วัคซีนไอพีดี ต้องฉีดหรือไม่ จะเป็นอย่างไร หากลูกไม่ได้ฉีดวัคซีนโรคป้องกันไอพีดี (IPD)

22 November 2017
32696 view

วัคซีนไอพีดี

เด็กเล็กยังมีภูมิคุ้มกันโรคไม่มากนักเนื่องจากร่างกายของเขายังเจริญเติบ โตไม่เต็มที่และยังไม่แข็งแรงพอที่จะต้านเชื้อโรคร้ายแรงได้  โดยเฉพาะสองเชื้อร้ายอย่างนิวโมคอคคัสและเอ็นทีเอชไอ ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคไอพีดี ปอดบวมและโรคหูชั้นกลางอักเสบ นับได้ว่าเป็นเชื้อที่มีอันตรายร้ายแรง มีความทนทานและมีความเสี่ยงในการดื้อยาสูง วันนี้คุณแม่ทั้งหลายลองมาทำความรู้จักกับโรคอันตราย อย่างไอพีดีซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เพื่อการป้องกันที่ดีและป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวกันค่ะ 

โรคไอพีดี อันตรายมากหรือไม่อย่างไร  

โรคไอพีดี ( INVASIVE PNEUMOCOCCAL DISEASE )ตัวย่อ IPD  หรือ โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง เช่น โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่อาจทำให้สมองพิการได้ ระบบอวัยวะที่เกิดการติดเชื้อได้บ่อยในเด็กเล็ก มีดังนี้ 

  • การติดเชื้อในระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ในเด็กทารกจะวินิจฉัยยาก อาจมีการงอแง ซึมไม่กินนม และชักได้ หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาอาจเสียชีวิตหรือเกิดความพิการตามมาได้ เช่น เป็นโรคลมชัก หูหนวก ปัญญาอ่อน
  • การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ช็อก เสียชีวิต นอกจากนี้เชื้ออาจกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ปอด กระดูกและข้อ เป็นต้น
  • การติดเชื้อทางเดินหายใจที่รุนแรงที่มีการลุกลามเข้าในสมองหรือกระแสเลือด เช่น ปอดอักเสบชนิดรุนแรงที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย เด็กจะมีอาการไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงต้อง ใส่เครื่องช่วยหายใจและเสียชีวิตได้ถ้ารับการรักษาล่าช้า หรือการติดเชื้อหูน้ำหนวกที่ลุกลามเข้าสู่สมอง

วัคซีนวัคซีนไอพีดี มีคุณสมบัติอย่างไร

  1. วัคซีนไอพีดีช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อไอพีดี
  2. วัคซีนไอพีดีช่วยลดอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อนิวโมคอคคัส
  3. วัคซีนไอพีดีช่วยลดจำนวนเชื้อพาหะในโพรงจมูก และลำคอของเด็ก
  4. ทำให้การแพร่กระจายเชื้อลดลง จึงเป็นการวัคซีนไอพีดีป้องกันการติดเชื้อทางอ้อมสู่คนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ เช่นเดียวกัน

ชนิดของวัคไอพีดี

ปัจจุบันมี 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่

1. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดโพลีแซคคาไรต์ (pneumococcal polysaccharide vaccine)

ในไทยมี Pneumo23TM ผลิตโดยบริษัท sanofi Pasteur วัคซีนนี้ใช้เฉพาะในคนที่อายุ 2 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคนี้ และผู้สูงอายุเท่านั้น

2. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (pneumococcal conjugate vaccine ,PCV)โดยวัคซีนชนิดนี้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยล่าสุดมี 2 ชนิดแล้วคือ

  1. Prevnar13 TM ผลิตโดยบริษัท Pfizer เป็นวัคซีนที่ครอบคลุมเชื้อ 13 สายพันธุ์ซึ่งพัฒนามาจากวัคซีนเดิม Prevnar TM ที่มี 7 สายพันธุ์ (วัคซีนชนิดนี้แนะนำให้ใช้ในเด็กที่อายุ 6 สัปดาห์จนถึง 5 ปี)
  2. Synforix TM ผลิตโดยบริษัท GSK เป็นวัคซีนที่ครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัส 10สายพันธุ์ โดยโปรตีนพาหะที่ใช้ในวัคซีนชนิดนี้มีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบจากเชื้อ non-typeable H.influenzae ได้ด้วย (วัคซีนชนิดนี้แนะนำให้ใช้ในเด็กที่อายุ 6 สัปดาห์จนถึง 2 ปี)

การนัดฉีดวัคซีนไอพีดีในเด็กแต่ละช่วงอายุ

  • เด็กอายุน้อยกว่า1 ปี ให้ฉีด เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ booster 12-15 เดือน
  •  เด็กอายุ 7-11 เดือน ให้ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 2 เดือน และ booster 12-15 เดือน
  • เด็กอายุ 1-5 ปี ฉีดครั้งเดียว ยกเว้นเด็กภูมิคุ้มกันต่ำให้ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 2 เดือน


การฉีดวัคซีนวัคซีนไอพีดี ป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน

วัคซีนทุกชนิดไม่สามารถป้องกันโรคได้100% แต่การฉีดวัคซีน เป็นการลดระดับความรุนแรงของโรคนั้นๆ โดยส่วนมากนำให้ฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง โดยในเด็กทารกเริ่มฉีดได้เมื่ออายุ 2เดือน ขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4 เดือน และ 6 เดือน และครั้งสุดท้ายในช่วงอายุ 12-15 เดือน นอกจากนี้แนะนำให้ฉีดในกลุ่มเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีการเจ็บป่วยบ่อยหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสและน่าจะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ หากได้รับข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมทั้งได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำที่ชัดเจนและที่เหมาะสมจากกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สุขภาพของลูกน้อยก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. วัคซีนในเด็กมีอะไรบ้าง

2. อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน

3. วัคซีนเสริม

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team