โรคไส้เลื่อนในเด็ก วิธีสังเกตไส้เลื่อนในเด็ก ลูกสาวก็เป็นไส้เลือนได้

17 May 2014
29710 view

โรคไส้เลื่อนในเด็ก

โรคไส้เลื่อนในเด็ก คุณพ่อคุณแม่หลายคนมักจะเข้าใจว่าโรคไส้เลื่อนนั้นเกิดขึ้นได้เฉพาะกับเด็กผู้ชายเท่านั้น แต่ทราบไหมว่าแท้จริงแล้วโรคไส้เลื่อนนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กผู้หญิงได้เช่นเดียวกัน มาทำความรู้จักและวิธีรักษาโรคไส้เลื่อนในเด็กกันค่ะ

โรคไส้เลื่อนในเด็ก มีสาเหตุเกิดจาก

โรคไส้เลื่อนในเด็กเป็นอาการที่มีก้อนตุงบริเวณขาหนีบและถุงอัณฑะในเด็ก ซึ่งทำให้เกิดโรคสองกลุ่ม คือ โรคไส้เลื่อน และ โรคถุงน้ำ และสามารถเกิดได้ทั้งในเด็กชายและเด็กหญิง โรคทั้งสองกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากถุงเยื่อบุช่องท้องที่ยื่นออกมาบริเวณขาหนีบ ไม่ปิดเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กผู้ชายเพราะถุงเยื่อบุช่องท้องนี้จะยืดยาวลงมาถึงถุง อัณฑะ ขณะที่เด็กผู้หญิงจะลงมาถึงหัวเหน่าเท่านั้น ซึ่งถ้าถุงเยื่อบุช่องท้องนี้ไม่ปิดไปตามธรรมชาติ ก็จะเกิดการผิดปกติขึ้นได้ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย โดยลักษณะของความผิดปกตินั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดของถุง ถ้าถุงมีขนาดใหญ่ก็ทำให้มีลำไส้หรืออวัยวะภายในช่องท้องเลื่อนลงมาทำให้กลาย เป็นไส้เลื่อน แต่ถ้าถุงมีขนาดเล็กก็จะมีเพียงน้ำในช่องท้องไหลลงมาทำให้เป็นโรคถุงน้ำ ซึ่งโรคนี้จะไม่มีอันตรายมากเท่ากับโรคไส้เลื่อน

โรคไส้เลื่อนในเด็ก อันตรายอย่างไร

หากตรวจพบว่าเป็นไส้เลื่อนก็ควรได้รับการผ่าตัดรักษาทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เนื่องจากจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงคือ “ไส้เลื่อนติด” โดยลำไส้ที่เลื่อนลงมาอยู่ในถุงไม่สามารถเลื่อนกลับขึ้นสู่ช่องท้องได้ ทำให้เกิดการขาดเลือดและลำไส้เน่าได้ เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น อาการของโรคไส้เลื่อนจะเปลี่ยนไปจากอาการที่มีก้อนโตๆ ยุบๆ ได้ กลายเป็นก้อนติดแน่น อาจมีอาการบวมแดงร่วมด้วย ขณะเดียวกันก็จะมีอาการปวดรุนแรง ร่วมกับการคลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ กลายเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาก่อนที่ลำไส้จะเน่า

โรคไส้เลื่อนในเด็ก สังเกตได้อย่างไร

เด็กที่เป็นโรคไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบนี้ จะพบในเด็กชายมากกว่าหญิงประมาณ 5-10 เท่า เป็นได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงเด็กโต เด็กที่เป็นไส้เลื่อนจะมีอาการให้สังเกตได้ดังนี้

  • เด็กเล็ก ผู้ปกครองจะสังเกตเห็นว่าเด็กมีก้อนปูดบริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ ถ้าก้อนนั้นโตๆ ยุบๆ ได้ โดยเฉพาะในขณะที่เด็กนอนหลับ ก้อนจะยุบหายไปหมดแล้วกลับปูดเป็นก้อนขึ้นมาอีกเวลาเด็กตื่นและร้องไห้ อาการเหล่านี้จะเป็นอาการที่ชัดเจนของโรคไส้เลื่อน เพราะถ้าเป็นโรคถุงน้ำก้อนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดอย่างฉับพลันทันที โดยก้อนอาจดูเหมือนโตขึ้นหรือเล็กลงไปเล็กน้อยได้ตามการหดตัวของถุงอัณฑะ แต่จะไม่มีทางที่ถุงน้ำจะหายไปหมด จะยังคงคลำได้ไม่ว่าในขณะเด็กหลับหรือตื่น
  •  เด็กโต ที่เป็นไส้เลื่อน มักจะบอกได้ว่าก้อนจะปูดออกมาในขณะเดิน วิ่ง หรือมีกิจกรรมและยุบลงได้เวลานอน นอกจากนี้มักมีอาการเจ็บหน่วงๆ ขณะที่มีก้อนปูด ส่วนโรคถุงน้ำก้อนจะคงอยู่ตลอดและไม่มีอาการเจ็บปวดมารบกวน

โรคไส้เลื่อนในเด็ก รักษาอย่างไร

เมื่อเด็กมีก้อนเนื้อตุงบริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะพ่อแม่ควรจะ

  • พบแพทย์ทันที เพื่อตรวจแยกว่าลูกเป็นโรคไส้เลื่อนหรือโรคถุงน้ำ หากเป็นไส้เลื่อนก็ควรได้รับการผ่าตัดรักษาเลยไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ จนกลายเป็น “ไส้เลื่อนติด”
  • ไส้เลื่อน การรักษาในขณะที่เป็นไส้เลื่อนธรรมดาที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน จะเป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยากมาก สามารถรักษาได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้เด็กนอนโรงพยาบาล เพียงแต่งดน้ำ งดอาหารมาจากบ้าน เพื่อทำการผ่าตัดผูกถุงไส้เลื่อน ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 30-45 นาที จากนั้นก็รอให้เด็กฟื้นจากการดมยาสลบ กินน้ำและอาหารได้ ก็จะกลับบ้านได้ในบ่ายวันเดียวกัน แต่ถ้ารอให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นไส้เลื่อนติดก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการ รักษา และถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีก็อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ถุงน้ำ นอกจากความรู้สึกที่ว่ามีก้อนแล้ว มักไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรงเหมือนโรคไส้เลื่อน นอกจากนี้โรค
  • ถุงน้ำยังมีโอกาสหายเองได้ ดังนั้นช่วงแรกของการรักษา โดยเฉพาะในเด็กเล็กก็มักใช้วิธีสังเกตอาการ รอจนเด็กอายุประมาณ 1-2 ปี ถ้าไม่ยุบหายไปเองค่อยพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดต่อไป

สำหรับการระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับโรคทั้งหลาย ไม่สามารถใช้ได้กับโรคไส้เลื่อนขาหนีบในเด็กนี้ได้ เพราะสาเหตุของโรคเกิดเนื่องจากการไม่เสื่อมสลายไปตามปกติของเยื่อบุช่อง ท้องดังกล่าวข้างต้น ทำให้เด็กๆ มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้โดยไม่มีวิธีระวังป้องกัน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจหรือเป็นกังวลมาก หากบุตรหลานมีอาการดังกล่าวข้างต้น ก็ควรนำเด็กมาตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ เมื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง เด็กจะหายจากโรคโดยไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. 5 โรคอันตรายในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง

2. โรคโลหิตจางในเด็ก อันตรายที่คุณแม่ควรรู้

3. ลูกซีด ภาวะลูกซีด ทำอย่างไรดี

 เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team