พัฒนาการเด็ก 31–36 เดือน และเทคนิคกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม

13 February 2018
5092 view

พัฒนาการเด็ก 31–36 เดือน

เด็กวัย 31-36 เดือน เป็นเด็กวัยก่อนอนุบาล ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ในด้านต่างๆ เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เรียนรู้การรับประทานอาหาร เรียนรู้ทักษะทางสังคมในการติดต่อสื่อสารกับคนรอบข้างที่อยู่รอบตัวเด็ก เด็กในวัยนี้ควรได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นพื้นฐานที่ดีในการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อก้าวเข้าสู่วัยอนุบาลต่อไป

พัฒนาการเด็ก 31 – 36 เดือน ด้านการเคลื่อนไหว

พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็กวัย 31-36 เดือน เด็กจะสามารถเดินขึ้นบันไดสลับเท้าได้เอง โดยมีผู้ปกครองดูเเลอย่างใกล้ชิด มีวิธีการกระตุ้นพัฒนาการ ดังนี้

  1. ผู้ปกครองจับมือข้างหนึ่งของเด็กไว้ขณะที่มือเด็กอีกข้างเกาะราวบันได
  2. ผู้ปกครองจูงเด็กขึ้นบันไดหลายๆ ครั้ง ขณะที่จูงขึ้นให้พูดคุยเพื่อให้กำลังใจเด็กไปด้วยเป็นการเสริมเเรง
  3. เมื่อเด็กก้าวขึ้นบันไดได้ดีขึ้นหรือเริ่มคล่องตัวขึ้น ให้ผู้ปกครองลดการช่วยเหลือโดยเปลี่ยนไปเป็นประคองเด็กจากด้านหลัง และเดินตามหลังเด็กขึ้นไป จนเด็กสามารถเดินขึ้นบันไดได้เอง

วิธีกระตุ้นพัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวยังมีอีกหลายกิจกรรม ที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว คุณพ่อคุณเเม่อาจพาลูกน้อยทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น เล่นปีนป่ายเครื่องเล่นสนามเด็กเล่น หรือฝึกทักษะเฉพาะ เช่น ให้ลูกยืนขาเดียว ขี่จักรยาน เป็นต้น โดยมีคุณพ่อคุณเเม่ดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด

พัฒนาการเด็ก 31 – 36 เดือนด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา

เด็กวัย 31-36 เดือน จะสามารถหยิบของชิ้นเล็กๆได้ จับดินสอแท่งใหญ่ๆได้ เเต่ยังอาจไม่คล่อง จึงต้องได้รับการกระตุ้นในด้านการใช้กล้ามเนื้อให้พัฒนาการเพิ่มขึ้นเเละเหมาะสมกับวัยเพื่อก้าวเข้าสู่วัยอนุบาล เทคนิคการกระตุ้นพัฒนาการครั้งนี้จะทำให้เด็กสามารถเลียนแบบลากเส้นเป็นวงต่อเนื่องกัน สิ่งที่ผู้ปกครองต้องเตรียม สีเทียน กระดาษสำหรับวาดรูป มีวีธีกระตุ้นดังนี้

  1. ผู้ปกครองนำสีเทียน มาลากเส้นเป็นวงต่อเนื่องกันให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง
  2. ให้เด็กหยิบสีเทียนและพูดว่า “(ชื่อเด็ก)..หยิบสี และลากเส้นแบบนี้ดูซิ”
  3. ถ้าเด็กทําไม่ได้ให้ผู้ปกครองช่วยจับมือเด็กลากเส้นเป็นวงต่อเนื่อง
  4. ให้เด็กเลือกใช้สีที่แตกต่างกันเพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก เมื่อเด็กเริ่มทําเองได้ ก็ให้เด็กขีดเขียนอย่างอิสระ หรือตามความสามารถของเด็ก

พัฒนาการเด็ก 31 – 36 เดือน ด้านการเข้าใจภาษา

พัฒนาการด้านการเข้าใจภาษาหรือการสื่อสารของเด็กวัย 31-36 เดือน เด็กจะเริ่มเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เด็กเห็นที่เด็กสนใจได้ เเต่ประโยคอาจจะติดขัดหรือสลับตำเเหน่งกันบ้าง บอกเวลาต้องการขับถ่ายได้ บอกชื่อตนเองได้ เป็นต้น

