สาเหตุทารกในครรภ์พิการ เกิดจากอะไร แก้ไขได้ไหม

22 September 2018
20271 view

สาเหตุทารกในครรภ์พิการ

ปัจจุบันอัตราเด็กพิการตั้งแต่แรกเกิดมีมากขึ้น คิดเป็นอัตราการเด็กพิการรุนแรงตั้งแต่กำเนิดในไทยมีประมาณ 30,000 คนต่อปี จากจำนวนเด็กเกิดใหม่ทั้งหมด 800,000 คนต่อปี หรือประมาณ 3 ใน 100 คน(1) นับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อย ซึ่งความพิการตั้งแต่กำเนิดเกิดขึ้นจากความผิดปกติของทารกในครรภ์มารดา Mamaexpert  จึงได้รวบรวมสาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์พิการมาฝาก ตามมาดูกันเลยค่ะ

8 สาเหตุทารกในครรภ์พิการ

1. สาเหตุทารกในครรภ์พิการจากโครโมโซม

เพราะโครโมโซมทำหน้าที่ถ่ายทอดและควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆ เมื่อโครโมโซมมีความผิดปกติย่อมส่งผลให้คนมีความผิดปกติ ซึ่งในแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากจะพบเด็กที่มีความผิดปกติของโครโมโซมมากกว่าความผิดปกติของโครโมโซมมีดังนี้

  • โครโมโซมอยู่ผิดตำแหน่งไปแทนที่บางคู่ จากที่มีอยู่ 2 จะกลายเป็น 3 ถ้าไปแทนในตำแหน่งไตรโซมี 13 จะทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการของอวัยวะหลายส่วนและมักเสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่ครบเดือน ถ้าไปแทนตำแหน่งไตรโซมี 21 จะเป็นกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ทำให้เด็กโตช้า สติปัญญาไม่ดี ตัวอ่อนปวกเปียก ตาเล็ก(2)
  • โครงสร้างของโครโมโซมแต่ละตัวผิดปกติ มีบางส่วนขาดหายไปทำให้เกิดความพิการในด้านนั้น ซึ่งโดยปกติแล้วโครโมโซม 1 คู่ จะมีแขน 2 แขน ถ้าโครโมโซมคู่ที่ 5 หายไป 1 แขน(2) จะทำให้ศีรษะเล็กกว่าปกติ หน้ากลม ใบหูต่ำกว่าปกติ ตาห่าง ปัญญาอ่อน มีเสียงร้องแหลมคล้ายแมว เรียกความผิดปกตินี้ว่า กลุ่มอาการคริดูชาต์ (Cri-du-chat syndrome)(3)
  • โครโมโซมเพศหญิงหายไป 1 ตัว ทำให้เด็กผู้หญิงเตี้ยแคระ คอสั้น หัวใจและหลอดเลือดมีความผิดปกติ รวมทั้งไม่มีประจำเดือน เรียกอาการนี้ว่า อาการเทอร์เนอร์ (turner syndrome)(2)
  • โครโมโซม x เกินมาจากปกติ พบในเพศหญิงและชาย ในเพศหญิงเรียกว่า ซูเปอร์ฟีเมล (Super female) ลักษณะภายนอกจะปกติแต่สติปัญญาต่ำ ในชายเรียกว่า กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter's syndrome) สะโพกพาย หน้าอกโต สูงมากกว่าปกติ ลูกอัณฑะเล็ก ไม่มีอสุจิ จึงทำให้เป็นหมัน(3)
  • ความผิดปกติของโครโมโซม Y โดยโครโมโซม Y เกินมาจากปกติ เกิดขึ้นในเพศชาย เรียกว่า ซูเปอร์เมน (Super men) จะมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าปกติ มีอารมณ์ร้าย โมโหง่าย แต่ในบางรายไม่โมโหร้าย อารมณ์ปกติดี รวมทั้งมีระบบสืบพันธ์ที่ปกติ ไม่เป็นหมัน(3)

