ลูกไม่ยอมกินข้าว ลูกกินข้าวยาก ทำอย่างไรดี

29 November 2017
115122 view

ลูกไม่ยอมกินข้าว

คุณแม่หลายคนประสบปัญหานี้อยู่ และอาจสงสัยว่าเอ๊ะ!!! ทำไม่ช่วงวัยหัดหม่ำ แรกๆกินเก่งกินได้ทู๊กอย่าง กินเกลี้ยงตลอด พออายุมากเกิน12เดือน ปัญหาต่างๆรุมเร้าเข้ามาทั้งไม่เคี้ยว อมข้าว เขี่ย และเลือกมาก เลือกกินเฉพาะอาหารที่ชอบ ลูกมีพฤติกรรมแบบนี้เพราะอะไรนะ เรามาไขปัญหาลูกกินข้าวยาก และวิธีเอาชนะลูกกินยาก ไปพร้อมๆกันค่ะ 

สาเหตุที่ลูกไม่ยอมกินข้าว

1. ลูกไม่ยอมกินข้าวเพราะลูกชอบอมข้าว

ปัญหาการอมข้าวเกิดส่วนใหญ่จะเกิดจากลูกอิ่มมาแล้วก่อนมื้ออาหาร ลองสังเกตดูนะคะว่าก่อนมื้ออาหารมีการให้ลูกกินจุบกินจิบรึเปล่า โดยเฉพาะของหวาน (น้ำหวาน น้ำอัดลมด้วยค่ะ) พ่อแม่เองอาจไม่ได้ให้ลูกกินแต่คนอื่นล่ะคะ ผู้ใหญ่บางคนเห็นเด็กน่ารักก็ป้อนขนมนมเนยให้ เด็กได้กินทั้งวัน พอถึงมื้ออาหารจึงไม่อยากกินนักโภชนาการบอกว่าช่วงที่เด็กย่างเข้าขวบปีที่สองไปจนถึงก่อนเข้าประถมฯ นั้นจะมีปัญหาเรื่องการกินมาก บางคนขวบปีแรกกินเก่งอยู่ดีๆ พอเข้าขวบปีที่สองลูกกลับมีปัญหาไม่ยอมกินซะเฉยๆ ทั้งนี้เพราะช่วงนี้ลูกกำลังสนใจสิ่งหลากหลายรอบตัว ห่วงเล่น หรือเด็กบางคนติดทีวี พ่อแม่เอาทีวีมาล่อให้ลูกนั่งกับที่ จะได้ป้อนง่าย และที่สำคัญพ่อแม่ไม่ได้ฝึกให้ลูกกินด้วยตัวเอง ซึ่งเริ่มฝึกได้ตั้งแต่ลูกเริ่มหยิบของเข้าปากในขวบปีแรกนั่นแหละค่ะ พ่อแม่จึงต้องป้อนต้องบังคับให้กินกันร่ำไป ลูกก็เบื่อ(มันถึงไม่อยากกินไงล่ะ)

วิธีแก้ปัญหาเมื่อลูกไม่ยอมกินข้าวและชอบอมข้าว
  • ต้องงดอาหารทุกอย่างก่อนมื้ออาหาร (ยกเว้นน้ำเปล่า) เมื่อลูกหิวจะยอมกินเอง
  • สร้างบรรยากาศที่ดีในการกิน อย่าลงโทษหรือบังคับให้เคี้ยว กลืน เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับเวลามื้ออาหาร
  • ฝึกลูกให้ทานด้วยตัวเอง จะเลอะเทอะบ้างก็ต้องยอม
  • ชมเมื่อลูกทานข้าวได้มาก เด็กๆ กับคำชมนี่เป็นของคู่กัน แต่ไม่ต้องถึงกับชมทุกคำที่เคี้ยวหรอกค่ะ

