โรคโปลิโอ โรคร้าย อันตรายถึงพิการ!!!

24 July 2012
1423 view

โรคโปลิโอ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ โรคโปลิโอในเด็ก

โรคโปลิโอ หรือ Poliomyelitis นับเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะเชื้อ ไวรัสโปลิโอ จะทำให้มีการอักเสบของไขสันหลังทำให้มีอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขา ซึ่งในรายที่อาการรุนแรงจะทำให้มีความพิการตลอดชีวิต และบางรายอาจถึงเสียชีวิตได้ ในปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคโปลิโอได้ลดลงอย่างมาก เป็นผลจากการให้วัคซีนโปลิโอครอบคลุมได้ในระดับสูง

โรคโปลิโอ มีสาเหตุเกิดจาก

เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ ซึ่งจัดอยู่ในตระกูล Picornaviridae และในกลุ่ม Enterovirus มี 3 Serotype คือ Type 1, 2 และ 3 แต่ละชนิดอาจจะทำให้เกิดอัมพาตได้ พบ type 1 ทำให้เกิดอัมพาตและเกิดการระบาดได้บ่อยกว่าทัยป์อื่นๆ เมื่อติดเชื้อชนิดหนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันถาวรเกิดขึ้นเฉพาะต่อทัยป์นั้น ไม่มีภูมิต้านทานต่อทัยป์อื่น ดังนั้น ตามทฤษฎีแล้วอาจติดเชื้อได้ถึง 3 ครั้ง

ระบาดวิทยาของโรคโปลิโอ

เชื้อนี้จะอยู่ในลำไส้ของคนเท่านั้น ไม่มีแหล่งรังโรคอื่นๆ เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ในลำไส้ของคนที่ไม่มีภูมิต้านทานและอยู่ภายในลำไส้ 1-2 เดือน เมื่อถูกขับถ่ายออกมาภายนอก จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ และเชื้อจะอยู่ภายนอกร่างกายในสิ่งแวดล้อมไม่ได้นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อน อายุครึ่งชีวิตของไวรัสโปลิโอ (half life) ประมาณ 48 ชั่วโมง การติดต่อที่สำคัญคือ เชื้อที่ถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระเข้าสู่อีกคนหนึ่งโดยผ่านเข้าทางปาก (fecal-oral route) โดยเชื้อปนเปื้อนติดมือผ่านจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง (person to person) และเข้าสู่ร่างกายเมื่อหยิบจับอาหารเข้าสู่ปาก ในพื้นที่ที่มีอนามัยส่วนบุคคล และการสุขาภิบาล ไม่ได้มาตรฐานจะพบโรคโปลิโอได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเป็นการติดต่อทาง fecal-oral route ในประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งมีระดับสุขาภิบาลและการอนามัยส่วนบุคคลดีการติดต่อส่วนใหญ่จะเป็นแบบ oral-oral route โดยเชื้อที่เพิ่มจำนวนในลำคอ หรือทางเดินอาหารส่วนบน (oropharynx) ถูกขับออกมาพร้อมกับ pharyngeal secretion ออกมาทางปาก ปนเปื้อนมือที่หยิบจับอาหารเข้าทางปากของอีกผู้หนึ่ง โปลิโอเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก การให้วัคซีนโอพีวีในระดับความครอบคลุมเกินร้อยละ 80 มีผลทำให้อุบัติการณ์ของโรคนี้ลดลงมาก และประเทศที่เจริญแล้วเป็นจำนวนมากที่ไม่มีรายงานโรคโปลิโอระยะฟักตัวของผู้ป่วยที่มีอัมพาต อยู่ระหว่าง 1-2 สัปดาห์ แต่อาจนานถึง 5 สัปดาห์หรือสั้นเพียง 3-4 วันได้