2. สาเหตุทารกในครรภ์พิการจากความผิดปกติของยีน 

ยีนเป็นสิ่งที่อยู่บนโครโมโซม โครโมโซมจะมี DNA และใน DNA จะมียีนอยู่ ซึ่งทำหน้าที่กำหนดลักษณะทางพันธุกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต พ่อแม่ที่มียีนด้อยในตัวจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่ถ้าลูกได้รับยีนด้อยจากแม่และพ่อจะส่งผลต่อลูก โดยเมื่อตั้งครรภ์แต่ละครั้งลูกจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคธาลัสซีเมียร้อยละ 25 มีลักษณะผอมแห้ง เจ็บป่วยได้ง่าย ตับโต ม้ามโต และอาจหัวใจวายได้(2) ส่วนคนที่เป็นโรคจากยีนเด่น ลูกแต่ละคนที่เกิดมาจะมีความเสี่ยงเป็นโรคอะคอนโดรเพลเซีย ร้อยละ 50 ซึ่งมีแขนขาสั้น เตี้ยแคระ ศีรษะโต (2)

3. สาเหตุทารกในครรภ์พิการจากโรค 

ซึ่งโรคที่อันตรายต่อการทารกในครรภ์ ได้แก่

  • โรคเบาหวาน คุณแม่ที่เป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ต้องปรึกษาแพทย์ รีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดหรือทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เพราะเบาหวานเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกในครรภ์ เช่น อาจเกิดการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ คลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวมาก เมื่อคลอดจะพบมีความผิดปกติของการหายใจมากกว่าทารกที่ไม่ได้เกิดจากแม่ที่เป็นเบาหวาน(3)
  • ธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่ทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ โดยชนิดที่รุนแรงที่สุดทำให้ทารกตายในครรภ์หรือเสียชีวิตหลังคลอดไม่เกิน 1 วัน ชนิดที่รุนแรงทำให้ทารกหลังจากคลอดได้   3-6 เดือนจะมีปรากฎอาการท้องป่อง ม้ามโต ตับโต จะได้รับเลือดเป็นประจำเนื่องจากมีภาวะซีดมาก  ส่วนชนิดรุนแรงน้อยเด็กจะมีภาวะซีดมากขึ้นเมื่อเป็นไข้ ดังนั้นในการแต่งงานหรือมีคู่สมรสต้องตรวจหาพาหะของโรคก่อนเพื่อสามารถวางแผนการมีบุตรได้ถูกต้อง เพราะถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคคนเดียวและอีกฝ่ายเป็นพาหะ ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมีย 50%(5)
  • โรคซิฟิลิส เป็นโรคที่เกิดได้ทั้งพ่อและแม่ สำหรับแม่ที่มีเชื้อซิฟิลิสส่งผลให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ และเกิดความพิการแต่กำเนิด เช่น หูหนวก หัวใจรั่ว สมองพิการ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อพบว่ามีเชื้อซิฟิลิสขณะตั้งครรภ์ต้องปรึกษาแพทย์ รับการรักษาเพราะโรคนี้รักษาให้ได้หายและต้องรีบรักษาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
  • หัดเยอรมัน เป็นไข้ออกผื่นที่เกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อตั้งครรภ์ได้รับเชื้อหรือเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ส่งผลให้ทารกที่อยู่ในครรภ์เกิดความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด หูหนวก ตับโต ม้ามโต เกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ สมองมีความผิดปกติ เป็นต้น(6)

4. สาเหตุทารกในครรภ์พิการจากการขาดโฟเลต

เมื่อวางแผนมีบุตรควรทานโฟเลตก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน และกินต่อไปจนตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน เพราะโฟเลตเป็นตัวช่วยในการแบ่งเซลล์ การพัฒนาอวัยวะของทารกในครรภ์ และสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้ถึง 5 โรค ได้แก่ โรคหลอดประสาทไม่ปิด ปากแหว่งเพดานโหว่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แขนขาพิการ และกลุ่มอาการดาวน์(7)

5. สาเหตุทารกในครรภ์พิการจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของแม่ขณะตั้งครรภ์

เพราะเอทานอลซึ่งเป็นสารที่อยู่ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปทำลายเซลล์ประสาทของทารก ทำให้เกิดความผิดปกติ หากยิ่งดื่มในปริมาณที่มากและดื่มในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ที่เป็นช่วงเริ่มพัฒนาอวัยวะต่างๆ ของทารกในครรภ์ จะส่งผลให้ เมื่อคลอดมีความผิดปกติ เช่น หนังคลุมหัวตามาก จมูกแบบ ริมฝีปากบนยาวและบาง ช่องตาสั้น น้ำหนักแรกเกิดน้อย ศีรษะเล็ก สมองใหญ่มีร่องผิดปกติ มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ มีปัญหาด้านความจำ อาจเสี่ยงต่อการเป็นภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และมีปัญหาด้านสมาธิสั้น(8)

6. สาเหตุทารกในครรภ์พิการจากบุหรี่

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์รู้ไหมว่า สารนิโคตินคาร์บอนมอนอกไซด์ และทาร์ ที่มีอยู่ในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดดำที่มดลูกเกิดการหดตัว ทำให้เลือดไหลผ่านไปยังรกได้น้อยลง รวมทั้งออกซิเจนและสารอาหารที่ให้ทารกในครรภ์ก็ลดลงตามไปด้วย ทำให้ทารกในครรภ์พัฒนาการล่าช้า อาจเสี่ยงแท้ง เสี่ยงเสียชีวิตในครรภ์ คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดน้อย ระบบการหายใจไม่ดี ปอดไม่แข็งแรง แม่ที่สูดดมควันบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ลูกจะเป็นหอบหืด ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในครรภ์ 2-3 เท่า เมื่อคลอดออกมาต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และในแม่ที่สูบบุหรี่ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์พบว่าลูกที่คลอดออกมามีความผิดปกติของหัวใจประมาณ 20-70%(9)นอกจากนี้บุหรี่ยังส่งผลต่อสมองของเด็กทำให้มี IQ ต่ำ สมาธิสั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าว มีปัญหาในการเข้าสังคม

7. สาเหตุทารกในครรภ์พิการจากยารักษาสิว

ยารักษาสิวทั้งชนิดกินและทามีอันตรายต่อทารกในครรภ์ ยารักษาสิวที่ห้ามใช้ในแม่ตั้งครรภ์ได้แก่

  • ยากลุ่มเดตตร้าชัยคลิน ได้แก่ Tetracycline, Doxycycline และ Minocyeline ยากลุ่มนี้จะผลต่อการสร้างฟันของทารกในครรภ์
  • ยารักษาสิวกลุ่มฮอร์โมน เช่น Spironolactone, Cyproterone acetate ห้ามใช้ในขณะตั้งครรภ์เพราะอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์ที่เป็นเพศชายมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเพศหญิง
  • ยารักษาสิว “ไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin)” หากแม่ตั้งครรภ์ทานเข้าไปจะทำให้ทารกในครรภ์มีโอกาสพิการได้หลายรูปแบบ เช่น พิการทางกะโหลกศีรษะ สมอง หัวใจ แขนขา (ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์) สำหรับหญิงที่วางแผนจะมีลูกต้องคุมกำเนิดร่วมด้วย และหลังจากหยุดยาแล้วต้องคุมกำเนิดต่ออีกประมาณ 1 เดือน(10)

นอกจากนี้ยังมียารักษาสิวที่แม่ตั้งครรภ์ห้ามใช้และควรเลี่ยงไม่ว่าเป็นยาชนิดกินหรือทาก็ตาม คือ Tazarolene  Tretinoin และ Adapalene

8. สาเหตุทารกในครรภ์พิการจากสารเคมีที่ใช้ในการทำผม

มีการศึกษาความผิดปกติของทารกกับความสัมพันธ์ของมารดาที่มีอาชีพเสริมสวยของมหาวิทยาลัยลันด์ ประเทศสวีเดน พบว่ามารดาที่เป็นช่างเสริมสวยมักคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักน้อย และทารก1 ใน 3 มีลักษณะที่ผิดปกติโดยมีความผิดปกติที่หัวใจมากที่สุด (รศ. บัญญัติ สุขศรีงาม)(11) ซึ่งผลการศึกษาสรุปว่ามารดาที่เป็นช่างเสริมสวยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่ทารกในครรภ์จะผิดปกติ ส่วนสาเหตุของการเกิดความผิดปกติยังไงไม่ทราบแน่ชัด แต่เมื่อตั้งครรภ์แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการการทำผมในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์หรือจนกว่าจะคลอด พร้อมทั้งแนะนำให้ช่างทำผมที่กำลังตั้งครรภ์ทำงานในสถานที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สวมผ้าปิดจมูก ลดการใช้สารเคมีในการทำผม

สาเหตุทารกในครรภ์พิการมีทั้งที่เราสามารถควบคุมได้มากและควบคุมได้น้อย ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจสุขภาพครรภ์ให้มาก ส่วนคนที่แต่งงานใหม่ควรวางแผนก่อนมีบุตรเพื่อลดโอกาสทารกในครรภ์พิการ… ด้วยความปรารถนาดีจาก Mamaexpert ค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. ความพิการแต่กำเนิดมีป้องกันได้จริงหรือ  

2. ไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาพิการ กลัวลูกพิการต้องทำอย่างไร
3. กลัวทารกในครรภ์พิการ กลัวลูกพิการแต่กำเนิด แม่ท้องต้องทำอย่างไร

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง:

  1. 'โฟเลต' วิตามินวิเศษ ทั่วโลกผสมอาหาร ต้านพิการแรกเกิด ไฉนไทยไร้ก.ม.คุม?.เข้าถึงได้จาก https://www.tmc.or.th.[ค้นคว้าเมื่อ 3 กันยายน 2561]
  2. ความพิการแต่กำเนิดและโรคถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์.เข้าถึงได้จาก http://kanchanapisek.or.th. [ค้นคว้าเมื่อ 3 กันยายน 2561]
  3. ความผิดปกติและโรคทางพันธุกรรม.เข้าถึงได้จาก http://www.maceducation.com.[ค้นคว้าเมื่อ 4 กันยายน 2561]
  4. ภาวะเบาหวานในสตรีตั้งครรภ์.เข้าถึงได้จาก http://www.piyavate.com.[ค้นคว้าเมื่อ 5 กันยายน 2561]
  5. คู่มือความรู้การตรวจเลือดพ่อแม่ เพื่อดูแลลูกในครรภ์.เข้าถึงได้จาก https://thailand.unfpa.org.[ค้นคว้าเมื่อ 5 กันยายน 2561]
  6. บังอร พรรณลาภ.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.หัดเยอรมันกับการตั้งครรภ์.เข้าถึงได้จาก http://www.si.mahidol.ac.th.[ค้นคว้าเมื่อ 5 กันยายน 2561]
  7. 5 โรคพิการแต่กำเนิด ป้องกันได้ด้วย ‘โฟลิก’.เข้าถึงได้จาก http://www.thaihealth.or.th.[ค้นคว้าเมื่อ 5 กันยายน 2561]
  8. ผศ.พญ.สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์.ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.ผลกระทบของการเสพสารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์.เข้าถึงได้จาก http://www.si.mahidol.ac.th.[ค้นคว้าเมื่อ 5 กันยายน 2561]
  9. Chris Woolston.How smoking during pregnancy affects you and your baby.เข้าถึงได้จาก https://www.babycenter.com.[ค้นคว้าเมื่อ 6 กันยายน 2561]
  10. เตือนภัย!!"ยารักษาสิว"เสี่ยงทำให้เด็กพิการ.เข้าถึงได้จาก http://www.komchadluek.net.[ค้นคว้าเมื่อ 4 กันยายน 2561]
  11. รองศาสตราจารย์บัญญัติ สุขศรีงาม.ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.เข้าถึงได้จาก http://www.uniserv.buu.ac.th.[ค้นคว้าเมื่อ 4 กันยายน 2561]
  12. Hair Treatment During Pregnancy.เข้าถึงได้จาก http://americanpregnancy.org.[ค้นคว้าเมื่อ 4 กันยายน 2561]