พัฒนาการเด็ก ด้านภาษาและการพูดสื่อสาร ที่คุณแม่ต้องติดตาม 1000 วันแรกของชีวิต

20 October 2017
4013 view

พัฒนาการเด็ก ด้านภาษาและการพูดสื่อสาร

ภาษาประกอบด้วยความเข้าใจภาษาและการแสดงออกทางภาษา เป็นวิธีการสื่อให้คนรอบตัวเข้าใจความต้องการของตนด้วยวิธีต่างๆ เช่น การพูดออกเสียง ภาษาท่าทาง และภาษากาย เป็นต้น พัฒนาการด้านภาษาและการพูดสื่อสารของลูกจะเกิดได้ดีจะต้องมีสิ่งต่อไปนี้คือ ลูกจะต้องได้ยินเสียงก่อนที่จะหัดพูดได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ มีความต้องการที่จะสื่อสารโต้ตอบกับพ่อแม่ และจำเป็นต้องมีพ่อแม่ที่ชอบพูดคุยกับลูก รวมทั้งมีอวัยวะที่ใช้ในการเปล่งเสียงปกติ

ภาษาของเด็กนั้นสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยอาศัยการฟัง การตอบสนองของพ่อแม่ จะมีการพัฒนาตามลำดับของช่วงอายุ เด็กบางคนอาจพัฒนาได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการของครอบครัวค่ะ ลองมาดูตัวอย่างพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของเด็กแต่ละช่วงวัยกันเลยค่ะ

พัฒนาการเด็ก ด้านภาษาและการพูดสื่อสาร ของเด็กแรกเกิด - 1 ปี

พัฒนาการด้านภาษาและการพูดสื่อสารของเด็กวัยแรกเกิด - 1 ปี การส่งเสียงอ้อแอ้ของเจ้าตัวน้อยวันแรกเกิด จะนำไปสู่พัฒนาการด้านการพูดในเวลาต่อมา ที่เกิดจากการเลียนแบบเสียงต่างๆ เช่นเสียงรถ บึ๋นๆ และเกิดจากการสังเกตในสิ่งที่เห็น พัฒนาการด้านภาษาเริ่มตั้งแต่อายุ 3 เดือน จะสามารถออกเสียงสระคำเดียวได้ และจะสามารถออกเสียงตำสองพยางค์ได้หลายเสียงในช่วง 7 เดือน เริ่มเรียนรู้ศัพท์ในช่วง 8 เดือน พอประมาณ 10 เดือน ก็จะเริ่มพูดศัพท์ที่มีความหมายออกมาเป็นคำสั้นๆ จำนวนของคำจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุครบ 1 ปี

พัฒนาการเด็ก ด้านภาษาและการพูดสื่อสาร ของเด็กอายุ 1-3 ปี

เด็กจะเริ่มชี้และเรียกชื่อสิ่งของต่างๆ ได้ พูดคำเดี่ยวๆ สั้นๆ เช่น แมว นม ขอ หิว ได้ จะมีการพูดหลายๆ คำ นำคำสั้นๆมารวมกัน ผสมคำเข้าด้วยกัน เช่น หิวนม หาแม่ เด็กสามารถฟังเรื่องเล่าสั้นๆ จากพ่อแม่ได้ อีกทั้งเด็กยังเข้าใจคำถามง่ายๆ เช่น พ่ออยู่ไหน หิวข้าวไหม สามารถตอบได้เป็นคำสั้นๆ หรืออาจตอบเป็นภาษากาย เช่นส่ายหน้า พยักหน้า หรือการชี้บอก การเสริมสร้างพัฒนาการด้านภาษาและการพูดสื่อสารของเด็กวัย 1-2 ปี คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ด้วย การพูดคุยกับลูกบ่อยๆ อาจใช้ประโยคสั้นๆเข้าใจง่ายๆ เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดสื่อสารตอบ พยายามใช้คำถามให้ลูกได้พูดตอบ และควรฝึกทักษะทางภาษาให้แก่ลูกด้วย เช่น การนับเลข, A-Z ,ก.ไก่-ฮ.นกฮูก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาภาษาและการพูดสื่อสารแก่ลูกน้อยให้เหมาะสมกับช่วงวัยและพร้อมเข้าสู่วัยอนุบาลค่ะ 

การกระตุ้นพัฒนาการทางด้านภาษาและการพูดสื่อสาร ในกิจวัตรประจำวันคุณพ่อคุณแม่ควรพูดหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง เช่น ขณะอาบน้ำ แต่งตัว หรือป้อนอาหาร การได้ใช้น้ำเสียงที่หลากหลายพร้อมทั้งการแสดงอารมณ์ออกทางสีหน้าและท่าทาง จะช่วยพัฒนาพื้นฐานการพูดของลูกน้อยได้เป็นอย่างดีค่ะ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ สามารถช่วยส่งเสริมการฝึกฝนโดยการมอบรางวัลเมื่อลูกพูดคำใหม่ๆ ได้ หรือเอ่ยคำชม กอด จูบซักฟอดก็ได้

เด็กบางคนจะมีพัฒนาการต่างๆ ที่ช้ากว่าปกติ ถ้าลูกใช้เวลาในการเรียนรู้การคลาน การเดิน การกินอาหารเหลวช้า ก็อาจทำให้พัฒนาการทางการพูดช้าไปด้วย แต่ถ้าลูกเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่บอก และสามารถทำตามคำแนะนำคือลูกสามารถชี้บอกได้ว่าต้องการอะไร แสดงว่าลูกอาจจะมีพัฒนาการทางการพูดช้าและมีความเป็นไปได้ที่จะมีพัฒนาการอย่างสมบูรณ์เมื่อโตขึ้นค่ะ แต่ในทางกลับกัน หากเด็กไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งที่พ่อแม่ขอให้ทำ และไม่สามารถเลียนแบบหรือจดจำเสียงต่างๆ ได้เลย และเวลาได้ยินเสียงดังๆ ลูกก็ไม่รู้สึกตกใจ คุณแม่ควรพาลูกไปรับการตรวจเช็คหูและประสาทรับฟัง ปัญหาการได้ยิน ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการทางด้านภาษาและการพูดสื่อสารค่ะ

บทความแนะนำ

1. ภาษาทารก แม่จ๋าพ่อจ๋ารู้จักภาษาของหนูดีพอหรือยัง?

2. 5 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาของลูกน้อย

3. 12 วิธีพูดง่ายๆ ฝึกลูกพูดได้ตามวัยและเข้าใจภาษาเร็วขึ้น แบบฉบับคุณแม่มืออาชีพ

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

1. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.คู่มือสำหรับพ่อแม่เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก.วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี.เข้าถึงได้จาก http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20171010123052.pdf  .[ค้นคว้าเมื่อ 14 ตุลาคม 2560]

2. Dr A.J.R Waterston,MD,FRCP,FRCPCH,DRCOG,DCH.คัมภีร์การดูแลทารกและเด็กเล็ก.พัฒนาการเดือนต่อเดือนของลูก,หน้า 105-134.สำนักพิมพ์เอ็มไอเอส.กรุงเทพฯ.[ค้นคว้าเมื่อ 16 ตุลาคม 2560]