การฝึกนี้จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กด้านการเข้าใจภาษาให้มากยิ่งขึ้น โดยทักษะที่เด็กจะได้รับคือ เด็กสามารถนำวัตถุ 2 ชนิด ในห้อง มาให้ได้ตามคําสั่งได้ อุปกรณ์ที่ผู้ปกครองต้องเตรียม ลูกบอล ตุ๊กตาผ้า หวี ถ้วย กระจก แปรงสีฟัน มีวีธีการดังนี้

ผู้ปกครองเล่นเกมซ่อนหากับเด็ก

  1. ผู้ปกครองวางของเล่นทั้ง 6 ชิ้น ไว้ตรงหน้าเด็ก เเล้วชี้ของเล่นพร้อมบอกชื่อสิ่งของให้เด็กรู้จักทีละชิ้น
  2. บอกเด็กว่าวันนี้เราจะมาเล่นเกมซ่อนหากัน แล้วให้เด็กหลับตาหรือใช้มือปิดตาไว้
  3. ผู้ปกครองนำของทั้ง 6 ชิ้น ไปวางไว้ที่จุดต่างๆภายในห้อง ที่เด็กสามารถมองเห็นหรือค้นหาได้ง่ายๆ
  4. ให้เด็กไปหาและหยิบของมาให้ทีละ 2 ชิ้น โดยใช้คําสั่ง “(ชื่อเด็ก) หยิบ........ และ.......มาให้แม่”
  5. ถ้าเด็กหยิบไม่ถูกให้ผู้ปกครองชี้บอกหรือจูงมือเด็กพาไปหยิบ
  6. ทําซํ้าจนเด็กสามารถหยิบของได้ถูกต้อง

คุณพ่อคุณเเม่ควรฝึกให้ลูกพูดคุยเล่าเรื่อง จากเรื่องรอบตัวง่ายๆผ่านการตั้งคำถาม เช่น “วันนี้หนูทานข้าวกับอะไร” พูดคุยเกี่ยวกับตัวเด็กอาจใช้ตัวเด็กเองหรือเด็กคนอื่นในวัยเดียวกันรอบตัว เป็นสื่อในการพูดคุย เช่น ชื่อ อายุ เพศ เป็นต้น กระตุ้นให้ลูกสื่อสารด้วยการพูด เพื่อพัฒนาการด้านการเข้าใจภาษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พัฒนาการเด็ก 31 – 36 เดือน ด้านการช่วยเหลือตัวเองเเละสังคม

กระตุ้นพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตัวเองเเละสังคม การฝึกทักษะนี้จะทำให้เด็กสามารถใส่กางเกงได้เอง ผู้ปกครองเริ่มฝึกเด็กโดยใช้กางเกงขาสั้นเอวยืด มีขั้นตอนดังนี้

  1. ผู้ปกครองสอนให้เด็กรู้จักด้านนอกหรือด้านใน ด้านหน้าหรือด้านหลังของกางเกง
  2. จัดให้เด็กนั่ง ผู้ปกครองจับมือเด็กทั้ง 2 ข้าง จับที่ขอบกางเกง และดึงขอบกางเกงออกให้กว้าง สอดขาเข้าไปในกางเกงทีละข้าง จนชายกางเกงพ้นข้อเท้า
  3. ให้เด็กยืนขึ้น ผู้ปกครองจับมือเด็กดึงขอบกางเกงให้ถึงระดับเอว
  4. ถ้าเด็กเริ่มทําได้ให้ลดการช่วยเหลือ ลงทีละขั้นตอนและปล่อยให้เด็กทําเอง

บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของพ่อเเม่  คือกระตุ้นพัฒนาการตามวัยของลูกน้อยผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เปิดโอกาสให้ลูกเลียนแบบกิจกรรม กิจวัตรประจำวัน ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง เช่น การกินอาหาร การอาบน้ำ แต่งตัว  เเละเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาการของลูกน้อยที่เหมาะสมตามวัย

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. 7 ไม่ ... ที่ดีต่อใจแม่ แต่อาจไม่ดีต่อใจลูก

2. วิธีรับมื่อเมื่อลูกร้องกลางดึก

3. วิธีที่ช่วยให้ลูกคุณแม่หลับง่ายกว่าที่เคย

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :
1. สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง.เข้าถึงได้จาก http://thaichilddevelopment.com/31-36month.php.[ค้นคว้าเมื่อ 29กันยายน 2560]
2. Your Baby's Development pre-schooler (ages 2 to 4).เข้าถึงได้จาก. https://goo.gl/ndkMq4.[ค้นคว้าเมื่อ 29 กันยายน 2560]
3.Development stages Pre-schooler 2-4 years.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/t2bd8R .[ค้นคว้าเมื่อ 29 กันยายน 2560]