การฝึก การนอนของเด็กวัย 19 – 21 เดือน

19 February 2012
4718 view

การนอนของเด็กวัย 19 – 21 เดือน

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

การนอนของเด็กวัย 19 – 21 เดือน ในช่วงนี้ลูกควรจะนอนประมาณคืนละ 11 ถึง 12 ชั่วโมงและนอนช่วงบ่ายประมาณ 1.5 ถึง 3 ชั่วโมงทุกวันค่ะ เด็กบางคนจะยังคงติดการนอนหลับในช่วงกลางวัน วันละสองครั้งไปจนถึงอายุสองขวบเต็ม ซึ่งถ้าลูกน้อยของคุณเป็นอย่างนั้น ก็อย่าไปฝืนเขานะคะ

การสร้างสุขนิสัยการนอนของเด็กวัย 19 – 21 เดือน

  1. ปรับนิสัยการนอนที่ไม่ดี เพื่อฝึกให้น้องหัดนอนหลับได้ด้วยตัวเอง เมื่อถึงวัยนี้ ลูกน้อยควรจะสามารถหลับได้เองในตอนกลางคืนโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องคอยไกวเปลให้ ป้อนนม หรือเล่านิทานกล่อมแล้วค่ะ เพราะถ้าลูกน้อยยังต้องพึ่งสิ่งเหล่านี้ในการทำให้หลับน้องจะไม่สามารถหลับเองได้ถ้าบังเอิญตื่นขึ้นมาในตอนกลางดึก เพื่อเป็นการป้องกันปัญหา คุณพ่อคุณแม่ควรเอาน้องเข้านอนตั้งแต่ตอนเขาเริ่มง่วงแต่ยังไม่หลับนะคะ น้องจะได้นอนหลับได้ด้วยตัวเอง
  2. การให้ลูกน้อยมีส่วนในการเลือกข้อเสนอในช่วงตอนก่อนนอน ลูกน้อยในวัยหัดเดินมักจะเริ่มอยากสำรวจ ทดสอบขอบเขตใหม่ของเขา และอยากมีบทบาทในโลกใบน้อยๆ รอบตัวเขามากขึ้นค่ะ  เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้องดื้อไม่ยอมนอน ลองให้เขามีโอกาสที่จะได้เลือกทำและตัดสินใจในบางสิ่งบางอย่างในช่วงก่อนเข้านอนดูนะคะ เช่นเลือกนิทานก่อนนอนเรื่องที่อยากฟัง หรือเลือกชุดนอนที่เขาอยากใส่เป็นต้นค่ะ เคล็ดลับก็คือ จำกัดตัวเลือกไว้ที่สองถึงสามอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ยอมรับได้กับในแต่ละตัวเลือกเช่น ไม่ควรถามน้องว่า “อยากเข้านอนรึยังจ๊ะ?”  เพราะเขาจะต้องไม่ยอมเข้านอนแน่ๆ ซึ่งไม่ป็นการดีแน่ คุณพ่อคุณแม่ควรถามว่า “ลูกอยากจะเข้านอนตอนนี้เลยไหม หรือจะรออีกสักห้านาทีแล้วค่อยไปนอน?” ซึ่งไม่ว่าหนูน้อยจะเลือกคำตอบใด ก็จะต้องเข้านอนแน่นอนค่ะ

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พึงระวังกับการนอนของเด็กวัย 19 – 21 เดือน

ปัญหาหลักๆ สองข้อเกี่ยวกับการนอนที่พบในเด็กวัยนี้คือ การนอนหลับเองได้ยากและการตื่นช่วงกลางดึกบ่อยๆ ลูกน้อยในวัยนี้จะเริ่มพยายามปีนออกจากเตียงซึ่งลูกมีโอกาสปีนแล้วตกลงมาแล้วได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้แปลว่าเขาพร้อมที่จะนอนเตียงใหญ่แล้วนะคะ  ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนมีคำแนะนำเพื่อช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัยและอยู่กับเตียงไม่ไปไหน ดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. ปรับฟูกที่นอนให้ต่ำลง : การปรับระดับฟูกที่นอนลงไปให้ต่ำสุด จะทำให้ที่กั้นเตียงสูงขึ้นซึ่งจะช่วยกันไม่ให้น้องปีนออกมาได้คะ แต่วิธีนี้จะใช้ไม่ได้ผลถ้าน้องเริ่มโตขึ้น
  2. เก็บของไม่จำเป็นออกจากเตียงนอน : น้องอาจใช้ของเล่นหรือเบาะกั้นเตียงเป็นบันไดช่วยในการปีนออกจากเตียงนอนได้ค่ะ แนะนำให้เอาของต่างๆเหล่านี้ออกไปจากเตียงนอนเพื่อให้น้องสามารถใช้เตียงในการนอนได้นานขึ้น
  3. อย่าปล่อยให้การที่ลูกกระโดดบนเตียงนอนมาเป็นเครื่องมือในการต่อรอง : การที่ลูกน้อยกระโดดไปมาในเตียงแล้วได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่หรือคุณพ่อคุณแม่ยอมพาลูกมานอนด้วย น้องเขาก็จะทำอย่างนั้นอีก  คุณพ่อคุณแม่ควรทำเฉยๆ นิ่งๆ ไว้ค่ะแล้วบอกน้องอย่างหนักแน่นว่าอย่าปีนออกมา แล้วอุ้มน้องไปไว้ในเตียงตามเดิม เขาก็จะเข้าใจได้ค่อนข้างรวดเร็วค่ะ
  4. การใช้ที่ครอบเตียง : ที่ครอบเตียงมีจำหน่ายทั่วไปค่ะซึ่งจะมีแถบติดไว้กับรางกั้นช่วยกันให้น้องอยู่ข้างในเตียงอย่างปลอดภัย
  5. หมั่นคอยตรวจเช็คลูกบ่อยๆ : คุณพ่อคุณแม่ควรคอยตรวจเช็คดูลูกน้อยโดยอย่าให้น้องเห็นคุณพ่อคุณแม่นะคะ ถ้าน้องพยายามที่จะปีนออกมา คุณพ่อคุณแม่ควรจะเข้าไปห้ามในทันที หลังจากทำอย่างนี้ได้สองสามครั้งแล้ว น้องก็จะเรียนรู้ว่าควรจะอยู่ในเตียงนอนค่ะ
  6. ดูแลสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย : ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถกันไม่ให้ลูกน้อยปีนออกมาจากเตียงได้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องระวังให้เขาปลอดภัยนะคะ โดยการวางหมอนหรือเบาะนุ่มๆ ไว้บนพื้นทั้งบริเวณใต้เตียงและรอบๆ เตียง รวมทั้งรอบๆ หีบใส่ของเล่น ตู้เสื้อผ้า โต๊ะ และสิ่งของอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดการกระแทกอย่างรุนแรงได้ ถ้าน้องไม่ยอมเลิกปีน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรยกรางกั้นของเตียงลงและวางเก้าอี้เล็กๆไว้เพื่อให้น้องลงมาเองได้ อย่างน้อยคุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่ต้องห่วงว่าน้องจะตกลงมาจนเจ็บตัวค่ะ

การพาเด็กเข้านอนแต่หัวค่ำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เด็กนอนได้เพียงพอตามความต้องการของร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ หน่วยความจำในสมองและเซลล์ประสาทก็ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้และจดจำได้มากขึ้นตามไปด้วยค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. 10เทคนิคปรับพฤติกรรมเบบี๋หลับยาก

2. เด็กควรนอนวันละกี่ชั่วโมง คุณแม่ควรรู้

3. ท่านอนเด็กที่ปลอดภัย

 เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team