การรักษาสิวในหญิงตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญที่แม่ตั้งครรภ์ควรรู้!!!

30 January 2014
4436 view

การรักษาสิวในหญิงตั้งครรภ์

หมอเขียนบทความนี้ขึ้น เนื่องจากคนไข้จำนวนไม่น้อยที่มาปรึกษาปัญหาสิวพร้อม ๆ กับเตรียมตัวเป็นว่าที่คุณแม่มือใหม่ โดยคำถามที่หมอมักถูกถามบ่อย ๆ คือ ยารักษาสิวทำให้ทารกในครรภ์พิการจริงหรือ? ยารักษาสิวมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง? สามารถซื้อมาใช้เองนาน ๆ ได้หรือไม่? ปัจจุบันคนไทย ให้ความสนใจในการดูแลตัวเองมากขึ้นกว่าสมัยก่อน และส่วนใหญ่คิดว่า สิวเป็นแค่เรื่องความสวยความงาม เมื่อมีปัญหาจึงมักซื้อยามาใช้เองหรือปรึกษาช่างเสริมสวยตามค่านิยมของคนไทย อะไรใช้แล้วดีบอกต่อ รวมทั้งความก้าวหน้าของสื่อยุคใหม่ทำให้มีโฆษณาชวนชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รักษาสิว, ผิวหน้าออกมามากมาย แต่ผู้ที่ใส่ใจสุขภาพตัวเองไม่ควรเชื่อคำโฆษณาง่ายเกินไป อาจทำให้เสียเงินทองและเวลาโดยไม่จำเป็น รวมทั้งบางสื่อมีการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว อาจยังขาดข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง

การรักษาสิวในหญิงตั้งครรภ์ อย่างไรให้ปลอดภัย

การรักษาสิวมีหลายวิธี ตามระดับความรุนแรงของปัญหาสิว สำหรับในบทความนี้หมอขอกล่าวถึง การรักษาสิววิธีต่าง ๆ เฉพาะในสตรีตั้งครรภ์นะคะ เริ่มจากยาทา มีทั้งยาแต้มสิวอักเสบเฉพาะที่ ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อสิว, ยาทาละลายหัวสิวอุดตัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

1) BP ชื่อเต็ม คือ Benzyl Peroxide ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มฆ่าเชื้อสิวด้วย เป็นยาที่แพทย์มักให้ทาสิวก่อนล้างหน้า 5-10 นาทีแล้วล้างออก ยาในกลุ่มนี้ปลอดภัยสำหรับสตรีตั้งครรภ์
2) ยากลุ่มกรดวิตามิน เอ เป็นยาที่ใช้ทาเฉพาะกลางคืน เพราะไวต่อแสงไม่ควรใช้ในสตรีตั้งครรภ์
เนื่องจากเหตุผลเดียวกับยารับประทานกลุ่มกรดวิตามินเอ ซึ่งหมอจะขออธิบายเหตุผลรวมกับกลุ่มยารับประทานต่อไป

การรักษาสิวในหญิงตั้งครรภ์ โดยการรับประทานยา

ยาที่ถูกถามบ่อยที่สุด คือ ยากลุ่มกรดวิตามินเอ (Isotretionin) ยากลุ่มนี้ราคาแพงและมีข้อแทรกซ้อนสูง คือทำให้ปากแห้ง, ตาแห้ง, ปวดศีรษะ, ปวดข้อ ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ เป็นยากลุ่มที่ควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผิวหนังเท่านั้นค่ะ เพราะมีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาชัดเจน คือ ใช้เฉพาะในสิวที่รุนแรง คือ สิวหัวช้าง, สิวที่ดื้อต่อการใช้ยาปฏิชีวนะ และสิวที่ทำให้เกิดแผลเป็นอย่างรุนแรงบนใบหน้า ยากลุ่มกรดวิตามินเอนี้ ไม่ควรใช้ในสตรีตั้งครรภ์เด็ดขาด เพราะสามารถทำให้ทารกในครรภ์พิการได้อย่างมากคือ ทำให้ศีรษะโตหรือเล็กผิดปกติ ในหน้าและตาผิดปกติปัญญาอ่อน หรือหัวใจผิดปกติได้ ผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มนี้จึงต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนได้รับยา ไม่ตั้งครรภ์ระหว่างรับยา และต้องหยุดยาจนครบ 1 เดือน จึงจะตั้งครรภ์โดยปลอดภัยต้องไม่นำยาไปแบ่งให้ผู้อื่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และต้องไม่บริจาคเลือดระหว่างรับยา เพราะยาสามารถดูดซึมผ่านกระแสเลือดได้

ส่วนยารับประทานในกลุ่มยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อสิว) ยาตัวที่ไม่ควรใช้ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีสิว คือ เตตร้าซัยคลีน (Tetracyclire) เพราะยานี้มีผลเสียต่อตับของแม่ ทำให้ฟันน้ำนมของลูกมีสีเหลือง และมีความผิดปกติเกิดในลูกได้ นอกจากยาที่หมอเล่ามาทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันยังมีการใช้สารเคมีมาทำยาปลอบเลียนแบบยาในกลุ่มต่าง ๆ ที่รักษาสิว จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าทารกไทยในอนาคตจะเสี่ยงต่อความเป็นเด็กพิการสูงมาก

การรักษาสิวในหญิงตั้งครรภ์ ควรทำอย่างไรดี?

คำตอบ คือ ไม่ยากค่ะ ควรปรึกษาแพทย์ถึงการใช้ยารักษาสิวบางกลุ่มที่สามารถเลือกใช้ในสตรีตั้งครรภ์ได้ และปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไกลไปมากจนวงการแพทย์ผิวหนังเราสามารถนำความรู้ในการใช้แสงเลเซอร์มารักษาสิวและปัญหาผิวพรรณได้อย่างปลอดภัยในสตรีตั้งครรภ์ได้ด้วย โดยแพทย์สามารถเลือกเครื่องเลเซอร์ที่ช่วยรักษาปัญหาสิวเฉพาะจุด (Local) โดยไม่เกิดผลข้างเคียงต่อบริเวณอื่นและทารกในครรภ์

หวังว่าบทความนี้คงช่วยให้ว่าที่คุณแม่มือใหม่ได้ความรู้เพิ่มและปรับใช้ระมัดระวังตัวในขณะตั้งครรภ์นะคะ ถ้ามีคำถามอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือเกิดปัญหาสิวขึ้นระหว่างตั้งครรภ์สามารถมาปรึกษาทีมแพทย์ SVJ ถึงการใช้แสงรักษาสิวได้ หมอยินดีให้คำแนะนำทุกเมื่อค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. เคล็ดลับหน้าใส ใน 5 วันด้วยสูตรพอกหน้ามะขามเปียก

2. 10 สูตรลับเพิ่มความสวยและดูดีด้วยมะนาว

3. หน้าท้องลายขณะตั้งครรภ์…ป้องกันได้

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

ขอบคุณบทความจาก : พญ. สุรัติ อัศวานุชิต
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต