ระวัง!!! เด็กติดทีวีมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการลูกอย่างมาก

08 March 2012
7465 view

เด็กติดทีวี

เด็กติดทีวีมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการลูกอย่างมาก

สื่อโทรทัศน์ให้ทั้งสาระและความบันเทิง เป็นแหล่งของข้อมูลทางวิชาการ  ข่าวสาร กีฬา วัฒนธรรม ให้แก่เด็ก ในขณะเดียวกันข้อมูลหลากหลายหากไม่ได้คัดกรองให้เหมาะสมก็อาจส่งผลในทางลบแก่เด็กได้  ผลกระทบจะมากน้อยเพียงไรขึ้นกับเนื้อหาของรายการ รูปแบบวิธีการนำเสนอ และระยะเวลาที่เด็กดูโทรทัศน์ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาพบว่าเด็กดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ 3 ชม. และหากรวมวีดีโอเทปและวีดีโอเกม เด็กจะใช้เวลาอยู่หน้าจอวันละประมาณ 6.5 ชม. การมีโทรทัศน์ในห้องนอนจะทำให้เด็กดูรายการต่างๆ มากขึ้น จึงเป็นที่สงสัยเสมอว่าการดูโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะมีผลกระทบกับเด็กอย่างไรบ้าง

สื่อโทรทัศน์มีผลกระทบต่อเด็กในหลายๆ ด้าน รวมทั้งพฤติกรรม ทัศนคติ และความเชื่อ ซึ่งผลอาจเห็นได้ในทันที เช่น ขัดใจ กระทืบเท้า ร้องกรี๊ดๆ เหมือนดาราคนโปรด หรือผลกระทบนั้นค่อยๆ สะสม เมื่อเด็กรับข้อมูลนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น ใช้การต่อสู้หรือใช้วิธีรุนแรงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เห็นว่าการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าทำให้ดูมีเสน่ห์ น่าสนใจ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพ การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน โดยไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาทั้งการติดโรค และตั้งครรภ์ เป็นต้น ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องมีความรู้ และเข้าใจถึงผลกระทบของโทรทัศน์ที่จะมีต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก


เด็กติดทีวีผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม

ความรุนแรง : จากรายงานของ American Academy of Pediatrics (AAP) พบว่า ปัจจุบันความรุนแรงที่เห็นจากโทรทัศน์และสื่อต่าง ๆ มีเพิ่มขึ้นมาก ประมาณร้อยละ 60 ของรายการต่าง ๆ จะมีความก้าวร้าวรุนแรงสอดแทรกอยู่ รายการของเด็กโดยเฉพาะการ์ตูนที่ผลิตในสหรัฐระหว่างปี ค.ศ. 1937-1999 จะมีความรุนแรงแทรกอยู่ด้วยทุกเรื่อง  และมักใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

การดูรายการที่มีความก้าวร้าวรุนแรง อาจทำให้เด็กกังวล สงสัย กลัว นอนไม่หลับ ฝันร้ายหรือซึมเศร้า หรืออาจมีแนวโน้มที่จะแสดงความรุนแรงเพิ่มขึ้น เด็กอายุ 2-7 ปีมักตกใจกลัวเมื่อดูรายการที่น่ากลัวเช่นผี สัตว์ประหลาด เพราะเด็กไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องจริงและเรื่องสมมุติได้

เด็กอายุ 8-12 ปี มักจะตื่นเต้นตกใจ เวลาเห็นความรุนแรงผ่านจอโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรือภาพข่าว เช่น ภัยพิบัติ สงคราม เหยื่อที่ถูกกระทำ เป็นต้น พ่อแม่ควรอธิบายให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อคลายความกังวลให้กับเด็ก

มีการศึกษามากมายถึงความก้าวร้าวรุนแรงในโทรทัศน์ที่มีต่อเด็กและวัยรุ่น ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

–  เด็กที่ดูโทรทัศน์ตั้งแต่เล็ก ๆ จะเรียนรู้ สังเกต จดจำ และซึมซับความรุนแรง และใช้ความก้าวร้าวรุนแรงต่อคนอื่นในการแก้ปัญหา แทนที่จะใช้การควบคุมตนเองหรือใช้วิธีการอื่น

