ลูกขาโก่ง
ตามสรีระวิทยาของกระดูกขาเด็กเมื่อแรกคลอดจะโค้งงอเล็กน้อย คุณแม่หลายคนไม่ทราบมาก่อน ลักษณะขาลูกที่คุณแม่มองโก่งนั้นแท้จริงแล้ว เป็นภาวะปกติ เพราะธรรมชาติสร้างมาให้ขาทารกมีลักษณะโก่งเล็กน้อยเมื่อโตขึ้น รูปร่างของกระดูกขาจะเปลี่ยนไปค่อยๆตรงขึ้นเรื่อยๆ และตรงเป็นปกติในที่สุด สำหรับเด็กที่ขาโก่งผิดปกติก็มี คุณแม่มาเปรียบเที่ยบ ขาโก่งปกติ และ ขาโก่งผิดปกติ ตามนี้
อย่างไร เรียกว่าลูกขาโก่งปกติ
ถ้าคุณแม่สังเกตขาลูกน้อยบริเวณเข่างอโค้งออก ขาจะทำมุมชี้ออกด้านนอก แต่เดินไม่กะเผลก ซึ่งเป็นภาวะขาโก่งปกติ ซึ่งในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะพบว่ามีอาการขาโก่งแบบนี้ได้ค่ะ เพราะขณะที่เค้าอยู่ในครรภ์มารดานั้นมีการขดตัว ทำให้เกิดการตึงของเส้นเอ็น และการรั้งของกล้ามเนื้อด้านในของข้อเข่า แต่พอเค้าเริ่มยืน กล้ามเนื้อส่วนนี้มีการออกแรง ร่างกายก็จะปรับเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าที่จริงๆ เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบปี
รูป A B C D แสดงภาวะปกติของกระดูกขาเด็กตามช่วงวัย
แบบ A คือขาปรกติสำหรับทารก
แบบ B คือขาปรกติสำหรับขวบครึ่ง
แบบ C คือขาปรกติสำหรับสามขวบครึ่ง
แบบ D คือขาปรกติสำหรับเจ็ดขวบ
อย่างไร เรียกว่าลูกขาโก่งผิดปกติ
ขาโก่งผิดปกติ อาจจะเกิดจากเนื้อกระดูกผิดปกติ พบในเด็กที่เป็นโรคกระดูกอ่อน ข้อเข่าเสื่อม หรือเกิดจากความผิดปกติของข้อตะโพก สังเกตง่ายๆ คือเวลายืนหรือเดินเด็กจะหมุนขาเข้าใน ซึ่งหลัง 3 ขวบไปแล้ว ขาลูกยังมีลักษณะโก่ง คือบริเวณเข่าโค้งออก มีอาการเท้าปุก แนะนำให้คุณแม่พาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
รูปภาพ แสดงเด็กขาโก่งผิดปกติต้องได้รับการรักษา
วิธีทดสอบลูกขาโก่ง
- ให้คุณแม่จับลูกนอนเหยียดขาตรงๆ จับข้อเท้าให้ชิดกัน
- จับเข่าให้กระดูกสะบ้าหัวเข่าทั้ง 2 ข้างหันตรงไปด้านหน้า
- และวัดระยะระหว่างหัวเข่าด้านในของทั้งสองข้างไม่ควรเกิน 8 ซม.
- ถ้ามากเกิน 8 ซม.แนวโน้มเป็นไปได้ว่าลูกคุณแม่ขาโก่งจริง และเมื่อเจ้าตัวเล็กอายุมากกว่า 2 ปียังไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์
- สังเกตลูกในวัยเดิน ให้คุณแม่สังเกตการเดินของลูกดูนะคะว่าเค้าเดินได้สะดวกดีไหม กระเผลก หรือว่ามีอาการเท้าปุกร่วมด้วยหรือเปล่า ถ้าคุณแม่สังเกตพบความผิดปกติดังที่กล่าวมาให้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียด
- สำหรับเด็กที่เดินสะดวก อาจจะเท้าโก่ง แต่ถ้ายังอยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 2 ขวบ และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ให้คิดว่าเป็นธรรมชาติของเด็กเค้า ไม่ควรวิตกมากเกินไป ให้รอดูอาการไปก่อนค่ะ
หากสงสัยหรือไม่แน่ใจ คุณแม่ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่าตัดสินใจด้วยตัวเอง หรือฟังจากเพื่อนคุณแม่คนอื่นนะคะ เพราะสรีระร่างกายของแต่ละคนต่างกัน
บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่
1. ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับภาวะขาโก่งในเด็ก
2. เตือนภัย คุณแม่ที่ชอบดัดขาลูก!!!ทำลูกขาหัก
3. เคล็ดลับลูกรักเดินเร็วเดินคล่องตามวัย
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team