ประจำเดือนขาด! ประจำเดือนไม่มา! ...ใช่ว่าจะตั้งครรภ์เสมอไป

03 October 2017
5629 view

ประจำเดือนขาด

ประจำเดือน (Menstruation) คือ การมีเลือดออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกๆเดือน ครั้งละ 2-7 วัน ซึ่งเป็นอาการแสดงของการเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ช่วงอายุ 11-14 ปี เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆภายในร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจริญพันธุ์ หากเกิดภาวะใดภาวะหนึ่งทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือนออกมาตามปกติ เรียกว่า ประจำเดือนขาด หรือ การขาดประจำเดือน

อย่างไรเรียกว่าประจำเดือนขาด

ผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนมาแล้ว อยู่ ๆ ประจำเดือนก็ไม่มาหรือขาดหายไปติดต่อกันเกิน 3 เดือน ด้วยสาเหตุต่าง ๆ จะเรียกว่า ภาวะประจำเดือนขาด” (Secondary amenorrhea) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยของผู้หญิงทั่วไป โดยปกติผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกในระหว่างอายุ 11-14 ปี ถ้าเลยอายุ 15 ปีไปแล้วประจำเดือนยังไม่มาก็ถือว่าผิดปกติ ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา” (Primary amenorrhea) และถ้าประจำเดือนไม่มาหรือประจำเดือนขาดหายไป แต่ยังไม่ถึง 3 รอบเดือนจะเรียกว่า ประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด

สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาด

การที่ประจำเดือนขาด มีหลายสาเหตุ บางสาเหตุเป็นธรรมชาติ เช่นการตั้งครรภ์ หรือบางสาเหตุก็เกิดจากกระทำ เช่น การทานยาคุมกำเนิด การเจ็บป่วย Mama Expert จึงได้รวบรวมสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดภาวะประจำเดือนขาด ดังนี้

  • การตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด
  • ยาคุมกำเนิด บางชนิดทำให้ประจำเดือนไม่มา เมื่อหยุดยาคุมกำเนิดไป 3-6 เดือนประจำเดือนจะมาตามปกติ
  • ยาบางชนิดอาจจะทำให้ประจำเดือนไม่มาได้แก่ corticosteroids, ยาแก้โรคซึมเศร้า antidepressants, antipsychotics, ยารักษาโรคไทรอยด์ และเคมีบำบัดบางชนิด
  • ความเครียด สามารถทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ อาจขาดประจำเดือนไปได้คราวละหลายๆเดือน เนื่องจากความเครียดจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการหลั่งฮอร์โมน
  • การออกกำลังกาย การออกกำลังมากเกินไปโดยทั่วไปมากกว่า20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายมากจะทำให้ระดับฮอร์โมนเพศลดลงทำให้เกิดการไม่มีประจำเดือน
  • น้ำหนัก คนอ้วนก็มีความผิดปกติของประจำเดือนได้เนื่องจากเซลล์ไขมันจะสร้าง estrogen ทำให้รอบเดือนถูกรบกวน
  • การที่รังไข่มีถุงน้ำ ถุงน้ำนี้มีการสร้างฮอร์โมนเพศชายออกมามาก ทำให้ผู้หญิงมีลักษณะของผู้ชาย เช่นมีหนวดเครา ขนดก มีสิว เสียงแหบ และไม่มีไข่ตก ผลคือไม่มีประจำเดือน
  • โรคของไทรอยด์ หรือการเจ็บป่วยเรื้อรัง
  • มีเนื้องอกในสมองที่สร้างฮอร์โมน Prolactin ทำให้ไม่มีประจำเดือน เป็นหมัน มีน้ำนมหลั่งโดยที่ไม่มีบุตร

การวินิจฉัยหาสาเหตุของประจำเดือนขาด

แพทย์สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุได้จาก อายุ ประวัติการมีประจำเดือน ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาโดยเฉพาะยาคุมกำเนิดและยาฮอร์โมนต่าง ๆ ประวัติอาการร่วมต่าง ๆ (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน) ร่วมกับการตรวจร่างกายและการตรวจภายใน นอกจากนั้นอาจมีการตรวจอื่น ๆ ทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ซึ่งมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ความผิดปกติที่ตรวจพบ และดุลยพินิจของแพทย์ (ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเหมือนกันทุกราย) เช่น

  • การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจเพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ โดยเป็นการตรวจที่ง่ายและสะดวก สามารถตรวจได้ด้วยตนเองจากการหาซื้อเครื่องตรวจตามร้านขายยา สามารถตรวจได้ตั้งแต่ประจำเดือนเลยกำหนดไปได้เพียง 1 วัน
  • การตรวจระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในเลือด เพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริงหรือไม่หากตรวจปัสสาวะแล้วยังไม่แน่ใจ หรือเนื่องจากมีบางกรณีที่การตั้งครรภ์ยังอ่อนมาก จึงตรวจไม่พบฮอร์โมนในปัสสาวะ ก็อาจมีความจำเป็นต้องตรวจเลือด แต่ต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีการตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจอัลตราซาวนด์ โดยเฉพาะการตรวจผ่านทางช่องคลอด ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานได้ชัดเจนขึ้นว่ามีก้อนเนื้องอกต่าง ๆ หรือเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ รอบรังไข่ (PCOS) หรือรังไข่มีความผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นการตรวจเพื่อดูภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ามีมากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งแพทย์มักตรวจเมื่อมีผลการตรวจเบื้องต้นต่าง ๆ ออกมาแล้วไม่พบความผิดปกติ
  • การตรวจฮอร์โมนโปรแลคติน เป็นการตรวจเพื่อดูระดับฮอร์โมนว่าสูงมากน้อยเพียงใด หากพบว่าอยู่ในระดับสูง อาจบ่งบอกว่ามีเนื้องอกในสมอง ซึ่งแพทย์มักจะตรวจเมื่อผลการตรวจเบื้องต้นอื่น ๆ ตามที่กล่าวมาแล้วไม่พบความผิดปกติ
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอที่สมองเป็นการตรวจเฉพาะในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีเนื้องอกในสมอง
  • การตรวจฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH เพื่อดูว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วหรือยัง
  • การตรวจหาโครโมโซม (Chromosome study) เป็นการตรวจที่มักทำให้รายที่มีการขาดประจำเดือนแบบไม่เคยมีประจำเดือนเพื่อดูว่า มีโครโมโซมผิดปกติเป็นชนิด

การป้องกันและการรักษาประจำเดือนขาด

การป้องกันประจำเดือนขาด

  • ควบคุมอาหารเพื่อคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อที่จะให้มีสุขภาพดี จะช่วยให้ระดับฮอร์โมนสมดุลและคืนค่ารอบประจำเดือน
  • หลีกเลี่ยงความเครียด ปรับพฤติกรรมการทำงาน การออกกำลังกาย และการพักผ่อนอย่างเหมาะสม
  • เน้นการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และใช้สารเสพติด
  • การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายเพื่อช่วยในการเริ่มต้นรอบเดือนใหม่ก่อนออกกำลังกายควรเข้ารับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายในลักษณะที่ช่วยรักษาสุขภาพและรอบประจำเดือน

การรักษาประจำเดือนขาดทางการแพทย์

  • ยาคุมกำเนิด หรือยาชนิดอื่น ๆ ของยาฮอร์โมนยาคุมกำเนิดบางชนิดอาจช่วยให้สามารถเริ่มต้นรอบเดือนใหม่ได้
  • ยาที่จะช่วยบรรเทาอาการของPCOS การรักษาด้วย clomiphene citrate (CC) มักถูกกำหนดเพื่อช่วยในการตกไข่ 
  • การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน(ERT) หน่วยแพทย์ฉุกเฉินอาจช่วยปรับสมดุลของระดับฮอร์โมนและรีสตาร์ทรอบประจำเดือนในสตรีของวัยหมดประจำเดือน

โดยทั่วไป ยารักษาโรคประจำเดือนขาดจะมีความปลอดภัยแต่อาจมีผลข้างเคียงซึ่งบางอย่างอาจร้ายแรง ควรศึกษาเกี่ยวกับผลข้างเคียงและความเสี่ยงเมื่อใช้ยากับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ

ประจำเดือนขาดควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อคุณได้ดูแลตนเองเป็นอย่างดีแล้ว แต่ประจำเดือนก็ยังไม่มา หรือเมื่อพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์ทันที

  • ประจำเดือนไม่เคยมาเมื่อเลยอายุ 15 ปีไปแล้ว
  • ประจำเดือนขาด ซึ่งตรวจเบื้องต้นไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์
  • ประจำเดือนขาด ร่วมกับโรคอ้วนหรือผอมมาก
  • ประจำเดือนขาด ร่วมกับมีอาการขี้ร้อน ผิวหนังชื้น
  • ประจำเดือนขาด ร่วมกับมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น
  • ประจำเดือนขาด ร่วมกับมีน้ำนมไหล
  • มีประจำเดือนขาด ร่วมกับมีขน หรือหนวดขึ้นมากกว่าผิดปกติ
  • มีประจำเดือนขาด ร่วมกับปวดศีรษะ ตาพร่ามัว

การมีประจำเดือน เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้หญิง แต่ถ้าหากเดือนไหนที่ประจำเดือนขาดหาย หรือมาไม่ตรงเวลา ปัญหาเหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดความกังวลสำหรับผู้หญิงอย่างเรา ดังนั้นเราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาเหล่านี้ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ ควรมีการจดบันทึกการมาของรอบเดือนในทุกๆเดือน เพื่อเป็นการเตือนความจำเมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ ควรตรวจเช็คความผิดปกติของรอบเดือนเมื่อประจำเดือนขาดหายหรือประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด แต่ถ้ามีอาการผิดปกติร่วมกับประจำเดือนขาดหาย Mama Expert แนะนำให้ไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์ใกล้บ้านเพื่อหาสาเหตุและทำการตรวจอย่างละเอียดต่อไปค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. 5 วิธีบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

2. ช็อกโกแลตซีสต์ โรคฮิตของวัยมีประจำเดือน

3. เป็นประจำเดือน ดื่มน้ำมะพร้าวได้หรือไม่?

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

อ้างอิง :

  1. ทความสุขภาพ.โรงพยาบาลสินแพทย์. “เมื่อประจำเดือน ไม่มาประจำเดือน”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/VUgEsT .[ค้นคว้าเมื่อ 2 ตุลาคม 2560]
  2. Emedicinehealth. Medical Author: Lawrence M Nelson, MD, MBA. “Amenorrhea”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/qJtdTQ .[ค้นคว้าเมื่อ 2 ตุลาคม 2560]
  3. Wikipedia.“ Amenorrhea”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/CGWdRv.[ค้นคว้าเมื่อ 2 ตุลาคม 2560]
  4. US Department of Health and Human Services; National Institutes of Health. “What causes amenorrhea?”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/JGVLYR.[ค้นคว้าเมื่อ 2 ตุลาคม 2560]