะมีอะไรที่เตือนให้เราทราบว่าตอนนี้ เด็กมีปัญหา แพทย์ก็จะต้องมีการประเมินเป็นระยะ มีการวางแผนว่าควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อดูแลให้เด็กดีขึ้น

ภาวะสูดสำลักขี้เทาเมื่อแรกคลอด มีวิธีการรักษาอย่างไร

เริ่มตั้งแต่เราทราบว่าทารกคนนี้มีการถ่ายขี้เทาออกมา เช่น มีน้ำเดินและทราบตำแหน่ง หรือทราบในระหว่างที่ทำการคลอด สูติแพทย์จะมีการช่วยเหลือให้สภาพของคุณแม่ดีขึ้น ตั้งแต่ระยะที่การคลอด เริ่มให้ออกซิเจนเมื่อเด็กจะคลอดออกมาโดยสมบูรณ์ทั้งตัวแพทย์จะทำการดูดน้ำ คร่ำที่ปนเปื้อนขี้เทา ที่อาจจะค้างอยู่ในช่องปากของเด็กหรือลำคอของเด็กออกมาด้วยลูกยางหรือสายยาง ก่อนที่เด็กคลอดตัวออกมาชัดเจน เพื่อไม่ให้เด็กสูดสำลักมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ภาวะนี้รุนแรงขึ้น เมื่อเด็กคลอดออกมาชัดเจน เพื่อไม่ให้เด็กสูดสำลักเข้ามามากขึ้น เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว แพทย์จะประเมินสภาพเด็กว่า มีอาการของภาวะสูดสำลักขี้เทาหรือไม่ เช่น เด็กอาจจะมีอาการหายใจผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย ก็จะถ่ายภาพเอกซ์เรย์หรือถ่ายภาพรังสีปอดเพื่อให้การรักษาต่อไป

ภาวะสูดสำลักขี้เทาเมื่อแรกคลอด มีระยะเวลาในการรักษามากน้อยเพียงใด

หากอาการไม่รุนแรง คือมีอาการหายใจลำบากแต่อาการดีขึ้นเมื่อเราให้ออกซิเจนเพิ่มขึ้น โดยที่เด็กอาจจะไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ก็ประมาณ 7-10 วัน เพราะบางครั้งแพทย์อาจจะต้องมีการประเมินว่าทำไมจึงมีอาการสูดสำลัก เพราะอาจจะมีอาการติดเชื้อแอบแฝงอยู่ ควรจะต้องให้ยาปฏิชีวนะด้วย แต่ในอีกกลุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่รุนแรงมากขึ้น ในกลุ่มนี้เมื่อภาวะตัวขี้เทาไปอุดกั้นทำอันตรายมากขึ้น เด็กก็อาจจะไม่สามารถหายใจด้วยตนเองได้เพียงพอ ในกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งมักจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเรียกว่า ต้องอยู่ในหออภิบาลของทารกแรกเกิด เพื่อมีการดูแลอย่างใกล้ชิดมาก ๆ ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา หรือถ้าเกิดมีภาวะแทรกซ้อนของระบบไหลเวียนเลือดค่อนข้างมาก บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลานานในการรักษา ซึ่งอาจจะเกินสัปดาห์ขึ้นไป

ภาวะสูดสำลักขี้เทาเมื่อแรกคลอด มีผลแทรกซ้อนหรือไม่

ผลแทรกซ้อนต่าง ๆ จะอยู่กับสาเหตุว่าทำไมเด็กมีอาการถ่ายขี้เทา ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ไม่ทราบอะไรเลยว่าทำไมเด็กต้องถ่ายขี้เทาออกมา เราอาจจะประเมินคร่าว ๆ จากสภาพเด็กที่ออกมาในครั้งแรกว่าเด็กขาดออกซิเจนมากน้อยเพียงใด ถ้าขาดออกซิเจนมาก แพทย์จำเป็นต้องบอกให้คุณพ่อ คุณแม่ว่าโอกาสที่จะมีภาวะแทรกซ้อนระยะยาว ก็คงมีบ้าง เช่น สติปัญญา คงต้องติดตามเป็นระยะ ๆ ในรายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย ต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงและจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจค่อนข้างสูง ก็อาจจะมีผลแทรกซ้อนต่อระบบการทำงานของการหายใจ คือสมรรถภาพของปอดที่ต่อเนื่องมาได้เหมือนกัน

คุณแม่ควรมาตรวจครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อให้สูติแพทย์ได้ดูแลตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ถ้ามีปัญหาหรือมีอาการผิดปกติอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ จะได้มีการวางแผนล่วงหน้าและอาจจะมีการช่วยเหลือเพื่อลดความรุนแรงให้น้อยลง เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การฝากครรภ์และมาตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ด้วยรักและห่วงใย Mamaexpert.

บทความแนะนำเพิ่มเติม :

1.ความแตกต่างระหว่างเจ็บครรภ์เตือนและเจ็บครรภ์จริง

2.ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์บอกอะไรแม่ท้องต้องระวัง

3.เจ็บหัวหน่าวขณะตั้งครรภ์ รักษาอย่างไรดี

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.si.mahidol.ac.th