- เด็กที่ใช้เวลาดูทีวีมากกว่า 10 ชั่วโมง ต่อ สัปดาห์ มักจะมีลักษณะเป็น เด็กอ้วน, มีนิสัยก้าวร้าว และ มีผลการเรียนที่ไม่ค่อยดี
- เด็กที่ได้ดูภาพยนตร์ หรือข่าว ในเรื่องที่มีการใช้ความรุนแรงใช้กำลังทำร้ายกัน หรือการลักพาตัว การฆ่ากันอย่างเหี้ยมโหดอยู่เสมอๆ ทำให้เด็กมีทัศนะคติว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ตนอยู่นั้นน่ากลัวและอาจจะเกิดความรุนแรงอย่างนั้นๆ กับตนได้ง่ายๆ
- นักวิจัยยังพบว่าการดูทีวีมาก จะทำให้เน้นเรื่องบทบาททางเพศ และมีความย้ำคิดเรื่องสีผิว หรือเชื้อชาติได้ในสหรัฐอเมริกา (ของไทยก็น่าจะคล้ายกัน) พบว่า เด็กส่วนใหญ่ติดทีวีตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล ต่างก็ใช้ทีวีเป็นเครื่องดึงดูดความสนใจของเด็ก พบว่าในปีหนึ่งๆ เด็กอเมริกันจะใช้เวลา 900 ชั่วโมง ในการเรียนที่โรงเรียน ขณะที่ใช้เวลา 1,500 ชั่วโมงนั่งดูอยู่หน้าทีวี ทางสมาคมกุมารแพทย์ ของอเมริกาจึงให้คำแนะนำว่า ควรให้เด็กๆใช้เวลาดูทีวีไม่มากกว่า 1-2 ชั่วโมง ต่อ วัน และแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ ช่วยสอดส่องดูเนื้อหา ของเรื่องต่างๆที่เด็กดูทางทีวีด้วย คุณพ่อคุณแม่ ควรจัดกิจกรรมอื่นๆ ให้เด็กได้มีโอกาสเล่นกับเพื่อนหรือพี่น้อง, ออกกำลังกาย และอ่านหนังสือด้วย แทนที่จะดูแต่ทีวีเพียงอย่างเดียว
ปัญหาเรื่องความรุนแรงที่แสดงออกมาในรายการทีวีต่างๆ เรื่องความรุนแรงผ่านจอทีวีนี้ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่กังวล และได้มีการศึกษาผลกระทบ ที่มีต่อเด็กที่ดูรายการเหล่านี้กันมาก ซึ่งพบว่า ความรุนแรงที่ปรากฏทางจอทีวี ที่เด็กเห็นกันนั้น ทำให้เกิดการเอาอย่างกันได้ เพราะในเรื่องที่เด็กได้ดูนั้น ได้แสดงว่า การใช้ความรุนแรงนั้น ทำให้เกิดความสนุกตื่นเต้น และทำให้ได้สิ่งต่างๆ อย่างที่ต้องการ และหลายต่อหลายครั้ง ที่เห็นก็มักจะเป็น “พระเอก” ที่ใช้ความรุนแรง ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ แม้ว่าเด็กจะถูกอบรมเลี้ยงดู จากคุณพ่อคุณแม่ ว่าไม่ให้ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น แต่ในทีวีกลับแสดงให้เด็กเห็นว่า เขาสามารถทำร้ายคนอื่นได้ไม่ว่า จะเตะจะต่อย หรือแม้แต่ฆ่าคนถ้าเขาเป็นพระเอก หรือแม้แต่เป็นผู้ร้าย และทำเรื่องรุนแรง ก็ไม่เห็นว่าจะต้องรับผิดชอบ หรือถูกจับทำโทษกันเลย มีการศึกษาดูผลกระทบที่มีต่อเด็กอายุ 2-7 ปี ที่ดูรายการที่มีภาพที่น่าเกลียดน่ากลัว เช่น ผีร้าย สัตว์ประหลาดที่ดุร้าย ฯลฯ พบว่า ภาพเหล่านั้นมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็ก ทำให้เกิดความกลัวและรู้สึกว่าตนเองอ่อนแอ เด็กมีความสับสนในใจได้ว่าบางสิ่งร้ายๆ ที่น่าเกลียดน่ากลัว อาจเกิดขึ้นกับตนเองเมื่อใดก็ได้ การที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกดูรายการเหล่านี้ แล้วเพียงคอยบอกลูกว่า “สิ่งต่างๆ ที่เห็นในจอทีวีนั้น ไม่ใช่เรื่องจริงนะลูก” นั้น ไม่เพียงพอ เพราะเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถแยกแยะ เรื่องความคิดในจินตนาการจากความเป็นจริงได้อย่างชัดเจนนัก สำหรับเด็กอายุ 8-12 ปี ที่เริ่มเข้าใจเหตุผล และมีประสบการณ์ต่างๆบ้าง ก็จะยังมีความรู้สึกกลัวและตื่นตระหนก เมื่อได้ดูรายการที่มีความรุนแรง เช่น การระเบิด, แผ่นดินไหว, การก่อการร้าย, การลักพาตัวเด็ก, การที่มีเด็กตกเป็นเหยื่อ ในกรณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากภาพยนตร์ หรือ รายการข่าวที่รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆถ้าคุณอยู่ด้วยกับลูก และมีเวลาที่จะปลอบโยนเขา รวมทั้งการอธิบายเหตุผล และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเข้าใจง่ายแก่ลูก จะทำให้เขาเข้าใจสิ่งที่เขาเห็นและแยกแยะสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น