ข้อควรรู้ของไวรัสซิกา สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

31 July 2016
4759 view

ไวรัสซิกา

สถานการณ์ล่าสุด ของเดือนกรกฎาคม 2559 พบการกลับมาระบาดอีกครั้งของไวรัสตัวร้าย ไวรัสซกาในประเทศแถบยุโรบ ล่าสุดพบในรัฐฟอริดา สหรัสอเมริกา คุณแม่ตั้งครรภ์ควรงดเดินทางในประเทศดังกล่าว ไวรัสซิกาอันรายที่มากับยุงลาย สถิติในหญิงตั้งครรภ์พบว่า หากติดเชื้อไวรัสซิกา ส่งผลต่อสุขภาพทารกในครรภ์ องการณ์อนามัยโลก รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขของไทยมีคำแนะดีๆเกี่ยวกับไวรัสซิกา สำหรับแม่ตั้งครรภ์ ดังนี้ 

ไวรัสซิกามีผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์อย่างไร

หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสซิกาเช่นเดียวกับคนทั่วไป โดยการถูกกัดจากยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค หญิงตั้งครรภ์โดยทั่วไปที่มีการติดเชื้อ อาจจะไม่มีอาการแสดง มีเพียง 1 ใน 4 คนเท่านั้นที่จะแสดงอาการ และมีอาการที่ไม่รุนแรง อาการส่วนใหญ่มีไข้ต่ำ ๆ ผื่นขึ้นตามร่างกาย อาจพบมีเยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ และข้อ อ่อนเพลีย ซึ่งจะเกิดอาการหลังจากการถูกยุงที่มีเชื้อกัด 2 - 7 วัน การวิเคราะห์เบื้องต้นจากการวิจัยโดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศบราซิลพบว่ามีความสัมพันธ์ของการติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์ต่อการเกิดภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิดของทารกในครรภ์โดยเฉพาะการติดเชื้อนี้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการวิจัยเพื่อหาสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และผลกระทบของการเกิดภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด โดยการวิจัยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกภูมิภาคอเมริกาและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โรคติดเชื้อไวรัสซิกามีการรักษาหรือไม่

ยังไม่มีวัคซีน และการรักษาโดยเฉพาะ เป็นการรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาอาการทั้งในหญิงตั้งครรภ์และบุคคลทั่วไป องค์การอนามัยโลกแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับดูแลตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

การป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

หญิงตั้งครรภ์ และหญิงในวัยเจริญพันธ์ ควรหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดคือการสวมเสื้อแขนยาวปกคลุมผิวหนัง และกางเกงขายาว การฉีดยากันยุง นอนกางมุ้ง และการทายาป้องกันยุงกัด โดยปฎิบัติตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์ และสิ่งสำคัญมากคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทั้งในบ้าน และสภาพแวดล้อมนอกบ้านบริเวณที่พักอาศัย หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเดินทาง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสซิกา รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ ที่นำโดยยุง เช่น ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นต้น หญิงตั้งครรภ์ และหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรปฏิบัติตามคำแนะนำเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยว ดังนี้

  • ป้องกันการถูกยุงกัดโดยการสวมใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว และหมวก
  • ใช้ยาทากันยุงที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน โดยปฎิบัติตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด
  • นอนหลับในห้องที่มีมุ้งลวด หรือนอนกางมุ้ง
  • ค้นหา และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และถ้าได้เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของไวรัสซิกา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อไปตรวจครรภ์ตามนัด

เชื้อไวรัสซิกาสามารถถ่ายทอดสู่ทารกระหว่างตั้งครรภ์หรือช่วงแรกเกิดได้หรือไม่

ข้อมูลในปัจจุบันเรื่องการถ่ายทอดเชื้อไวรัสซิกาสามารถถ่ายทอดสู่ทารกระหว่างตั้งครรภ์ หรือทารกแรกเกิดยังมีจำกัดมากอย่างไรก็ตามมีรายงานเกี่ยวกับการถ่ายทอดสู่ทารกในช่วงแรกเกิดในโรคติดเชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทำให้ต้องมีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ของการถ่ายทอดเชื้อไวรัสจากแม่สู่ลูก และผลกระทบต่อทารก ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาควรได้รับการติดตาม และดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด

เชื้อไวรัสซิกาอาจเป็นสาเหตุของภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิดได้หรือไม่

ในบางรัฐของประเทศบราซิลที่มีการเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ พบมีการเพิ่มขึ้นของทารกแรกเกิดที่มีภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด จากการวิเคราะห์เบื้องต้นของการวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของบราซิล ภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิดเป็นความเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งกำลังมีการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการเกิดภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิดโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกภูมิภาคอเมริกา และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง องค์การอนามัยโลกภูมิภาคอเมริกาแนะนำให้มีการดูแลก่อนคลอดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวัยเจริญพันธุ์ควรหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด

องค์การอนามัยโลกภูมิภาคอเมริกาได้สื่อสารกับสมาชิกในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาค และให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน และการควบคุมโรคที่นำโดยพาหะนำโรค ซึ่งได้เน้นประเด็นสำคัญคือมาตรการป้องกันส่วนบุคคลเพื่อลดการสัมผัสพาหะนำโรค โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์

เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team