ความผิดปกติของอัณฑะ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกคุณ

27 March 2017
47707 view

ความผิดปกติของอัณฑะ

หน้าที่ของอัณฑะคือสร้างฮอร์โมนเพศชาย หรือที่เรียกว่าเทสโทสเทอโรน และผลิตอสุจิหรือเซลล์สืบพันธุ์ แต่หากเกิดความผิดปกติขึ้นก็อาจมีปัญหาตามมาภายหลังได้ค่ะ

ปัญหาต่างๆในอัณฑะของเด็กทารก

 

โดยปกติแล้วลูกอัณฑะจะอยู่ภายในถุงอัณฑะ ขณะที่ลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์ส่วนของลูกอัณฑะนี้จะไม่ได้อยู่ในถุงอัณฑะ แต่อยู่บริเวณช่องท้องของลูกค่ะ และเมื่อถึงวันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก ลูกอัณฑะก็จะเลื่อนลงมาอยู่บริเวณถุงอัณฑะภายในระยะเวลา 1-2 เดือน แต่ถ้าไม่เป็นตามนั้นเป็นระยะเวลาเกิน 3-4 เดือน แสดงว่าลูกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับอัณฑะแล้วค่ะ

ความผิดปกติของอัณฑะ ของเด็กวัยแรกเกิด - 3 ขวบ

ความผิดปกติของอัณฑะของเด็กวัยแรกเกิด

ลูกอัณฑะไม่ลงถุงอัณฑะ พบทารกเพศชายจำนวนกว่า 30% ที่คลอดก่อนกำหนดมักจะมีอาการอัณฑะไม่ลงถุงอัณฑะ ลักษณะคือคลำแล้วไม่พบลูกอัณฑะ อย่างไรก็ตามอาจเคลื่อนลงภายหลังได้เอง แต่หากอายุเกิน 1 ปีแล้วยังไม่พบลูกอัณฑะถือเป็นอาการผิดปกติต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ค่ะ นอกจากนี้ก็อาจพบลูกอัณฑะข้างเดียว (ทองแดง) หรือไม่พบลูกอัณฑะทั้ง 2 ข้าง โดยลูกอัณฑะอาจอยู่ผิดที่เช่นในช่องท้อง หรือบริเวณขาหนีบ ซึ่งพบว่า 3 ใน 5% ของเด็กชายที่คลอดตามกำหนดก็มีโอกาสพบลูกอัณฑะลงถุงข้างเดียวได้

ความผิดปกติของอัณฑะของเด็กวัย 1- 3 ขวบ

  • ถุงน้ำในถุงอัณฑะ… ถือเป็นอาการไม่ปกติที่ไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่ เนื่องจากส่วนใหญ่เด็กชายจะมีปริมาณของเหลวอยู่ในถุงอัณฑะมากอยู่แล้ว ส่งผลให้บริเวณอัณฑะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ บวมและแข็ง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งข้างเดียวหรือสองข้าง ส่วนใหญ่แล้วจะหายไปภายใน 1-2 เดือนหลังคลอด หากอาการไม่ดีขึ้นก็ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรับการผ่าตัดค่ะ
  • ลูกอัณฑะผลุบๆ โผล่ๆ… ชื่อก็บอกอยู่แล้วค่ะว่าผลุบๆ โผล่ๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงอาจพบว่าในบางครั้งลูกมีอัณฑะข้างเดียว แต่จู่ๆ ก็มีทั้งสองข้าง นั่นเป็นเพราะอุณหภูมิที่เย็นเกินไปสำหรับลูก หรือแม้แต่ยามที่ลูกตื่นเต้น หรืออารมณ์เสียก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เรียกว่าปฏิกิริยา Cremasteric reflex ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะหายไปเมื่ออากาศอุ่นขึ้น และคุณสามารถสังเกตเห็นอัณฑะของลูกทั้งสองข้างได้เมื่ออาบน้ำอุ่นให้ลูก ถือเป็นอาการปกตินะคะ
  • ไส้เลื่อนในถุงอัณฑะ… อย่างที่กล่าวไปข้างต้นคือเมื่อลูกคลอดออกมาลูกอัณฑะจะเคลื่อนผ่านช่องท้องไปสู่ถุงอัณฑะและช่องนี้จะยังเปิดอยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้ลำไส้เลื่อนมายังบริเวณถุงอัณฑะได้ อาการไส้เลื่อนในถุงอัณฑะของเด็กจะสร้างความเจ็บปวดให้กับลูกน้อยได้มาก ต้องรีบทำการผ่าตัดโดยด่วนเลยนะคะ

