การขับถ่ายของทารก และการแก้ไขหากลูกขับถ่ายผิดปกติ

18 November 2017
130883 view

การขับถ่ายของทารก

คุณแม่เรียนรู้การขับถ่ายของทารก

ทารกเเรกเกิด อายุ 1วัน 1สัปดาห์ 1 เดือนและ 1 ปี ย่อมมีการขับถ่ายที่แตกกต่างกันออกไป แปรผันตามกระบวนการทำงานของระบบขับถ่ายและสารอาหารที่ได้รับในแต่ละช่วงวัยการเจริญเติบโต  การขับถ่ายที่ปกติเป็นอย่างไร รายละเอียดมาดูกันค่ะ

การขับถ่ายของทารก 1 วันขึ้นไป 

เมื่อแรกคลอดอายุ 1 – 48 ชั่วโมงเด็กอาจไม่มีการขับถ่ายอะไรออกมาเลย หรืออาจมีเพียงปัสสาวะ น่ั่นไม่ใช่ภาวะผิดปกติแต่อย่างใด หากมีการขับถ่ายเกิดขึ้น จะเรียกว่า ถ่ายขี้เทา ขี้เทา หรือ Meconium เป็นอุจจาระครั้งแรกสุดของทารก ซึ่งไม่เหมือนกับการอุจจาระในภายหลัง ขี้เทาประกอบด้วยสสารที่ถูกย่อยระหว่างที่ทารกใช้ชีวิตอยู่ในมดลูก โดยมีทั้งเซลล์ผนังลำไส้เล็ก ขนอ่อน เมือก น้ำคร่ำ น้ำดีและน้ำ ขี้เทาแทบปราศจากเชื้อโรค ไม่เหมือนกับอุจจาระครั้งหลัง คือ จะหนืดและเหนียวเหมือนกับน้ำมันดิน และไม่มีกลิ่น ทารกควรถ่ายขี้เทาออกมาในช่วงไม่กี่วันแรกของชีวิต และหลังจากนั้นอุจจาระจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

การขับถ่ายของทารก 1 สัปดาห์ ขึ้นไป 

การขับขึ้เทาผ่านไปเรียบร้อย ต่อมาเข้าสู่การขับถ่ายปกติแล้ว คุณแม่สังเกตได้ว่าลูกจะถ่ายออกสีเหลือง เหลืองปนเขียว หรือสีเขียว มีจุดๆคล้ายเม็ดมะเขือปน ล้วนแล้วแต่เป็นการขับถ่ายที่ปกติทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่า ดื่มนมแม่ หรือนมผง สีของอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปตามนมที่ดื่มด้วย ในช่วง 1 สัปดาห์แรกการขับถ่ายจะบ่อย 5 - 12 ครั้ง จำนวนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการดื่มนมด้วย จำนวนครั้งจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น

การขับถ่ายของทารก 1 เดือนขึ้นไป 

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัย 1 เดือนการขับถ่ายจะลดลงมาก เหลือวันละ 1 ครั้งเท่านั้นหรือ 2 ครั้ง ในเด็กที่ดื่มนมแม่อย่างเดียว เมื่ออายุมากขึ้นการย่อยและการดูดซึมดีขึ้น อาจทำให้ไม่ถ่ายทุกวัน บางคนนาน ถึง10 วันเลยทีเดียว หากลูกดื่มนมแม่ไม่ถ่ายหลายวันติดต่อกันอย่าตกใจเพราะนมแม่นั้นโมเลกุลเล็กทำให้ย่อยง่ายและลำไส้ดูดซึมได้เกือบทั้งหมด จนไม่เหลือเป็นกากให้ขับถ่ายออกมา ในเด็กที่ดื่มนมผง อาจมีปัญหาไม่ถ่ายได้ด้วยเช่นกัน ปกติ ไม่ถ่าย 2 วันยังไม่ต้องพบแพทย์แต่อย่างใด เว้นแต่กรณีไม่ถ่ายแล้วมีอาการท้องอืด ปวดแต่เบ่งไม่ออก กรณีนี้ต้องพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด

การขับถ่ายของเด็ก 1 ปี

อายุครบ 1 ปี การขับถ่ายเริ่มเหมือนวัยผู้ใหญ่แล้ว เด็กวัยนี้หากพูดได้เเล้วเหมาะที่จะฝึกการขับถ่ายโดยนั่งกระโถนหรือเข้าห้องน้ำได้แล้ว แต่ถ้าเด็กยังไม่พร้อมไม่ควรฝืนเด็ก 1 ปี จะขับถ่ายวันละ 1 ครั้ง แนะนำให้ฝึกช่วงเวลาเช้า ปัญหาที่พบในเรื่องการขับถ่ายคือ ท้องผูกและท้องเสีย เนื่องจากเป็นวัยที่ได้รับอาหารที่หลากหลายมากขึ้น จึงมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหารและการขับถ่ายได้ดังนี้

แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย คุณแม่ลองสังเกตอึลูก แล้วเช็กการขับถ่ายของลูกดูนะคะ หากผิดปกติ จะได้หาวิธีแก้ไขได้ทันที มาเช็กกันเลย

ปัญหาการขับถ่ายของทารกที่พบบ่อย 

ปัญหาท้องผูก

อายุที่มักจะท้องผูกมากที่สุดคือประมาณ 6 เดือน – 4 ปี ซึ่งสาเหตุแตกต่างกันไป และการท้องผูกมักเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น เด็กบางคนถูกฝึกให้ขับถ่ายเร็วเกินไป แต่ยังไม่พร้อมที่จะขับถ่ายเอง ไม่ชอบกินผักและผลไม้ และที่พบบ่อยในช่วงวัยอนุบาลคือห่วงเล่นและกลั้นอุจจาระเป็นนิสัย เป็นต้น แต่ก็ยังมีเด็กอีกส่วนน้อยที่มีอาการท้องผูกจากโรคร้ายแรง เช่น โรคลำไส้ใหญ่ส่วนปลายไม่มีปมประสาท โรคของไขสันหลัง โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย เป็นต้น

  1. ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ หรืออาจถ่ายทุกวันแต่ต้องเบ่งมาก
  2. อุจจาระแข็ง อาจจะเป็นก้อนเล็กๆ คล้ายลูกกระสุนปืนอัดลม หรือก้อนใหญ่ๆ ที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดมากเวลาเบ่งถ่าย
  3. บางครั้งจะมีเลือดติดออกมาด้วยเพราะรูทวารฉีกขาด ทำให้ลูกจะรู้สึกกลัวการถ่ายอุจจาระจึงพยายามกลั้นเอาไว้ จนทำให้อุจจาระยิ่งมีขนาดใหญ่และแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มความเจ็บปวดในการขับถ่ายแต่ละครั้ง

วิธีแก้ปัญท้องผูกในเด็ก

  • ให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ เช่น ลูกอายุน้อยกว่า 6 เดือนควรดื่มน้ำประมาณวันละ 4 ออนซ์ การผสมนมต้องเติมน้ำให้ถูกอัตราส่วน แต่ถ้าลูกอายุมากกว่า 6 เดือนอาจให้น้ำผลไม้ในปริมาณที่พอเหมาะ
  •  ให้ลูกมีเวลานั่งถ่ายประมาณ 10-15 นาที ซึ่งช่วงเวลาที่ดีและเหมาะสำหรับนั่งถ่ายคือ หลังกินอาหารเสร็จสักพัก เพราะหลังกินอาหารจะมีการกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัว และอาจช่วยให้ก้อนอุจจาระเคลื่อนผ่านออกมาง่ายขึ้น เวลานั่งถ่ายไม่ควรให้ลูกเล่นของเล่น เพราะเขาจะไม่ตั้งใจหรือพยายามเบ่งถ่ายอุจจาระ

ปัญหาท้องเสียถ่ายเหลว 

อย่างไรถึงจะเรียกว่าถ่ายเหลวหรือถ่ายท้องเสีย คุณแม่ทราบได้จากการขับถ่ายที่เป็นน้ำมากกว่าเนื้อ ถ่ายมีกลิ่นเหม็นคล้ายกุ้งเน่า ปลาเน่า จำนวนมากว่า 4 ครั้งติดต่อกัน ใน 1 วันแนะนำให้พบแพทย์ ไม่ควรรอ เพราะเด็กสูญเสี่ยน้ำจากการถ่ายเหลวอาจช็อคได้

วิธีแก้ไข ป้องกัน ปัญหาท้องเสียในเด็ก

  • ดูแลให้ได้รับวัคซีนโรต้า ป้องกันไวรัสโรต้าที่เป็นปัญหาเรื่องท้องเสีย
  • ฝึกให้เด็กล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร เพราะเชื้อโรคเข้าสู่เด็กมากที่สุดคือทางปาก
  • ให้ลูกรับประทานอาหารที่สดใหม่ และปรุงสุก
  • หากมีอาการถ่ายเหลว ให้งดผัก ผลไม้ทันที

การขับถ่ายของเด็กๆเป็นเรื่องคุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจเนื่องจาก การขับถ่ายสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพลูกเบื้องต้น หากลูกมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายควรปรึกษากุมารแพทย์ อย่างใกล้ชิด ไม่ควรสวนอุจจาระเอง หรือซื้อยารับประทานเอง เพราะลูกอาจได้รับยาในขนาดที่ไม่เหมาะสมเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. ฝึกนั่งกระโถนอย่างไรลูกไม่เครียด

2. ฝึกการขับถ่ายให้ลูกอย่างไรดี เริ่มเมื่อไหร่

3. แบบไหนที่เรียกว่าลูกขับถ่ายผิดปกติ คุณแม่มือใหม่อาจไม่รู้

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team