–  การรับรู้ความรุนแรงผ่านทางสื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลานานๆ จะทำให้เด็กชาชินไปกับความรุนแรง และขาดความเอื้ออาทรต่อบุคคลอื่นในชีวิตจริง และอาจแสดงออกถึงความก้าวร้าวเมื่อโตเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่  เพราะเด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะซึมซับสิ่งต่าง ๆ ที่เห็น รายการต่าง ๆ ในโทรทัศน์จะเป็นแม่แบบ สร้างค่านิยม ทัศนคติ หล่อหลอมเด็ก หากพ่อแม่ไม่มีเวลาคอยสอนหรือชี้แนะ


พฤติกรรมทางเพศ : รายการต่างๆ มีการแสดงออกของพฤติกรรมทางเพศมากขึ้น รวมทั้งการใช้บุหรี่ เหล้า ยาและสารเสพติดในลักษณะเชิญชวนโดยไม่ได้แสดงถึงผลเสียของสิ่งเหล่านี้ จากคณะทำงานของ AAP ลงความเห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่สำคัญ และวัยรุ่นเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับเพศศึกษาจากสื่อต่างๆ เป็นอันดับสองรองจากโรงเรียน เด็กๆ ได้เห็นพฤติกรรมทางเพศของผู้ใหญ่ผ่านสื่อโทรทัศน์ ซึ่งแสดงออกถึงความสนุกสนาน ตื่นเต้น และถือเป็นเรื่องปกติโดยไม่ได้สอดแทรกถึงผลเสียที่จะตามมาจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย การติดโรค ตั้งท้อง ความรับผิดชอบหรือหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง เด็กวัยรุ่นดูแล้วอาจเข้าใจผิด อยากลอง อยากรู้ หรืออยากทำตามเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ใหญ่ มีข้อมูลที่แสดงว่าวัยรุ่นที่ดูรายการที่มีการแสดงบทบาททางเพศบ่อยๆ มักจะมีเพศสัมพันธ์ที่อายุน้อยกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้ดู

ผลทางโภชนาการ

เด็กใช้เวลาในการดูโทรทัศน์มากเป็นอันดับสองรองจากการนอน เด็กที่ดูโทรทัศน์มากมักจะอ้วน  เพราะเวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการดูโทรทัศน์ จึงไม่มีเวลาเหลือในการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหว และขณะดูโทรทัศน์เด็กมักกินเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาหาร เครื่องดื่มหรือขนมขบเคี้ยวที่มีแคลลอรี่สูงที่โฆษณาในโทรทัศน์
นอกจากนั้นสื่อโทรทัศน์ยังเน้นภาพลักษณ์ที่ต้องผอมบาง ทำให้เด็กหญิงกังวลเกี่ยวกับน้ำหนัก และพยายามที่จะควบคุมน้ำหนักตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งจะมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเด็ก (เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าภาพลักษณ์ที่ดูดีในโฆษณานั้น สื่อโทรทัศน์ได้ใช้เทคนิคต่างๆ ตกแต่งเพื่อให้ดูสวยงาม)

ผลต่อความคิดสร้างสรรและภาษา

 เด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะเหลือเวลาน้อยลงในการเล่น อ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือพูดคุยกับเพื่อนหรือผู้ใหญ่ ทักษะทางภาษาจะพัฒนาได้ดีต้องอาศัยการพูดคุยสื่อสารสองทาง โต้ตอบกันไปมาผ่านทางการเล่น การอ่าน และทำกิจกรรมรายการโทรทัศน์ทางการศึกษา บางรายการที่ผลิตมาเฉพาะสำหรับเด็ก อาจช่วยให้เด็กที่อายุมากกว่า 2 ปีได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ บทสนทนาหรือทักษะทางสังคม แต่สำหรับเด็กเล็กๆแล้ว เด็กจะเรียนรู้จากของจริงหรือประสบการณ์ตรงได้มากกว่า

ผลต่อการเรียน

เวลาที่เด็กใช้ในการทำการบ้านมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการเรียนหนังสือ หากดู TVนานจะมีผลต่อการทำการบ้านและรบกวนเวลานอนของเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กง่วงนอน ไม่มีสมาธิในเวลาเรียน และคะแนนตกต่ำ รายการที่มีคุณภาพจะมีผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็ก เด็กวัยเตรียมอนุบาลที่ดูรายการโทรทัศน์ทางการศึกษา  ทำคะแนนอ่านและเลขได้ดีกว่าเด็กทีไม่ได้ดู เมื่อเลือกใช้อย่างระมัดระวังและเหมาะสม TV ก็อาจเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีของเด็กๆ

โฆษณา

 เด็กๆ ดูโฆษณา > 20,000 รายการต่อปี วัยรุ่นยอมรับว่าโฆษณาบุหรี่ เบียร์ ไวน์ เหล้าในโทรทัศน์มีผลทำให้วัยรุ่นอยากลองสูบและดื่ม โดยที่โฆษณาเหล่านั้นจงใจที่จะไม่บอกถึงผลเสียที่จะตามมา เด็กเล็กๆ มักจะตกเป็นเหยื่อของโฆษณา ซึ่งเด็กๆ มักจะรบเร้าให้พ่อแม่ซื้ออาหารหรือสิ่งของต่างๆ ตามที่เห็นในโฆษณา

ผลกระทบของโทรทัศน์ต่อเด็กเล็ก

 Anderson และ Pempek 2005 ได้รวบรวมงานวิจัยถึงผลกระทบของโทรทัศน์ที่มีต่อเด็กเล็ก เพื่อยืนยันและสนับสนุนคำแนะนำของ AAP ที่ไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 24 เดือนดูโทรทัศน์ เพราะปัจจุบันมีรายการที่ตั้งใจผลิตมาเพื่อเด็กเล็ก และเด็กๆปัจจุบันนี้ใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์นานมากกว่าในอดีต เมื่อเปรียบเทียบกันพบว่าเด็กเรียนรู้จากการมีประสบการณ์จริงมากกว่าการเรียนรู้จากโทรทัศน์ การศึกษาส่วนใหญ่ยืนยันถึงผลกระทบในแง่ลบที่มีต่อการเรียนรู้ พัฒนาทางภาษา และสมาธิของเด็กเล็ก และมีเพียงรายงานเดียวที่พบว่ารายการโทรทัศน์บางรายการมีผลดีต่อการเรียนรู้ทางภาษาของเด็ก ในเด็กเล็กแบ่งการรับสื่อโทรทัศน์เป็นสองทางใหญ่ๆ คือ รายการโทรทัศน์ที่ทำมาเพื่อเด็กเล็กโดยเฉพาะ เพื่อให้เด็กสนใจ เข้าใจได้และตั้งใจดู (Foreground television) ซึ่งรายการเหล่านี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับเด็ก ส่วนรายการที่ไม่ได้ทำมาสำหรับเด็ก เด็กดูไม่เข้าใจ ไม่สนใจดู มักเป็นรายการของผู้ใหญ่ (Background Television) ซึ่งมักจะรบกวนสมาธิของเด็กในการเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่ หากพ่อแม่ดูโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะลดเวลาที่จะเล่นและมีปฎิสัมพันธ์กับเด็กลง ทำให้การเรียนรู้ของเด็กลดลง
ตั้งแต่มีการผลิตวีดีโอสำหรับเด็กเล็ก เช่น Baby Einstein และรายการโทรทัศน์เรื่อง Teletubbies ในปี 1990s เด็กเล็กๆ ใช้เวลาในการดูโทรทัศน์เพิ่มขึ้นมาก พบว่าเด็กเล็กอายุ 2 ½ –24 เดือน  ดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ   2 ชม.

ผลต่อพัฒนาการด้านการมองและการฟัง

ขณะดูโทรทัศน์ ลูกตาจะมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก ซึ่งการกลอกตาและให้ลูกตาได้มีการเคลื่อนไหวมองสำรวจ สังเกตสิ่งต่างๆ จำเป็นสำหรับการมองเห็นและพัฒนาด้านมิติสัมพันธ์ (การกะระยะและมองภาพ 3 มิติ) ซึ่งการดูโทรทัศน์นอกจากเป็นการมองภาพเพียงสองมิติแล้ว ยังมีผลต่อการจ้องมอง สังเกต และสมาธิ ส่วนในเรื่องของทักษะการฟังนั้น การเปิดโทรทัศน์ตลอดเวลาจะรบกวนสมาธิในการฟังของเด็ก ส่วนผลของรายการโทรทัศน์ซึ่งนำเสนอภาพและเสียงที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อาจจะกระตุ้นเด็กมากเกินไป  มีผลต่อสมาธิของเด็ก และอาจมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น
เมื่อเข้าสู่วัยเรียนนั้น งานวิจัยยังมีข้อขัดแย้ง และยังไม่สามารถสรุปได้