อาการและการดำเนินของโรคโปลิโอ

เมื่อเชื้อโปลิโอเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทาน ไวรัสจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในบริเวณ pharynx และลำไส้ สองสามวันต่อมาก็จะกระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอที่ทอนซิล และที่ลำไส้และเข้าสู่กระแสเลือดทำให้มีอาการไข้เกิดขึ้น ส่วนน้อยของไวรัสจะผ่านจากกระแสเลือดไปยังไขสันหลังและสมองโดยตรง หรือบางส่วนอาจผ่านไปไขสันหลังโดยทางเส้นประสาท เมื่อไวรัสเข้าไปยังไขสันหลังแล้วมักจะไปที่ส่วนของไขสันหลังหรือสมองที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ เมื่อเซลล์สมองในส่วนที่ ติดเชื้อมีอาการอักเสบมากจนถูกทำลายไป กล้ามเนื้อที่ควบคุมโดยเซลล์ประสาทนั้นก็จะมีอัมพาตและฝ่อไปในที่สุด อาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอแตกต่างกันได้มาก ประมาณร้อยละ 90 จะไม่มีอาการแสดงใดๆ ประมาณร้อยละ 4-8 จะมีอาการไม่รุนแรงไม่มีอัมพาต ประมาณร้อยละ 1 จะมีอาการแบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่มีอัมพาต ประมาณร้อยละ 1-2 เท่านั้นที่จะมีอาการอัมพาตเกิดขึ้น ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการมีความสำคัญทางด้านระบาดวิทยา เพราะเชื้อไวรัสโปลิโอที่เข้าไปจะไปเพิ่มจำนวนในลำไส้ และขับถ่ายออกมาเป็นเวลา 1-2 เดือน นับเป็นแหล่งแพร่โรคที่สำคัญในชุมชน ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมาก หรือที่เรียกว่า abortive case หรือ minor illness จะมีอาการไข้ต่ำๆ เจ็บคอ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย อาการจะเป็นอยู่ 3-4 วัน ก็จะหายเรียบร้อยโดยไม่มีอาการอัมพาต ซึ่งจะวินิจฉัยโรคแยกจากโรคติดเชื้อไวรัสอื่นไม่ได้ ผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสโปลิโอ จะมีอาการเช่นเดียวกับที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นๆ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้าย abortive case แต่จะตรวจพบคอแข็งชัดเจน มีอาการปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อ เมื่อตรวจน้ำไขสันหลังก็จะพบผิดปกติแบบการติดเชื้อไวรัส มีเซลล์ขึ้นไม่มากส่วนใหญ่เป็นลิมโฟซัยท์ ระดับน้ำตาลและโปรตีนปกติ หรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตจะมีอาการแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ระยะแรกคล้ายกับใน abortive case หรือเป็น minor illness เป็นอยู่ 3-4 วัน หายไป 3-4 วัน เริ่มมีไข้กลับมาใหม่ พร้อมกับมีอาการปวดกล้ามเนื้ออาจมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อก่อนที่จะมีอัมพาตเกิดขึ้น กล้ามเนื้อจะเริ่มมีอัมพาตและเพิ่มจำนวนกล้ามเนื้อที่มีอัมพาตอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะเกิดเต็มที่ภายใน 48 ชั่วโมง และจะไม่ขยายเพิ่มขึ้นภายหลัง 4 วัน เมื่อตรวจดูรีเฟลกซ์บางครั้งจะพบว่าหายไปก่อนที่กล้ามเนื้อจะมีอัมพาตเต็มที่ ลักษณะของอัมพาตในโรคโปลิโอมักจะพบที่ขามากกว่าแขนและจะเป็นข้างเดียวมากกว่า 2 ข้าง (asymmetry) มักจะเป็นกล้ามเนื้อต้นขา หรือต้นแขนมากกว่าส่วนปลาย เป็นแบบอ่อนปวกเปียก (flaccid) โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบความรู้สึก (sensory) ที่พบบ่อยคือเป็นแบบ spinal form ที่มีอัมพาตของแขน ขา หรือกล้ามเนื้อลำตัว ในรายที่เป็นมากอาจมีอัมพาตของกล้ามเนื้อส่วนลำตัวที่หน้าอกและหน้าท้อง ซึ่งมีความสำคัญในการหายใจ ทำให้หายใจเองไม่ได้ อาจถึงตายได้ถ้าช่วยไม่ทัน มีส่วนน้อยของผู้ป่วยอาจมีอัมพาตของศูนย์การควบคุมการหายใจและการไหลเวียนโลหิต และเส้นประสาทสมองที่ออกมาจากส่วนก้านสมองทำให้มีความลำบากในการกลืน การกินและการพูด เรียกว่าเป็น bulbar form ซึ่งมีอัตราตายสูง เนื่องจากปัญหาทางการหายใจ

การวินิจฉัยโรคโปลิโอ

ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออัมพาตแบบอ่อนปวกเปียก (acute flaccid paralysis : AFP) ควรจะต้องนึกถึงโรคโปลิโอไว้เสมอ และดำเนินการสอบสวนโรค พร้อมกับเก็บอุจจาระส่งตรวจเพื่อ แยกเชื้อโปลิโอ การวินิจฉัยที่แน่นอนคือ แยกเชื้อโปลิโอได้จากอุจจาระ และทำการตรวจว่าเป็นทัยป์ใดเป็นสายพันธุ์ wild strain หรือ vaccine strain (Sabin strain) การเก็บอุจจาระส่งตรวจควรเก็บ 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ต้องเก็บให้เร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ภายหลังที่พบมีอาการ AFP ซึ่งเป็นช่วงที่มีจำนวนไวรัสในอุจจาระมากกว่าระยะอื่นๆ การจัดส่งอุจจาระเพื่อส่งตรวจจะต้องให้อยู่ในอุณหภูมิ 4-8° ตลอดเวลา มิฉะนั้นเชื้อโปลิโออาจตายได้

โรคโปลิโอ ดูแลรักษาอย่างไร

ให้การรักษาแบบประคับประคองในระยะแรกที่มีปวดตามกล้ามเนื้อ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ ให้นอนพักคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อมีอัมพาต และมีการหายใจลำบากจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่อไม่มีกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตเพิ่มมากขึ้นและหายปวด จึงเริ่มให้การนวดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ

ในเด็กทั่วไป การให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (OPV) นับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการให้วัคซีนป้องกัน 5 ครั้งเมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4 ปี และไปรับวัคซีนทุกครั้งที่มีการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. วัคซีนในเด็กมีอะไรบ้าง

2. อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน

3. วัคซีนเสริม

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง

สำนักโรคติดต่อทั่วไป, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.“โรคโปลิโอ (Poliomyelitis)”.เข้าถึงได้จาก http://thaigcd.ddc.moph.go.th/2016/knowledges/view/18 .[ค้นคว้าเมื่อ 24 กรกฏาคม 2012]