โรคลมแดด!!! โรคที่อันตราย โรคที่เด็กต้องระวัง!!!

10 May 2019
1721 view

โรคลมแดด

ในช่วงฤดูร้อน ประเทศไทยมักประสบกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าว อุณหภูมิทะลุถึงกว่า 40 องศาเซลเซียส แน่นอนค่ะว่าการที่จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดดก็ทวีคูณสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งกลุ่มเสี่ยงโรคลมแดดได้แก่ ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง มีโรคประจำตัว คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นเด็กๆ เพราะเป็นโรคลมแดดได้ง่าย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มาหาคำตอบกับ Mamaexpert กันค่ะ

โรคลมแดดในเด็กเกิดจากอะไร ทำไมเป็นได้ง่าย แม่ๆ รู้ไหม?

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมแดดในเด็กได้ง่าย เป็นเพราะร่างกายของเด็กขาดน้ำ และเกลือแร่จากความร้อนได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเด็กทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือเล่นกับเพื่อนๆ ในสถานที่มีแดดจัดเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เช่น การเล่นน้ำสงกรานต์ การเล่นน้ำในสวนน้ำ และการเล่นไล่จับตามสนามเด็กเล่น  เป็นต้น แล้วอย่างนี้...ถ้าลูกเป็นโรคลมแดด แม่ๆ จะรู้ได้อย่างไร มาค่ะ มาดูวิธีการสังเกตอาการในหัวข้อถัดไป

โรคลมแดดในเด็ก แม่ๆ ต้องสังเกตอาการดังนี้

  • เด็กมีไข้ขึ้นสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส
  • เด็กมีอาการซึม และชักตามลำดับ
  • เด็กมีอาการแขนขาอ่อนแรง
  • เด็กบางรายจะมีเหงื่อออก หรือบางรายอาจไม่มีเหงื่อออก
  • เด็กมีอาการเพ้อ หรือละเมอ พูดไม่ชัด
  • เด็กมีอาการเห็นภาพหลอน กระวนกระวาย
  • เด็กมีอาการหายใจเร็วกว่าปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เด็กมีอาการหมดสติ หรือเป็นลม

แม่ๆ คงรู้แล้วใช่ไหมคะ...ว่าโรคลมแดดมีอาการอย่างไร หากเด็กๆ มีอาการดังกล่าว แม่ๆ อย่ารอช้านะคะ รีบทำการรักษาเบื้องต้น ตามนี้เลยค่ะ

โรคลมแดดในเด็กเป็นแล้วรักษาอย่างไร?

  • เด็กมีไข้ขึ้นสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส แม่ต้องรีบลดอุณหภูมิให้เร็วที่สุด โดยการพ่นไอน้ำและเปิดพัดลมเป่า การแช่ในน้ำเย็น ใช้น้ำแข็งประคบตามขาหนีบ ข้อพับ หรือส่วนของร่างกายที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุด ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดย้อนรูขุมขนเพื่อทำให้อุณหภูมิลดลงเร็วขึ้น
  • เด็กมีอาการซึม ชัก และหมดสติ แม่ๆ ควรพาเด็กไปหาหมอ หรือโทรเรียกรถพยาบาลให้มารับตัวเพื่อไปรักษาโดยด่วน
  • เด็กมีอาการแขนขาอ่อนแรง ศัลยแพทย์ ด้านประสาทจะรีบรักษาเพราะอาการแขนขาอ่อนแรงเกี่ยวข้องโดยตรงกับสมองและประสาท หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตหรือไม่ก็พิการไปตลอดชีวิต

การรักษาอาการได้ทันท่วงทีช่วยลดอันตรายต่อชีวิตได้ ถึงอย่างไรนั้นการป้องกันโรคลมแดดในเด็กเป็นสิ่งที่ดีที่สุดถ้าทำได้ตามนี้ค่ะ

โรคลมแดดในเด็กป้องกันได้ตามนี้

  • ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่น หรือทำกิจกรรมตามสถานที่กลางแจ้ง และมีความร้อนสูง เป็นเวลาหลายชั่วโมง
  • พยายามหาเครื่องดื่มดับกระหายคลายร้อนมาให้เด็กๆ ดื่ม แต่ต้อองไม่เย็นจัดจนเกินไปหรือเป็นอุณหภูมิที่ร่างกายของเด็กรับได้ เช่น น้ำเย็น ไอศกรีม เป็นต้น
  • สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ง่ายให้กับลูก เช่น เสื้อผ้าที่ผลิตจากฝ้าย เสื้อผ้าที่มีสีอ่อนๆ เสื้อไม่รัดแน่นไป
  • พาเด็กออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่แดดอ่อน เช่น ตอนเช้า หรือตอนเย็น ร่วมทั้งการสวมหมวก กางร่ม ก็เป็นการหลีกเลี่ยงโรคลมแดดได้ในระดับหนึ่ง

โรคลมแดดในเด็ก เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันโรคลมแดดให้กับลูกย่อมดีกว่าการรักษา มาค่ะ มาดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัยจากการเป็นโรคลมแดดกัน ด้วยความห่วงใยจาก Mamaexpert

บทความแนะนำเพิ่มเติม

     1. แสงแดดสุดอันตรายต่อผิวลูก อย่าลืมปกป้องผิวลูกน้อยจากแสงแดด
     2. หนุ่มเมาเบียร์หลับพร้อมลูกน้อยในกระบะกลางแดดจ้า ชาวบ้านผวากลัวตายคารถ
     3. ภาพอินโฟกราฟฟิค 6 กลุ่มเสี่ยงอันตรายช่วงหน้าร้อน โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

     1. สมคิด โพธิ์ชนะพันธุ์. (2017). โรคลมร้อน: ภาวะฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อชีวิต. Journal of The Royal Thai Army Nurses, 18(2), 30-37.เข้าถึงได้จาก.https://www.tci-thaijo.org.[ค้นคว้าเมื่อ 11 เมษายน 2562]

     2. Diamond, D. M. (2019). When a child dies of heatstroke after a parent or caretaker unknowingly leaves the child in a car: How does it happen and is it a crime?. Medicine, Science and the Law, 0025802419831529.เข้าถึงได้จาก.http://mediaassets.abcactionnews.com [ค้นคว้าเมื่อ 11 เมษายน 2562]