หูดข้าวสุกในเด็ก อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไรดี?

16 October 2019
5386 view

หูดข้าวสุกในเด็ก

หูดข้าวสุก เป็นโรคที่เจอได้ทุกวัย ในเด็กก็สามารถเจอได้ค่ะ โดยลักษณะของตุ่ม จะเป็นตุ่มเล็กๆ ใสๆ อาจมีรูบุ๋มตรงกลาง มักขึ้นที่ ลำตัว ใบหน้า หรือแขนขา 

หูดข้าวสุกในเด็ก เกิดจากอะไร?

หุดข้าวสุกในเด็กเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งค่ะ ชื่อว่า molluscum contagiosum สามารถติดต่อกันได้ จากการสัมผัสโดยตรงที่ตุ่ม เกา แกะตุ่ม หรือจากการใช้ของใช้ร่วมกัน (ในผู้ใหญ่สามารถติดต่อกันได้ทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะมีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศได้ค่ะ)

หูดข้าวสุกในเด็กมีอาการอย่างไร?

หูดข้าวสุกในเด็กมีตุ่มดังกล่าว จะขึ้นหลังจากได้รับเชื้อมา 2 สัปดาห์ – 2 เดือน หลังจากที่ตุ่มขึ้น อาจไม่มีอาการอื่นๆ ไม่เป็นอันตราย โดยตุ่มสามารถหายได้เอง แต่ใช้เวลานาน 6-12 เดือน (แต่กว่าจะหายสนิท ไร้ร่องรอย อาจใช้เวลานานถึง 4 ปีได้ค่ะ)

หูดข้าวสุกในเด็ก ต้องรักษาแบบไหน?

เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง และสามารถหายได้เอง (แต่ต้องใช้เวลานานหน่อย) ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรักษาค่ะ นอกจากเด็กมีอาการคัน ชอบเกา ชอบแกะ (เสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน) หรือเรื่องของความสวยงามโดยการรักษา คือการจี้ออกค่ะ 

โดยสรุป หูดข้าวสุกในเด็กเป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง ติดต่อได้ง่าย สามารถหายได้เองในเวลาเป็นเดือน แต่หากได้รับการรักษาก็จะหายได้เร็วขึ้นค่ะ

บทความโดย: พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ (กุมารแพทย์)

ติดตามเรื่องเด็กๆ by หมอแอม ตอบทุกปัญหาเกี่ยวกับเด็ก
ในรูปแบบ VDO "ทุกวันพฤหัสบดี" ได้ที่ ช่อง youtube : Mamaexpert official