ไข้หวัดใหญ่ระบาด ต้องรับมืออย่างไร หมอแอมมีคำตอบ!!!

08 March 2019
1190 view

ไข้หวัดใหญ่

สวัสดีค่ะ คุณแม่ทุกท่าน ช่วงนี้เริ่มร้อนกันแล้วแต่ทำไมไข้หวัดยังมีอยู่เรื่อยๆ จะมีวิธีรับมืออย่างไรดี วันนี้หมอแอมมีคำตอบพร้อมกับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไข้หวัดมาฝากค่ะ

Q: ดูอย่างไรว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ แตกต่างจากหวัดธรรมดาอย่างไร
A: ไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ไอ น้ำมูก ได้เช่นเดียวกับไข้หวัดธรรมดาค่ะ แต่จะเด่นมากๆๆๆๆในเรื่อง
1. ไข้สูง มักสูงถึง 39-40องศา (สังเกตว่าลูกตัวร้อนจี๋ หรือแนะนำซื้อปรอทวัดไข้ติดบ้านไว้นะคะ)
2. ปวดศีรษะ (ในเด็กเล็กอาจบอกยาก แต่จะบอกได้ชัดเจนในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ค่ะ
3. ปวดเมื่อยตามตัวมาก
เด็กหลายคนเป็นไข้สูงจนชักได้ เรื่องไข้ชักไว้หมอมาเล่าให้ฟังในคราวหน้านะคะ

Q: อาการยังไง อันตรายไหม
A: นอกจากอาการ ไข้สูง ไอน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดตัว ที่กล่าวไปข้างต้น
ในเด็กเล็ก อาจมีอาการอาเจียน ท้องเสียร่วมด้วยได้ค่ะ

ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ เช่น ปอดอักเสบ หูน้ำหนวก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ซึ่งอันหลังนี้เจอไม่มาก คุณแม่อย่าพึ่งตกใจนะคะ)

Q: ลูกติดจากใครมา ติดได้อย่างไร
A: ไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดทั้งหลายทั้งปวง ติดต่อกันได้ 3 ทางค่ะ
1. สัมผัสตรงๆ กับน้ำมูกน้ำลาย ( เนื่องจาก เชื้อพวกนี้อยู่ในโพรงจมูกและคอ) เช่น หอมแก้ม จูบลูก เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราควรรณรงค์ (ถึงคนอื่นที่เอ็นดูลูกเรา) รักลูกฉัน จงอย่าจูบลูกฉันนะคะ
2. สัมผัสอ้อมๆ  เช่น ใช้สิ่งของร่วมกัน แก้วน้ำหรือดูดหลอดด้วยกัน ของเล่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได ราวรถโดยสาร (และอีกมากมาย บลาๆๆ)
3. กระจายในอากาศ แล้วลูกเราสูดเข้าพอดี .. อืมมมม  2 ข้อหลังนี้ เนื่องมาจาก ในการจามแต่ละครั้ง ก็จะมีละอองฮัดชิ่ว ลอยละล่องออกมาละอองใหญ่ๆ สามารถไปไกล 1-2 เมตร แล้วตกสู่พื้น หรือแปะตามฝาผนัง ส่วนละอองเล็กๆ สามารถกระจายไปได้ถึง 5 เมตร แล้วฟูฟุ้งอยู่ในอากาศ  ...โดยละอองเหล่านี้ อยู่ได้นานถึง 2-6 ชั่วโมงเลย

Q: คนป่วย แพร่เชื้อได้นานไหม
A: ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนแสดงอาการ ไปจะถึงหลังจากมีอาการ 5-7 วัน (แต่แพร่ได้มากๆ ในช่วง 3 วันแรก) เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนในบ้านไม่สบาย ใส่หน้ากาก และหลีกเลี่ยงสัมผัสเด็กๆ ตลอดช่วงแพร่เชื้อนี้นะคะ
*** ที่สำคัญคือ .. บางคนรับเชื้อมาแต่ไม่แสดงอาการ(เพราะภูมิคุ้มกันแข็งแรง) ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกันค่ะ

