ต้องยอมรับว่าโลกทุกวันนี้หมุนเร็ว ไม่เหมือนยุคเราในอดีต เด็กที่เกิดและเติบโตในยุคศตวรรษที่ 21 กำลังเจอกับยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ พ่อแม่เองก็กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น อาชีพหลายๆอย่างในอดีตถูกกลืนหายไป ในขณะเดียวกันก็มีอาชีพใหม่ๆที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น อย่าง Youtuber หรือ Caster การเขียน coding ของเล่นหรือวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ๆ ซึ่งทำให้บางทีประสบการณ์ในอดีตของพ่อแม่ก็ไม่อาจช่วยในการเลี้ยงลูกได้อีกต่อไป
สามสิ่งหลักๆ คือ Skillsets/ความรู้/วิธีคิด ซึ่งพ่อแม่ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น Collaborative skills, Active learning, Analytical thinking ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความกดดันในการเลี้ยงลูก ที่พ่อแม่ต้องพยายามเตรียมลูกให้พร้อม มีการเรียนพิเศษเพิ่มขึ้นมากมาย แต่ไม่ว่าจะพยายามยังไง เราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าเพียงพอหรือไม่ เพราะโลกในอนาคตอาจมีสิ่งอีกมากมายที่เราคิดไม่ถึง ทั้งในด้านการใช้ชีวิต การเรียนและทำงานในอนาคต รวมถึงการอยู่ร่วมในสังคม
สิ่งเดียวที่พ่อแม่ในศตวรรษที่ 21 ทำได้ดีที่สุด คือ การเตรียมความพร้อมให้ลูกกับการเรียนรู้ และเผชิญกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อที่ว่าไม่ว่าเขาจะเจอเรื่องอะไรในอนาคต ก็สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที พร้อมเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด
ซึ่งก่อนจะเตรียมความพร้อม พ่อแม่ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาสมองของลูก เพราะสมองทำหน้าที่ เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ การคิด และความจำ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด โดยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี เป็นช่วงที่สมองสร้างเซลล์ประสาทจำนวนมาก ทำให้สมองมีขนาดใหญ่ และโตขึ้นเร็ว หลังจากนั้นช่วงอายุ 6-12 ปี เป็นช่วงที่มีการเชื่อมโยงการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า synaptic pruning หรือกระบวนการตัดแต่งวงจรประสาท เซลล์สมองส่วนไหนได้ใช้ ได้ถูกกระตุ้น จะถูกเก็บไว้ ส่วนที่ไม่ได้ใช้ก็จะถูกตัดทิ้งไป เซลล์ประสาทส่วนที่ถูกเลือกเก็บไว้ จะได้รับการพัฒนาต่อ ดังนั้น หากสมองเด็กไม่ได้รับการพัฒนา เซลล์สมองที่ควรมีโอกาสพัฒนา ก็จะเสื่อมสลายไป ทำให้ทักษะหรือความสามารถต่างๆขาดหายไปเมื่อโตขึ้น นอกจากนี้แล้ว สมองยังต้องการกลูโคสและออกซิเจนซึ่งเป็นพลังงานหลักในการทำงาน โดยเฉพาะออกซิเจนนั้น สมองต้องการมากถึง 20% ของออกซิเจนที่หายใจเข้าสู่ร่างกาย ยิ่งมีการเรียนรู้มาก สมองยิ่งต้องการสารอาหารและออกซิเจนมากขึ้น
แล้วพ่อแม่สามารถเตรียมความพร้อมให้ลูกได้อย่างไร
1. ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตนเอง
สามารถฝึกได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟันเอง ทำให้ลูกรู้สึกว่า ตัวเองใช้ได้ ทำอะไรได้ รักและภูมิใจในตัวเอง หรือที่เรียกว่า self-esteem ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการพัฒนาสมอง
2. ปล่อยให้ลูกเล่น เพราะการเล่นคืองานของเด็ก
ระหว่างที่ลูกเล่น จะเกิดการตั้งเป้าหมายระยะสั้นเป็นครั้งๆโดยธรรมชาติ มีการใช้นิ้วมือทั้งสิบและประสาทสัมผัสทั้งห้า ทำให้สมองส่วนหน้าได้รับการพัฒนา ตัวอย่างการเล่นที่ช่วยกระตุ้นสมองลูก ได้แก่ การระบายสี ปั้นดินน้ำมัน เล่นบล็อกไม้ ปีนป่าย เป็นต้น
3. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการเลี้ยงลูกเชิงบวก
ด้วยการสอนลูกด้วยเหตุผล เปิดโอกาสให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์ เข้าใจ แก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งช่วยพัฒนา “สมองส่วนคิด” ต่อยอดสู่การเรียนรู้ การขู่ ตำหนิ ประชด หรือลงโทษให้หลาบจำ ทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย และสมองไม่ได้รับการพัฒนา
4. ใส่ใจโภชนาการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารอาหารที่ใช้ในการพัฒนาสมองลูก ได้แก่ โปรตีน กรดไขมันจำเป็น DHA และ ARA ธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินเอ วิตามินบี 12 ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่แรกเกิด ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานอย่างน้อย 6 เดือน ตามมาด้วยการดูแลลูกให้ได้รับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เช่น ไข่ ปลาทะเล ฟักทอง แครอท ผักใบเขียว น้ำซุปที่มีคุณประโยชน์ เป็นต้น
โดยสรุปก็คือ ถ้าถามว่าการเลี้ยงเด็กในสมัยนี้ มีอะไรที่แตกต่างจากสมัยก่อนบ้าง คำตอบคือ หลักการพื้นฐานไม่ต่างกัน จะต่างก็ตรงเรื่องเทคโนโลยี ดังนั้น เราต้องเตรียมลูกให้พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา เน้นการพัฒนาทักษะรอบด้าน ทั้งทักษะการเอาตัวรอดและทักษะการใช้ชีวิต รวมทั้งใส่ใจกับเรื่องโภชนาการที่มีผลต่อสมอง เพื่อให้ลูกสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จได้ในศตวรรษที่ 21
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล (หมออร)
Facebook page : เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team