ถามตอบ!!! วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ฉีดตอนไหนได้บ้าง?

16 February 2021
2354 view

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV)

มะเร็ง แค่ได้ยินชื่อก็กลัวกันแล้วใช่ไหมคะ แน่นอนว่าหลายคนต้องกังวลอย่างมาก เพราะมะเร็งบางชนิดกว่าจะรู้ตัวว่าเป็น ก็มารู้ในระยะสุดท้ายแล้ว แต่ก็ยังมีมะเร็งปากมดลูกที่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคได้ และยังมีวัคซีนที่ป้องกันได้ อ๊ะ!!! ก่อนอื่นมารู้จัก รู้จริงเรื่องมะเร็งปากมดลูกกันจ้า มะเร็งปากมดลูก เกิดจากเชื้อไวรัส HPV หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า Human Papilloma Virus ติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก รวมถึงการสัมผัส ใกล้ชิดจากภายนอก และเชื้อนี้ยังก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งเชื้อไวรัส HPV มีหลายสายพันธุ์ด้วยนะจ๊ะ

วิธีป้องกันไวรัส HPV หรือมะเร็งปากมดลูก 

  • มี 2 วิธี คือ

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
  2. ตรวจคัดกรอง แบบแป๊ปสเมียร์ หรือหาเชื้อ HPV ทุกปี

อายุเท่าไหร่ถึงฉีดวัคซีน HPV ได้?

  • ฉีดวัคซีน HPV ได้ตั้งแต่ อายุ 9 ปีขึ้นไป ซึ่งในทวีปยุโรปให้ฉีดได้ถึงอายุ 45 ปี 

เคยมีแฟนแล้ว มีสามีแล้ว มีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังจะฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ไหม?

  • ยังฉีดได้ แต่ผลลัพธ์หรือประโยชน์อาจน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือติดเชื้อมาก่อน

มีแฟนคนเดียว ไม่นอกใจ ไม่สำส่อน ยังต้องฉีดวัคซีน HPV อีกหรอ?

  • ต้องฉีดจ้า เพราะแฟนของเราอาจได้รับเชื้อ HPV มาแล้วแบบที่ไม่รู้ก็ได้ เพราะเชื้อ HPV นั้นติดต่อกันได้ง่ายมาก ๆ

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว จะติดเชื้อ HPV ทุกคนจริงไหม?

  • ไม่จริงจ้า 

ถ้าติดเชื้อ HPV มาแล้ว ฉีดวัคซีน HPV แล้วจะช่วยอะไร?

  • ช่วยได้จ้า ตัววัคซีนยังป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ และป้องกันสายพันธ์ุอื่น ๆ

ถุงยางป้องกันการตั้งครรภ์ แล้วป้องกันเชื้อ HPV ด้วยไหม?

  • ไม่ป้องกันจ้า เพราะเชื้อ HPV มีอยู่ที่อวัยวะอื่น ๆ นอกการครอบคลุมของถุงยางอนามัยด้วย

ถ้าตรวจแป๊ปสเมียร์แล้ว จะฉีดวัคซีนวันเดียวกันเลยได้ไหม?

  • ฉีดได้เลยจ้า ไม่มีผลกระทบ และไม่จำเป็นต้องรอผลจ้า 

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก มี 3 ชนิด ใช่ไหม? 

  • ใช่ค่ะ ได้แก่ ชนิด 2 สายพันธ์ุ, 4 สายพันธ์ุ และล่าสุด วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ คืออะไร?

  • วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ (Human Papillomavirus 9-valent Vaccine) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่พัฒนามาจากวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์(1) ป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ 9 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ฉีดได้ตั้งแต่อายุตั้งแต่ 9 ถึง 45 ปี

การฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ มีวิธีการฉีดอย่างไร?

  • การฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนหรือต้นขา จำนวนเข็มของวัคซีนที่ต้องฉีดนั้น จะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ตามนี้ค่ะ

อาการข้างเคียงที่พบได้จากการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์

  • ไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงที่รุนแรง อาจมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยเกิดขึ้นได้ เช่น ปวด บวม หรือแดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวและหายได้เอง(1)

ข้อห้ามของการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์

  • ห้ามฉีดวัคซีนในผู้ที่มีอาการแพ้ยาหลังได้รับวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ หรือชนิด 4 สายพันธุ์ ในครั้งก่อน หรือแพ้ส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีน รวมถึงผู้ที่แพ้ยีสต์อย่างรุนแรง(1)

หากเคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ มาแล้วครบ 3 เข็ม สามารถฉีดวัคซีนนี้ได้อีกหรือไม่?

  • จากการศึกษาทางคลินิกพบว่า การฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ หลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ มาแล้วครบ 3 เข็ม นั้นมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการฉีดวัคซีนนี้ของท่านอีกครั้งหนึ่ง(1)

เป็นไงบ้างเอ่ย? หมดข้อสงสัยกันไปได้มากเลยใช่ไหมจ๊ะ กับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ใครต้องการอยากฉีด หรือฉีดแล้ว แต่อยากฉีดชนิดป้องกัน 9 สายพันธุ์ ลองติดต่อสอบถามตามโรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้านได้นะคะ #ขอให้ทุกคนรอดจากเชื้อHPVจ้า

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองที่บ้านง่ายมากๆ
2. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ..วัคซีนดี ๆ สำหรับคุณผู้หญิง
3. 4 ข้อควรรู้ในการเปลี่ยนผ้าอนามัย เพื่อลดโอกาสการเป็น มะเร็งปากมดลูก

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

1. วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์... อาวุธใหม่ของการป้องกันเชื้อไวรัส HPV.เข้าถึงได้จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/november-2020/9-valent-human-papillomavirus-vaccine.[ค้นคว้าเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564]
2. นายแพทย์ ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้างานศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก.[แผ่นพับ].[ค้นคว้าเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564]