Q: แล้วจะป้องกันยังไง
A: การป้องกันที่ดีสุดคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือค่ะ (ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล)
ล้างมือบ่อยแค่ไหน? คำตอบคือ บ่อยมากค่ะ 555+ เพราะเชื้อมาจากมือเราที่ไปแปะโดนละอองน้ำมูก เช่น
-หลังกลับจากที่ชุมชน หลังจากลูกไปปีนราวบันไดในห้าง หรือโหนราวรถโดยสาร
-กลับจากไปเยี่ยมอาม่าที่โรงพยาบาล ไปกดลิฟต์เล่น
-มีคนเอ็นดูลูกเรา (ใครไม่รู้) มาขอจับมือ เซย์ฮัลโหล จุ๊บแก้มลูก แม้ว่าคนๆนั้นจะไม่มีอาการหวัดเลย (อย่างที่บอกค่ะ คนที่ไม่มีอาการ ก็แพร่เชื้อได้จ้ะ)
-ก่อนรับประทานอาหาร
-และสำคัญมาก ล้างทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กนะคะ

นอกจากล้างมือ หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็ก ไปในที่แออัด เช่น ตลาดนัด หรือพาไปแหล่งรวมเชื้อโรค เช่นพาเด็กเล็กไปเยี่ยมคนป่วยที่รพ. นะคะ (ยกเว้นพาไปฉีดวัคซีน)

Q: มีวัคซีนไหม แล้วป้องกันโรคได้ทันทีหลังฉีดรึเปล่า
A: มีค่ะ ไข้หวัดใหญ่มีวัคซีน ฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป
โดยภูมิคุ้มกัน จะเริ่มป้องกันร่างกาย หลังจากฉีดวัคซีน 1-2 สัปดาห์ค่ะ แต่ๆๆๆภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน จะค่อยๆลดลงใน 6-12เดือน เป็นเหตุผลที่เราควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีค่ะ

Q: ถ้าฉีดแล้วจะไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ใช่ไหมคะ
A: ผิดค่ะ!!!  ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ .. อ่าว .. แล้วฉีดทำไม???
เนื่องจาก ไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อ influenza มีหลายเผ่าพันธุ์ค่ะ ดังนั้นวัคซีนจึงไม่สามารถครอบคลุมทั้งหมด แต่วัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

Q: ใครบ้างที่ควรไปฉีดวัคซีน
A: คนที่ควรไปฉีด คือ 1.) กลุ่มเสี่ยง  และ 2.) ผู้ดูแลกลุ่มเสี่ยง
ดังนั้นๆแม่ๆทั้งหลายที่มีลูกเล็ก หรือผู้ดูแลอากงอาม่า ก็ควรไปฉีดด้วยค่ะ

Q : ถ้าลูกเป็นแล้ว ดูแลยังไงคะ เมื่อไรต้องรีบพาไปรพ.
A: ถ้าอาการไม่มาก เช่นไข้ต่ำๆ ยังพอทานได้ ดูแลที่บ้านดังนี้ค่ะ
-นอนหลับพักผ่อนมากๆ
-ดื่มน้ำเยอะๆ (ถ้าคลื่นไส้ก็ให้ค่อยๆจิบทีละนิดได้ค่ะ )
-หากมีไข้ เช็ดตัวลดไข้ ทานยาลดไข้พาราเซ็ตตามอล (ห้ามใช้ยากลุ่มแอสไพรินนะคะ เนื่องจากจะมีผลแทรกซ้อนต่อตับและสมองได้ หรือเรียกว่า Reye syndrome)
-อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัย  ไอจามอย่าลืมปิดปาก (อันนี้อาจทำได้ในเด็กโต หรือผู้ใหญ่ในบ้านที่เป็นค่ะ)

สำหรับอาการที่ควรพาไป รพ.คือ
-ไข้สูง ซึมมาก ไม่เล่น ทานข้าวทานนมไม่ได้
-ไข้สูงเกิน 2วันไม่ดีขึ้น
-หายใจเหนื่อยหอบ

Q: มียารักษาไหม
A: ไข้หวัดใหญ่มียารักษาค่ะ แต่ควรสั่งใช้ภายใต้การพิจารณาของแพทย์ เนื่องจากหากใช้พร่ำเพรื่อ นอกจากอาจเกิดการดื้อยาแล้ว ยังมีผลข้างเคียงจากยาด้วยค่ะ

สุดท้ายนี้หมอแอมอยากฝากแม่ๆและแก๊งรักเด็ก (คนแปลกหน้าที่ไหนไม่รู้) ทั้งหลายว่า ..รักลูกฉัน ..อย่าจูบลูกฉันนะคะ

เรียบเรียงโดย: พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ (กุมารแพทย์)

ติดตามเรื่องเด็กๆ by หมอแอม ตอบทุกปัญหาเกี่ยวกับเด็ก
ในรูปแบบ VDO "ทุกวันพฤหัสบดี" ได้ที่ ช่อง youtube : 
Mamaexpert official