หมู่โลหิตอาร์เอชลบ(Rh-negative)เรื่องน่ารู้ ที่หลายคนไม่เคยรู้

11 May 2012
8042 view

หมู่โลหิตอาร์เอชลบ

การใช้เลือดในหมู่โลหิตอาร์เอชลบ

ถ้าผู้ป่วยที่มีหมู่อาร์เอชลบ จำเป็นต้องรับโลหิตในการรักษาพยาบาลจะต้องรับโลหิตอาร์เอชลบเหมือนกัน เพื่อป้องกันการกระตุ้นร่างกายให้สร้างแอนติบอดีต่อสาร ดี แต่ถ้าหากจำเป็นต้องรับโลหิตกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถจัดหาโลหิตอาร์เอชลบให้ได้และตรวจไม่พบแอนติ-ดี ในโลหิตผู้ป่วย ผู้ป่วยรายนั้นสามารถรับโลหิตอาร์เอชบวก เป็นการช่วยชีวิตได้ แต่ครั้งต่อๆ ไปจะรับโลหิตอาร์เอชบวกไม่ได้อีกแล้ว จำเป้นต้องรับแต่โลหิตอาร์เอชลบเท่านั้น เพราะผู้ป่วยอาจจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาแล้ว หากได้รับโลหิตอาร์เอชบวกอีก จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านขึ้นมา คือ ภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างจะไปทำลายเม็ดโลหิตแดงอาร์เอชบวก อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

หมู่โลหิตอาร์เอชลบในหญิงตั้งครรภ์

ในมารดาที่มีหมู่อาร์เอชลบ แต่บิดามีหมู่อาร์เอชบวก ในกรณีมารดาตั้งครรภ์แรก และลูกในครรภ์มีหมู่โลหิตอาร์เอชบวกเหมือนพ่อ เม็ดโลหิตแดงของลูก มีโอกาสเข้าสู่กระแสโลหิตของมารดาได้ ในระหว่างมีการหลุดลอกตัวของรก มารดาก็จะสร้างภูมิต้านทานต่อเม็ดโลหิตแดงของลูกขึ้น ลูกคนแรกจะปลอดภัย ถ้าตั้งครรภ์ในท้องถัดมา ถ้าลูกในครรภ์มีหมู่โลหิตอาร์เอชลบเหมือนแม่ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าลูกมีหมู่โลหิตอาร์เอชบวกจะส่งผลให้ภูมิต้านทานที่มารดาสร้างขึ้นหลังคลอดลูกคนแรก ไปทำลายเม็ดโลหิตแดงของลูกคนที่สองและคนต่อๆ ไปได้ ถ้ามีหมู่โลหิตอาร์เอชบวก ทำให้ลูกเกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และรายที่รุนแรงอาจตายในครรภ์ได้ ดังนั้นก่อนที่จะตั้งครรภ์ มารดาที่มีหมู่โลหิตอาร์เอชลบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ลูกได้

หมู่โลหิตอาร์เอชลบและการจำแนก

หมู่โลหิตนี้จะมีสารโปรตีนที่อยู่บบผิวเม็ดโลหิตแดง ซึ่งเรียกว่า แอนติเจน-ดี (Antigen-D) เป็นตัวบ่งบอกหมู่โลหิตระบบนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 หมู่ คือ

1. หมู่โลหิตอาร์เอชบวก (Rh positive)

คือหมู่โลหิตที่มีแอนติเจน-ดี อยู่ที่ผิวของเม็ดโลหิตแดง ในคนไทยมีหมู่โลหิตอาร์เอชบวกประมาณ 99.7%

2. หมู่โลหิตระบบอาร์เอชลบ (Rh negative)

คือ หมู่โลหิตที่ไม่มีแอนติเจน-ดี อยู่ที่ผิวของเม็ดโลหิตแดง ในคนไทยพบว่ามีหมู่โลหิตนี้เพียง 0.3% หรือ 1,000 คน จะมีเพียง 3 คนเท่านั้น จึงเรียกเป็น “หมู่โลหิตหายาก” หรือ “หมู่โลหิตพิเศษ” นั่นเอง

ในการรับโลหิตนั้นถ้าผู้ป่วยมีหมู่โลหิตอาร์เอชบวก จะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีถึง 99.7% แต่ถ้าผู้ป่วยมีหมู่อาร์เอชลบ จะเกิดปัญหา เพราะมีน้อยมากในคนไทย ฉะนั้นผู้ที่มีหมู่โลหิตชนิดนี้ ต้องสนใจและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ลูกในท้องเลือดกรุ๊ปอะไร อยากรู้คลิกเลย !!!

2. ตรวจเลือดทารกแรกเกิดเพื่อคัดกรองโรคเอ๋อ

3. อาหารบำรุงครรภ์ที่เหมาะกับ คุณแม่ตั้งครรภ์กรุ๊ปเลือดเอ ( A )

เรียบเรียงโดย : พว.นฤมล  เปรมปราโมทย์