โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก คุณแม่ต่างก็ทราบกันดีแล้วว่าเป็นโรคที่น่ากลัว และควรดูแลสุขภาพของคุณแม่เองและลูกน้อยให้รอดพ้นจากความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้จะดีที่สุด เนื่องจากอาการและผลของมันสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้อย่างร้ายแรง บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น จึงควรรู้จักสาเหตุและวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยยิ่งควรใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งคุณแม่สามารถติดตามรายละเอียดเพื่อทำความรู้จักโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่สาเหตุ อาการและวิธีรักษาป้องกันอย่างละเอียดถูกต้องจากข้อมูลที่ Mama Expert นำมาบอกต่อ ดังต่อไปนี้ค่ะ..
สาเหตุของโรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อ ซึ่งเชื้อไวรัสเดงกีมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เดงกี 1,เดงกี 2,เดงกี 3 และ เดงกี 4 เป็นเหตุให้เราติดเชื้อได้หลายครั้ง ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการประมาณ 5-8 วัน หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด ความรุนแรงมีตั้งแต่น้อยจนถึงมาก บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต
ระยะของโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1.โรคไข้เลือดออกระยะไข้
ผู้ป่วยมีไข้ขึ้นปุบปับ ไข้สูงลอย เบื่ออาหาร อาจมีอาเจียนไม่มีน้ำมูกหรือไอ อาจมีผื่นแดงขึ้นตามตัว บางรายมีจุดเลือดออกตามผิวหนังหรือเลือดกำเดาออก ระยะนี้เป็นอยู่ประมาณ 2 ถึง 7 วัน
2.โรคไข้เลือดออกระยะวิกฤติหรือช็อก
ผู้ป่วยมีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว การไหลเวียนโลหิตล้มเหลวผู้ป่วยที่อาการช็อก ตับโต เกล็ดเลือดต่ำ เลือดข้นขึ้น ถ้ารักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้
3.โรคไข้เลือดออกระยะฟื้น
ตัวผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วเริ่มรับประทานอาหารได้และจะมีอาการดีขึ้นใน 2-3 วันถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน ถ้าผู้ป่วยเริ่มรับประทานอาหารได้และเกล็ดเลือดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแสดงว่าผู้ป่วยดีขึ้น
อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการของโรคนี้คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด กล่าวคือ มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่แตกต่างกันที่ ไข้จะสูงกว่ามาก โดยอาจมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีหน้าแดง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อค่อนข้างมากกว่า หากทำการทดสอบโดยการรัดต้นแขนด้วยสายรัด (Touniquet test) จะพบจุดเลือดออก ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรืออาการเลือดออกผิดปกติอื่นๆ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจพบอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะลดลง อาจถึงกับช็อกและเสียชีวิตได้ โดยอาการนำของภาวะช็อกมักเริ่มจากการมีไข้ลดลง ดังนั้นหากพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงตามด้วยอาการดังที่กล่าวมา ควรรีบแจ้งแพทย์หรือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
ในเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก มักพบว่า มีอาการในระยะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากผู้ปกครองละเลยการพาผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยเด็กจะเสียชีวิตเนื่องจากการรักษาที่ล่าช้าได้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสงสัยไว้ก่อนว่าบุตรหลานที่มีอาการไข้สูงในฤดูฝนอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และควรรีบพาบุตรหลานไปรับการรักษา
ข้อแตกต่างระหว่างไข้เลือดออก กับไข้ธรรมดา
- มีไข้สูงตั้งแต่ 39 - 90 องศาเซลเซียส
- ส่วนมากไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ
- อาจมีการปวดเมือยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปาดดวงตา
- อาจพบว่ามีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
- มีเลือดออก (กรณีอาการถึงขั้นรุนแรง) เลือดกำเดาไหล เลือดตามไรฟัน อาจถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด
การรักษาโรคไข้เลือดออก
แพทย์จะให้การรักษาโดยรักษาไปตามอาการในแบบประคับประคองไปก่อนเท่านั้น เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มียาชนิดใด ที่สามารถต่อต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออกได้ แต่ทั้งนี้ก็จะเกิดผลดีได้ หากแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยพบโรคได้ตั้งแต่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ อีกทั้งแพทย์จะต้องมีความเข้าใจถึงธรรมชาติของโรคและให้การรักษารวมทั้งการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยยังคงอยู่ในช่วงวิกฤตประมาณ 24-48 ชั่วโมงที่มีการรั่วไหลของพลาสมา
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
การป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด
- ใส่เสื้อผ้าสีอ่อ
- ใช้ยาทากันยุง บริเวณผิวหนังที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม
- ใส่มุ้งลวดที่บ้าน ประตูควรมีที่ปิดอัตโนมัติ เพราะการลืมปิดเพียง 5 นาที ก็ทําให้ยุงเข้ามาได้จำนวนมาก ห้องนอนควรมีประตูมุ้งลวดอีกชั้น
การป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- ยุงลายชอบวางไข่ในน้ำนิ่งใส ถ้ามีน้ำประปาใช้ได้ตลอดเวลา ก็ไม่จำเป็นที่ต้องภาชนะเก็บน้ำหรือถ้าจำเป็นควรมีฝากปิด
- เปลี่ยนน้ำในแจกันทุก 7 วัน ก่อนที่ยุงจะฟักเป็นตัว
- ถ้าไม่ใช่ภาชนะบรรจุน้ำดื่ม ควรใส่ปลาหางนกยูงเข้าไปกินลูกกน้ำ หรือทรายอะเบตเข้าไปทำลายลูกน้ำ
Did You Know? รู้หรือไม่
ยุงลายจะกัดเวลากลางวัน...ประมาณ 2 ชั่วโมง หลังพระอาทิตย์ขึ้น และ 3-4 ชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ตก ยุงชนิดนี้เป็นยุงบ้าน ชั่วชีวิตบินไปได้ไม่เกิน 200 เมตร ดังนั้นถ้ามียุงลายในบ้าน ต้องหาแหล่งของยุงและกำจัดทิ้ง
บทความแนะนำ
2. 27 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก
3. วัคซีนบังคับของเด็กไทย ที่แม่ต้องรู้
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง
1.คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล.ไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever).เข้าถึงได้จาก http://www.tm.mahidol.ac.th/tmho/dengue.htm .[ค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561]
2.ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.เภสัชกรหญิง วิภารักษ์ บุญมาก.โรคไข้เลือดออก.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/s73O4s .[ค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561]
3.สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาไข้เลือดออกในระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2548.8-33.[ค้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2561]