รพ.ชี้แจง กรณีเด็ก 10 เดือน มือบวมเป่ง เหตุเข็มน้ำเกลือรั่ว

07 January 2020
719 view

จากกรณีของคุณแม่รายหนึ่งได้โพสต์เรื่องราวของลูกวัย 10 เดือน หลังเข้ารักษาอาการอ้วก ท้องเสีย มีไข้ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอำเภอกุมภวาปี จ.อุดรฯ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา แพทย์จึงได้สั่งให้นอนรักษาที่โรงพยาบาล

ซึ่งวัน 26 ธันวาคม 2562 ผู้เป็นแม่ได้ออกไปทำธุระ จึงให้ผู้เป็นตาและพี่สาวอยู่ดูแลที่โรงพยาบาลลูกวัย 10 เดือน โดยพี่สาวของเด็กได้ยินเสียงเครื่องให้น้ำเกลือดังตลอดเวลา จึงให้พยาบาลมาดู และพยาบาลบอกให้กดปุ่มอะไรสักอย่างเพื่อให้เสียงเครื่องหยุดดัง กระทั่ง ผู้เป็นแม่กลับจากทำธุระ สังเกตว่าลูกร้องไห้ตลอดเวลา และพอวันต่อมาเห็นแขนลูกมีลักษณะบวมผิดปกติ จึงเรียกพยาบาลมาดู แต่พยาบาลไม่พูดอะไร เดินออกจากห้องแล้วเดินมาใหม่พร้อมสำลีและสก๊อตเทป มาถอดน้ำเกลือออกจากมือน้อง จากการสอบถามทราบว่าสาเหตุ คือ น้ำเกลือไม่เข้าเส้นเลือด แต่เข้าผิวหนังแทน 

 

ด้าน น.ส.จันทร์ ผู้เป็นแม่ เผยว่า หลังโพสต์เรื่องราวดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไลน์มาถามว่า ลงข้อความแบบนี้ทำให้โรงพยาบาลเสียหายนะ ตนก็ตอบไปว่า ไม่ได้เอ่ยชื่อโรงพยาบาล ทำไมเหมือนมาขู่กันด้วย ตอนนี้อาการน้องดีขึ้นแล้ว แต่ที่ออกมาโพสต์ไม่ได้อยากจะเรียกร้องอะไร แต่อยากให้เจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนให้มากกว่านี้ ลูกทั้งคน ทุกคนก็รักและเป็นห่วง


ล่าสุดทางโรงพยาบาลได้ชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เกิดจากน้ำเกลือรั่ว จนเกิดภาวะ phlebitis (เป็นภาวะที่เกิดจาก การอักเสบของหลอดเลือดดำ อาจทำให้ ปวด บวม แดง ร้อน อาจเกิดขึ้นได้จากการให้ยาทางหลอดเลือดดำ เกิดขขึ้นได้ทั้งระหว่างหรือหลังฉีดยา : ข้อมูลจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ www.chulalongkornhospital.go.th › download › category › 4-conferences-59) เนื่องจากน้ำเกลือมีน้ำตาลผสม จึงทำให้มีความรุนแรงกว่าน้ำเกลือที่ไม่มีน้ำตาลผสม และสภาพร่างกายที่อ่อนเพลียของเด็กทำให้เกิดการบวมของผิวหนังมากกว่ารายอื่นๆ พอบวมยุบลง จะเกิดถุงน้ำ (bleb) พอถุงน้ำแตกจะหนังเหี่ยว และเป็นแผลเปิดตามมา แต่เคสนี้เกิดการรั่วจากน้ำเกลือและอยู่ระดับผิวหนัง จึงไม่เกิดเนื้อตาย แต่ต้องดูแลแผล ทำแผลทุกวัน ป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน

นอกจากนั้น ทางโรงพยาบาลได้เข้าไปประเมินและดูแลแผลของเด็ก รวมถึงได้พูดคุยกับญาติเพื่อรับทราบปัญหา ซึ่งพบว่าแผลของเด็กยังไม่มีลักษณะของการติดเชื้อ การรักษาคือ ทำแผลและป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจนกว่าแผลจะหาย พร้อมขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และว่าจะช่วยดูแลแผลของน้องจนกว่าจะหายดี รวมถึงน้อมรับข้อติชมในการบริการที่อาจมีการแสดงออกไม่ดีทางกิริยา หรือวาจา ทำให้ญาติไม่พอใจ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