ติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด
โรคติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด (Bacterial vaginosis ) เรียกสั้นๆว่า BV คือโรคที่เกิดจากการเสียสมดุลของเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดผู้หญิงแล้วเกิดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นมาแทนที่ แล้วเกิดการอักเสบจนมีอาการ มีตกขาวมากกว่าปกติ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น เจ็บปวด แสบร้อน หรือคันภายในช่องคลอด
โรคติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด พบได้มากแค่ไหน ?
โรคติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด (BV) นี้เป็นโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในช่องคลอดมากที่สุดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ และในประเทศสหรัฐอเมริกา พบมากในสตรีที่ตั้งครรภ์
ผู้หญิงเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด ได้อย่างไร ?
โรคนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่เข้าใจกันว่าเกิดจากการเสียสมดุลของเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ซึ่งตามปกติในช่องคลอดของผู้หญิงทุกคน จะมีเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นอยู่กันอย่างสงบสุขและสมดุล ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้ส่วนใหญ่ถือว่าเป็นแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพของผู้หญิง แต่มีส่วนน้อยที่อาจจะมีอันตรายต่อสุขภาพ โรค BV นี้เกิดขึ้นจากการที่เชื้อแบคทีเรียชนิดที่มีอันตรายนี้เพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าปกติผู้หญิงทุกคนสามารถเป็นโรคนี้ได้ แต่มีกิจกรรมหรือพฤติกรรมบางอย่างที่อาจจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเสียสมดุลของเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ทำให้เป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น กิจกรรมนั้นคือ
- การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนคนใหม่
- การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายๆคน
- การสวนล้างช่องคลอด
กิจกรรมบางอย่างไม่มีส่วนในการทำให้เกิดโรคนี้ เช่น การใช้ที่นั่งของโถส้วมร่วมกับผู้อื่น,การใช้สระว่ายน้ำรวม ,การใช้ที่นอนร่วมกับคนอื่น ,การจับหรือสัมผัสสิ่งต่างๆรอบๆตัว
อาการและการแสดงออกของโรคติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด
ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ หรือถ้ามีก็จะมีอาการดังต่อไปนี้
- มีตกขาวที่ผิดปกติไปจากเดิม
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น (บางคนบอกว่ากลิ่นเหมือนเหม็นคาวปลา)
- ตกขาวสีขาวหรือน้ำตาล
- มีอาการแสบร้อนในขณะที่ปัสสาวะ
- มีอาการคันรอบๆบริเวณของปากช่องคลอด
ภาวะแทรกซ้อนของโรค ติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด
ส่วนใหญ่โรคนี้จะไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่คนไข้โรค BV บางรายเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นคือ
- คนไข้ที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสติดเชื้อ HIV ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ได้เป็นโรคนี้
- คนไข้ที่เป็นโรคนี้ถ้าติดเชื้อ HIV มีโอกาสแพร่เชื้อ HIV ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ได้เป็นโรคนี้
- คนไข้ที่เป็นโรคนี้ ถ้าเข้ารับการผ่าตัดใดๆบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ เช่น ผ่าตัดมดลูก หรือ ขูดมดลูก มีโอกาสติดเชื้อที่แผลผ่าตัด หรือในบริเวณนั้นได้มากกว่าคนที่ไม่มีโรค BV
- คนไข้ที่เป็นโรคนี้ ในขณะตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ได้มากกว่าคนท้องที่ไม่เป็นโรคนี้ เช่น การคลอดก่อนกำหนด และอาจจะมี ลูกมีน้ำหนักแรกคลอดน้อย
- คนไข้ที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ได้เป็นโรคนี้
- เชื้อที่ก่อโรคนี้ อาจจะลุกลามออกไปที่มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่อุ้งเชิงกรานได้ (PID) และโรค PID ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่จะเป็นหมัน หรือเป็น ภาวะท้องนอกมดลูกที่มีอันตรายต่อชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด
การนำสารน้ำจากช่องคลอดมาตรวจทางห้องปฏิบัติการทางแลปส์ เพื่อตรวจเชื้อแบคทีเรีย ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิด โรค BV
การรักษาโรค ติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด
แม้ว่าคนไข้โรคนี้บางคนสามารถหายจากโรคนี้ได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่อย่างไรก็ตามคนที่เป็นโรคนี้แล้วมีอาการ ควรเข้ารับการรักษาเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะตามมาได้ ในผู้ชายที่เป็นคู่นอนของหญิงที่ป่วยด้วยโรคนี้ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษาสำหรับในหญิงที่ตั้งครรภ์นั้น มีความจำเป็นมากในการที่จะต้องรักษาโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด หรือลูกคลอดออกมาน้ำหนักน้อยกว่าปกติ ควรต้องเข้ารับการตรวจหาโรค BV (แม้ไม่มีอาการใดๆ) และถ้าพบว่าเป็นโรคควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
แพทย์บางคนทำการรักษาโรค BV ก่อนการผ่าตัดคนไข้ที่จะเข้ารับการทำผ่าตัดมดลูกหรือการทำแท้ง เพื่อป้องกันภาวการณ์ติดเชื้อหลังผ่าตัดโรค BV นี้ รักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดที่แนะนำในการใช้ในการรักษาโรคนี้ คือ Metronidazole หรือ Clindamycin ซึ่งยาทั้งสองชนิดนี้สามารถใช้ได้ทั้งคนตั้งครรภ์และไม่ตั้งครรภ์ คนที่ติดเชื้อ HIV ก็รักษาเหมือนกับคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ HIV
โรคนี้สามารถเป็นได้ใหม่ภายหลังการรักษาจนหายแล้ว
การป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด
โรคนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างถ่องแท้ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคนี้จึงยังไม่มี แต่เรามีทางในการลดความเสี่ยงในการที่จะเป็นโรคนี้คือ
- มีความยับยั้งชั่งใจทางเพศ
- ไม่มีคู่นอนหลายๆคน
- ไม่สวนล้างช่องคลอด
- ทานยาที่ได้รับเพื่อการรักษาโรคนี้จนครบที่แพทย์กำหนดแม้ว่าจะไม่มีอาการแล้วก็ตาม
บทความแนะนำ
1.ข้อดี ข้อเสีย ของยาฝังคุมกำเนิด
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team