การบิดตัวผิดตำแหน่งของลูกอัณฑะ… บางกรณีเนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณลูกอัณฑะอาจเกิดการบิดตัว ส่งผลให้เลือดไม่สามารถเดินทางไปหล่อเลี้ยงลูกอัณฑะได้ ซึ่งอาการนี้ไม่ใช่อาการปกติแต่อย่างใด สามารถเกิดในช่วงวัยเด็กได้ แต่พบได้บ่อยในเด็กที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นค่ะ อาการลูกอัณฑะบิดตัวจะเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ถุงอัณฑะจะเป็นสีแดง บวม มีอาการเจ็บปวดบริเวณถุงอัณฑะข้างที่เป็นและท้องส่วนล่างวิธีป้องกันไม่มีค่ะ แต่เมื่อใดที่ลูกเกิดมีอาการดังกล่าวขึ้น ต้องรีบพาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็วที่สุด

สาเหตุของความผิดปกติของอัณฑะ

  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • มีความผิดปกติเรื่องความสมดุลของฮอร์โมนเพศ
  • หรือบางกรณีไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้
  • หากคุณสังเกตเห็นว่าถุงอัณฑะของลูกเป็นสีแดง บวม เมื่อสัมผัสแล้วเจ็บ ควรรีบพามาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีความผิดปกติของอัณฑะ

  • ตรวจคลำบริเวณอัณฑะลูกทั้งสองข้างว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ ตั้งแต่ลูกอายุได้ 2-3 สัปดาห์ หากอัณฑะไม่ลงถุงภายใน 1-2 ปีแรก อาจทำให้การผลิตอสุจิไม่สมบูรณ์
  • หากไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่มั่นใจว่าถุงอัณฑะมีลูกอัณฑะอยู่นั่นถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าไม่ชัวร์ก็ควรปรึกษาคุณหมอประจำตัวลูกให้แน่ชัด
  • ตรวจเช็กอัณฑะลูกทุกๆ ปี หรืออาจแค่สังเกตจนมั่นใจว่าลูกอัณฑะของลูกอยู่ในถุงอัณฑะจริงๆ ซึ่งช่วงที่ดีที่สุดก็คือช่วงที่ลูกอาบน้ำอุ่มซึ่งจะทำให้สังเกตเห็นลูกอัณฑะได้ชัดเจน
  • ตรวจคลำว่ามีก้อนหรือเมื่อคลำแล้วลูกมีอาการเจ็บผิดปกติหรือเปล่า หากมีควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจาก การที่ลูกมีอัณฑะเพียงข้างเดียว และอยู่ผิดตำแหน่ง เช่น อัณฑะส่วนที่ไม่โผล่มาอยู่ในช่องท้องก็สามารถทำให้อาการลุกลามจนกลายเป็นโรคมะเร็งที่อัณฑะได้ในอนาคต

การดูแลรักษาเด็กที่มีความผิดปกติของอัณฑะ

มีทั้งการให้ฮอร์โมนรักษาที่เรียกว่า hCG ซึ่งจะช่วยให้ลูกอัณฑะผลิตฮอร์โมนเพศชาย โดยระดับฮอร์โมนที่สูงอาจส่งผลให้ลูกอัณฑะเกิดการเคลื่อนตัวสู่ถุงอัณฑะได้ นอกจากนี้ ก็จะมีการผ่าตัดกรณีที่ลูกอัณฑะอยู่ผิดที่ อาทิ บริเวณขาหนีบ แพทย์จะผ่าตัด orchiopexy เปิดบริเวณขาหนีบ ซึ่งจะทำให้มีรอยแผลเล็ก ลูกฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลนาน หรือการให้ยาตามสภาพของโรคที่เป็นดังนั้นถ้าสังเกตพบความผิดปกติ ควรปรึกษากุมารแพทย์หรือศัลยแพทย์เด็กเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ
หมั่นสังเกต และหากคุณๆ เกิดความสงสัยว่าอัณฑะลูกมีปัญหาหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวลูกค่ะ เพราะปล่อยไว้ไม่ดีแน่

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. โรคไส้เลื่อนในเด็ก วิธีสังเกตไส้เลื่อนในเด็ก

2. โรคโลหิตจางในเด็ก อันตรายที่คุณแม่ควรรู้

3. ลูกซีด ภาวะลูกซีด ทำอย่างไรดี

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นพ.บุญไชย ประภากรมโน กุมารแพทย์ โรงพยาบาลบีแคร์