บทบาทของพ่อแม่

พ่อแม่ควรมีบทบาทในการดูโทรทัศน์ของเด็กโดย

1. เข้าใจถึงบทบาทและอิทธิพลของโทรทัศน์ที่มีต่อเด็กทั้งในแง่บวกและลบ เพื่อเลือกใช้โทรทัศน์ให้ได้ประโยชน์เต็มที่แก่เด็ก  เด็กเล็กๆ แม้อายุน้อยกว่า 1 ปี  ชอบและสนใจดูโทรทัศน์ แต่พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีดูโทรทัศน์ ถึงแม้ว่าจะมีการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กเล็กๆ ก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของสมองแสดงให้เห็นว่าเด็กเล็กๆ ควรได้ทำกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่น ร้องเพลง พูดคุย อ่านหนังสือ เล่านิทาน วิ่งเล่น และทำกิจกรรมหลากหลาย เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาของสมองและทำให้เด็กพัฒนาทักษะทางสังคม อารมณ์และทักษะด้านอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่

2.พ่อแม่ควรมีความรู้เกี่ยวกับสื่อ  เพื่อให้เข้าใจและรู้ทันสื่อ สามารถเลือกใช้โทรทัศน์ให้เกิดประโยชน์แก่เด็กและหลีกเลี่ยงผลเสียที่จะตามมา ให้ทราบถึงข้อแนะนำของ AAP ในการดูโทรทัศน์ เช่น

·       พ่อแม่ควรสร้างกฎ กติกาในการดูโทรทัศน์กับลูก และทำให้ได้
·       เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรดูโทรทัศน์
·       เด็กเตรียมอนุบาล (Preschool) ไม่ควรดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ 1-2 ชม. ยิ่งดู TV นานมากเท่าไร จนเหลือเวลาในการทำกิจกรรมอื่นน้อยลงเท่านั้น
·       เด็กวัยเรียนอาจดูได้มากกว่านี้ แต่พ่อแม่ควรต้องช่วยเลือกรายการหรือดูโทรทัศน์ร่วมกับลูกๆ พูดคุยถึงรายละเอียดของรายการที่ลูกดู เพื่อช่วยชี้แนะ ถาม-ตอบ ฝึกแก้ปัญหา
·       ไม่ให้มีโทรทัศน์ในห้องนอนเด็ก
·       เลือกรายการที่มีสาระ ให้ข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้แก่เด็ก และควรหลีกเลี่ยงรายการที่มีความก้าวร้าวรุนแรง
·       กำหนดรายการที่จะดูโทรทัศน์ให้ชัดเจน  เมื่อจบรายการให้ปิดทีวี ไม่กดปุ่มเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ
·       สนับสนุนให้เด็กและวัยรุ่นได้ทำกิจกรรมอื่น เช่น เล่นกีฬา อ่านหนังสือ หางานอดิเรกทำ
·       ไม่ดูโทรทัศน์ขณะทานอาหารหรือก่อนทำการบ้านเสร็จ
·       พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูโทรทัศน์ เพราะพ่อแม่จะเป็นต้นแบบให้เด็กทำตาม

โดยสรุป

โทรทัศน์เป็นสื่อที่สำคัญที่เข้าถึงทุกครัวเรือน และมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการ พฤติกรรม และการเรียนรู้ของเด็ก  ผู้ปกครองควรทราบถึงผลดี และผลเสียของรายการโทรทัศน์ที่มีต่อเด็ก จำกัดเวลาและรายการที่เหมาะสมร่วมกับเด็ก พร้อมทั้งให้พ่อแม่ได้มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนสถานการณ์กับเด็กโดยใช้รายการโทรทัศน์เป็นสื่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และป้องกันผลเสียที่จะตามมาจากสื่อโทรทัศน์

 

พว.นฤมล  เปรมปราโมทย์  เรียบเรียง
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต