งูสวัดบริเวณลำตัว ถ้าเป็นข้ามแนวลำตัวจะทำให้เสียชีวิตหรือไม่?

31 October 2017
9183 view

โรคงูสวัด

โรคงูสวัด (Herpes zoster)  เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ "วีแซดวี" (varicella-zoster virus) เป็นคนละโรคกับโรคเริม คนที่เป็นโรคงูสวัด จะต้องเคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน เมื่อภูมิต้านทานอ่อนแอลง จึงกลายเป็นโรคงูสวัด และโรคงูสวัดจะเป็นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิตนี้ ซึ่งต่างกับโรคเริมที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก (ยกเว้น ผู้ที่มีความต้านทานต่ำมาก ๆ เช่น เอดส์ ฯลฯ อาจกลับมาเป็นโรคงูสวัดซ้ำได้อีก)

อาการของโรคงูสวัด

ลักษณะผื่น ระยะแรกจะรู้สึกปวดแสบ ปวดร้อน หรือคันบริเวณที่เป็น ต่อมา 1-2 วัน จะเห็นมีกลุ่มของตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นอยู่บนพื้นผิวหนังที่มีสีแดง และกลุ่มของตุ่มน้ำใสนี้จะวางเรียงตัวกันเป็นเส้นตามแนวของเส้นประสาทที่ผิวหนัง (ตามแนว dermatome) เพราะฉะนั้น จะเห็นเป็นแนวขวางตามลำตัวด้านหน้า ด้านหลัง รอบเอวตามแนวเส้นประสาทตามยาว ที่แขนและขา หรือตามแนวเส้นประสาทที่บริเวณใบหน้า นัยน์ตา หู ศีรษะ เป็นต้น งูสวัด ไม่สามารถจะพันตัวเราจนครบรอบเอวได้ เพราะแนวเส้นประสาทของตัวเรา จะมาสิ้นสุดที่บริเวณกึ่งกลางลำตัวเท่านั้น ในคนธรรมดาที่มีภูมิต้านทานปกติงูสวัดจะไม่ลุกลามเข้ามาแนวกึ่งกลางลำตัวไปอีกซีกหนึ่ ของร่างกาย (ยกเว้นในกรณีที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเอดส์ ถ้าเกิดเป็นงูสวัดก็อาจเป็นข้ามแนวกึ่งกลางลำตัวไปอีกซีกหนึ่งของร่างกาย หรือเป็นงูสวัดทั่วร่างกายได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด

ที่พบบ่อยคือ อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด (post herpetic neuralgia) โดยเฉลี่ยพบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยงูสวัด พบได้ประมาณร้อยละ 50 ที่ผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยอายุ 70 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนาน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่แรก หรือเกิดขึ้นภายหลังผื่นหายหมดแล้วก็ได้ มีลักษณะปวด ลึกๆ แบบปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา หรือปวดแบบแปลบๆ เสียวๆ (คล้ายถูกมีดแทง) เป็นพักๆ ก็ได้ มักปวดเวลาถูกสัมผัสเพียงเบาๆ ปวดมากตอนกลางคืนหรือเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง บางครั้งอาจรุนแรงมากจนทนไม่ได้ อาการปวดมักหายได้เอง (ร้อยละ 50 หายเองภายใน 3 เดือน และร้อยละ 75 จะหายเองภายใน 1 ปี) บางรายอาจปวดนานเป็นแรมปี โดยเฉพาะ อย่างยิ่งถ้าขึ้นที่บริเวณใบหน้า

การป้องกันโรคงูสวัด

การป้องกัน ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และถ้าหากยังไม่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส ก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ และอีกหนึ่งวิธีป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส-งูสวัด ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ ซึ่งฉีดเพียง 1 เข็ม สามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต ถ้าฉีดตอนอายุมากกว่า 13 ปี ควรฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4-8 สัปดาห์

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. โรคสะเก็ดเงินในเด็ก

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณบทความจาก : คุณหมอ Arak Wongworachat