อุ้มบุญ อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้มีลูกสมใจ

22 October 2018
3996 view

อุ้มบุญ

อุ้มบุญหรือการตั้งครรภ์แทน เป็นการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์และมีคนอุ้มท้องเข้ามาเกี่ยวข้อง อุ้มบุญถือเป็นวิธีสุดท้ายที่ทางการแพทย์แนะนำให้ผู้มีบุตรยากทำเพราะมีขั้นตอนและข้อจำกัดมาก ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น ตามมาค้นคำตอบพร้อมกันค่ะ

อุ้มบุญ! คืออะไร ทำไมต้องอุ้มบุญ

อุ้มบุญคือการที่คู่สามีภรรยาไม่สามารถมีลูกได้ เพราะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเอง  ได้ลองใช้วิธีช่วยเจริญพันธุ์มาทุกวิธีแล้วแต่ไม่สำเร็จ จึงต้องมีบุคคลที่สามหรือเรียกว่า แม่อุ้มบุญ มาอุ้มท้องแทนเท่านั้น

อยากได้ลูกโดยวิธีอุ้มบุญ ทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

การทำอุ้มบุญไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวิธีอุ้มบุญเป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์จะแนะนำให้ทำและต้องขออนุญาตจากแพทยสภาเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย การทำอุ้มบุญทำให้ถูกกฎหมายทำได้ ดังนี้

  • คู่สามีภรรยาต้องเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • มีข้อบ่งชี้ว่าไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเอง เช่น ไม่มีมดลูก มดลูกมีความผิดปกติ มีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์และชีวิต อย่างโรคหัวใจ เป็นต้น
  • ตัวอ่อนที่ได้ต้องได้จากการปฏิสนธิจากไข่และอสุจิของคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีบุตร หรืออาจเกิดจากอสุจิหรือไข่ของผู้อื่น แต่ต้องไม่ใช่ไข่ของหญิงที่อุ้มบุญ และไม่ใช่ของของบุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีและภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตร(1)
  • หญิงอุ้มบุญต้องมีอายุ 20-35 ปี เคยตั้งครรภ์มาแล้ว มีสุขภาพที่แข็งแรง ต้องเป็นญาติโดยสายเลือดของฝ่ายหญิงหรือชาย และต้องไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของคู่สามีหรือภรรยาที่ต้องการมีบุตร(1)
  • ในกรณีที่หญิงอุ้มบุญมีสามีตามกฎหมาย ต้องได้รับการยินยอมจากสามีของเธอให้ตั้งครรภ์แทนได้(2)
  • การทำอุ้มบุญต้องไม่มีการให้ค่าตอบแทนในการอุ้มบุญ อุ้มบุญต้องเกิดขึ้นโดยความสมัครใจ

อุ้มบุญ ทำอย่างไร ทำได้ที่ไหน

ภาพแสดงขั้นตอนการทำอุ้มบุญ

อุ้มบุญทำได้โดยการกระตุ้นให้ไข่ของหญิงที่ต้องการมีบุตรและหญิงที่อุ้มบุญให้ไข่ตกพร้อมกัน จากนั้นทำการดูดเอาไข่ของหญิงทั้งสองคนออกมา โดยนำไข่ของหญิงที่ต้องการมีบุตรผสมกับอสุจิของสามี ส่วนไข่ของหญิงอุ้มบุญแพทย์จะไม่นำมาใช้ เมื่อเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว จะย้ายเข้าไปในโพรงมดลูกของหญิงที่อุ้มบุญเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป การทำอุ้มบุญสามารถทำได้ที่โรงพยาบาลที่มีศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและรับทำอุ้มบุญที่ถูกกฎหมาย อย่างเช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นต้น

เด็กอุ้มบุญ เป็นลูกของใครกันแน่

ถึงแม้ว่าหญิงอุ้มบุญจะอุ้มท้องให้ ความรัก ความผูกพันก็ตามมาด้วย แต่เมื่อเด็กคลอดออกมาต้องเป็นบุตรที่ชอบโดยกฎหมายของคู่สามีภรรยาที่ต้องการจะมีบุตรเท่านั้น ถึงแม้ว่าไข่หรืออสุจิไม่ใช่ของสามีภรรยาที่ต้องการมีบุตร เด็กที่เกิดมาย่อมเป็นลูกที่ชอบโดยกฎหมายเช่นกัน เจ้าของไข่หรืออสุจิไม่มีสิทธิในตัวเด็กทั้งสิ้น(2) ส่วนในการแจ้งเกิดนั้นพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายจะเป็นคนไปแจ้ง

การอุ้มบุญเป็นตัวเลือกสุดท้ายและให้ผลที่ดี ขั้นตอนและข้อกำจัดค่อยข้างมากเพื่อป้องกันการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ และไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ห้ามอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ ประเทศเยอรมัน ออสเตรเลีย(3) ก็ห้ามเช่นกัน ดังนั้น ในจะทำอุ้มบุญต้องปรึกษาแพทย์ ศึกษาข้อกฎหมายให้ชัดเจนนะคะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. ทำซิฟท์ อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้มีลูกสมใจ
2. ทำอิ๊กซี่ อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้มีลูกสมใจ
3. ทำกิ๊ฟท์ อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้มีลูกสมใจ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง:

  1. แพทยสภา.แถลงข่าวแพทยสภา กรณีอุ้มบุญ. เข้าถึงได้จาก https://www.tmc.or.th/detail_news.php?news_id=763.[ค้นคว้าเมื่อ 5 ตุลาคม 2561]
  2. พระราชบัญญัติ คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558.เข้าถึงได้จาก http://rh.anamai.moph.go.th/ewt_dl_link.php?nid=136.[ค้นคว้าเมื่อ 5 ตุลาคม 2561]
  3. Surrogacy.เข้าถึงได้จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Surrogacy.[ค้นคว้าเมื่อ 5 ตุลาคม 2561]