2. ลูกไม่ยอมกินข้าวเพราะเคี้ยวไม่เป็น

ส่วนใหญ่ปัญหาลูกไม่เคี้ยวจะเกิดจากการเลี้ยงดูลูกตั้งแต่ขวบปีแรก พ่อแม่บางคนไม่สนใจให้อาหารเสริมกับลูก หรือให้ช้าไป เพราะคิดว่านมให้สารอาหารที่มีคุณค่ามากกว่า หรือเมื่อถึงวัยที่ลูกเริ่มฟันขึ้น ไม่ฝึกให้ลูกกัดเคี้ยวอาหารแข็งบ้าง ยังให้กินอาหารบดเหลวอยู่ จะด้วยความสะดวกในการป้อน หรือกลัวลูกไม่ได้สารอาหารครบถ้วนก็ตาม ลูกเลยไม่ได้ฝึกเคี้ยวซักที พอลูกไม่เคี้ยว พ่อแม่ก็ไม่พยายาม ปล่อยเลยตามเลย หรือไม่ก็ปล่อยลูกไว้กับพี่เลี้ยงที่ตามใจเด็ก เมื่อเด็กไม่เคี้ยว ก็ใช้วิธีบดอย่างที่เคยทำมา เวลาผ่านไปกว่าจะรู้ปัญหาก็เกิดขึ้นแล้ว

วิธีแก้ปัญหาเมื่อลูกไม่ยอมกินข้าวเพราะเคี้ยวไม่เป็น
  •  เมื่อลูกถึงวัยที่ควรจะได้รับอาหารเสริม ควรให้ลูกได้ลิ้มลองอาหารเสริมหลากหลายรูปแบบ โดยเลือกให้เหมาะกับวัย ค่อยๆ ลองทีละน้อย เพื่อไม่ให้ลูกเกิดการต่อต้าน ถ้าลูกยังไม่ยอมกิน ก็อย่าตามใจลูกจนละเลย พยายามใหม่ค่ะ
  • หากลูกถึงวัยที่ควรเคี้ยวได้แล้ว ก็ต้องค่อยๆ ฝึกด้วยการให้อาหารเสริมที่แข็งขึ้น เพื่อให้เคี้ยวบ้าง พ่อแม่อาจจะทำให้ลูกดูว่าการเคี้ยวทำอย่างไร และบอกลูกว่าอาหารเอร็ดอร่อยขึ้นแค่ไหนหากลูกเคี้ยวมัน
  • เมื่อสังเกตเห็นลูกชอบหยิบของเข้าปากในวัย 8-9 เดือน ลองเอาอาหารเป็นชิ้นให้ลูกหยิบเข้าปากเองบ้าง แต่ต้องระวังอาหารติดคอลูกด้วย ควรเป็นอาหารที่นิ่มยุ่ยเมื่อเข้าปาก

3. ลูกไม่ยอมกินข้าวเพราะเลือกกิน

หนูน้อยบางคนช่างเลือกอาหารเหลือเกิน อาหารชนิดไหนแปลกหน้าเข้ามาเป็นปฏิเสธดะ จริงๆ แล้วก็เป็นปกติของคนเรา แต่หากพ่อแม่ยอมลูก เห็นลูกปฏิเสธไม่กินก็ไม่ให้ลูกลองอาหารใหม่ๆ ให้กินอยู่ไม่กี่อย่างนั่นแหละ เสี่ยงต่อการที่ลูกจะขาดสารอาหารเป็นอย่างยิ่งค่ะ พ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรมการเลือกกินของลูก เพื่อดูว่าเด็กเลือกกินและไม่กินอาหารอะไรบ้าง โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะเริ่มเลือกกินมากขึ้นในกรณีที่เคยมีปัญหาการให้อาหารยากหรือเกิดความวิตกกังวลต่าง ๆ โดยเด็กที่ไม่ได้ลองกินอาหารที่มีเนื้อสัมผัสหรือรสชาติแปลกใหม่ตั้งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมการเลือกกินได้สูง 

วิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวและเลือกกิน เขี่ยอาหาร
  • ให้ลูกได้ลิ้มลองอาหารแปลกใหม่เสมอ โดยค่อยๆ ป้อนทีละน้อย แรกๆ อาจจะไม่ยอมกิน หยุดสักพักแล้วค่อยป้อนใหม่ จะช่วยได้
  • พยายามสร้างความรู้สึกที่ดีกับอาหารที่ลูกปฏิเสธ เช่น กินให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วให้แกลองชิมดูบ้าง
  •  ลองดัดแปลงจัดปรุงอาหารให้ดูน่าทาน แปลกใหม่ไม่ซ้ำซาก

กฏเหล็ก 16 ข้อในการแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวให้สำเร็จ

  1. ฝึกระเบียบให้ลูกให้นั่งโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมพ่อแม่
  2. อย่าทำสิ่งนีนะแม่จ๋า ไม่เปิดทีวีระหว่างรับประทานอาหาร
  3. ตั้งเวลาด้วยนะแม่ให้เวลารับประทานอาหารประมาณ 30 นาที ถ้าลูกไม่รับประทาน เมื่อหมดเวลาให้เก็บอาหารไป
  4. แม่จ๋าไม่ต้องกลัวหนูผอมอย่าตักอาหารให้พอดีไม่มากเกินไป
  5. บทสนทนาก็สำคัญนะแม่ ระหว่างรับประทานอาหารให้พูดคุยแต่เรื่องดี
  6. แม่จ๋าอย่าบังคับให้หนูรับประทานอาหารหรือลงโทษ เมื่อหนูไม่รับประทานอาหาร
  7. ชมหนูบ้างนะแม่เมื่อหนูรับประทานอาหารได้ดีให้ชื่นชม หากทำได้ไม่ดีให้เพิกเฉย
  8. คุณแม่ต้องเข้มงวดงดเว้นการรับประทานอาหารอื่นๆระหว่างมื้ออาหาร เช่น นม ขนม หรือของจุบจิบ เป็นต้น
  9. ลูกวัย 1 ขวบจะเริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เด็กจะต่อต้านหากถูกบังคับ
  10. คุณแม่ตักปริมาณอาหารมากเกินไป
  11. ลูกไม่ชอบรับประทานสิ่งนั้น เช่น ผัก ไม่ควรบังคับ แต่ควรดัดแปลงอาหารนั้นในรูปแบบต่างๆแล้วชักชวนให้เด็กลองรับประทาน
  12. ลูกขาดความอยากรับประทานอาหารเนื่องจากรับประทานขนมหรือนมระหว่างมื้อแล้ว
  13. ลูกอาจมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เช่น ถูกบังคับป้อนจนเจ็บปาก หรือบรรยากาศที่ไม่ดีในการรับประทานอาหาร เช่น ถูกดุหรือถูกตี เป็นต้น
  14. ขณะที่รับประทานอาหารลูกอาจมีความเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือมีปัญหาทางอารมณ์
  15. คุณพ่อคุณแม่ลด ความกังวลใจลงบ้างเกี่ยวกับการรับประทานอาหารของเด็ก เช่น กังวลว่าเด็กจะมีน้ำหนักตัวน้อยหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เพราะความกังวลนั้นส่งต่อไปให้เด็กได้ทำให้มีผลต่อการไม่รับประทานอาหารได้
  16. คุณพ่อคุณแม่ให้ ลูกได้มีโอกาสช่วยเหลือตัวเองเกี่ยวกับการรับประทานอาหารบ้าง เช่น ในเด็กที่เริ่มหยิบอาหารชิ้นเล็กลงหรือเอาช้อนใส่ปากได้ จะหกเลอะเทอะบ้างก็ไม่เป็นไร

เมื่อทราบปัญหาต่างๆเกี่ยวกับการกินของลูกที่เป้นต้นเหตุของการกินยากแล้ว คุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้านลองปรับแก้อย่างค่อยเป็นค่อยไปนะคะ  Mamaexpert  หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจ้าตัวน้อยของแต่ละบ้านจะกลับมาเป็น เจ้าหนูหม่ำง่าย ให้พ่อแม่คลายกังวลได้อย่างแน่นอนค่ะ 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. อาหารของลูกน้อยวัยเริ่มหม่ำ ที่ขาดไม่ได้

2. สารพัดวิธีแก้ปัญหาเด็กกินยาก ให้กลายเป็นเด็กกินง่ายไม่เขี่ยผัก

3. ลูกไม่กินข้าว ลูกกินข้าวยาก อาจเพราะผู้เลี้ยงเช็คด่วน!!!

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team