เส้นรอบศีรษะลูกบอกอะไรได้บ้าง แต่ละเดือนต้องเพิ่มกี่เซนติเมตร

04 December 2017
69604 view

เส้นรอบศีรษะ

ศีรษะเป็นส่วนสำคัญของร่างกายเด็กเล็ก เพราะสมองของเด็กมีการเจริญเติบโตและเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เส้นรอบวงของศีรษะลูกรักจึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อและคุณแม่จะมองข้ามไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะถ้าไม่เป็นไปตามวัย ก็อาจจะมีผลเสียต่อการพัฒนาการในด้านอื่นๆด้วยเช่นเดียวกัน เช่น เรื่องความสูง หรืออาจซ่อนโรคต่างๆได้ เป็นต้น

ทำไมต้องวัดเส้นรอบศีรษะ

ปกติลูกจะได้รับการวัดเส้นรอบศีรษะเป็นประจำในช่วงแรก คือ ทุกครั้งที่มารับการตรวจสุขภาพตั้งแต่ช่วงแรกเกิด 1 เดือน 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 9 เดือน 12 เดือน ก็จะได้รับการวัดเส้นรอบศีรษะด้วย เพื่อดูว่าสมองและกะโหลกศีรษะเติบโตไปตามปกติหรือไม่ ถ้ามีความผิดปกติของ กะโหลกศีรษะหรือกระดูกชิ้นต่าง ๆ ของกะโหลกติดกันเร็วเกินไป หรือลูกขาดสารอาหาร หรือสมอง ได้รับความกระทบกระเทือนในช่วงวัยขวบปีแรก สมองย่อมเจริญเติบโตไม่ดี กะโหลกศีรษะจะเล็กกว่าธรรมดา

เส้นรอบศีรษะควรเพิ่มขึ้นอย่างไร ?

ปกติพยาบาลจะวัดเพื่อประเมินการเจริญเติบโตในวันที่ไปพบแพทย์ ฉีดวัคซีน แต่คุณแม่สามารถวัดได้เอง โดยวัดส่วนกว้างที่สุดของศีรษะ คือ วัดผ่านบริเวณหน้าผาก หรือขอบบนของกระดูกเบ้าตาไปยังส่วนที่นูนที่สุดของท้ายทอย เส้นรอบศีรษะลูกรักควรเพิ่มขึ้นดังนี้

  • แรกเกิด เส้นรอบศีรษะควรเพิ่มขึ้น +_ 2 เซนติเมตร
  • 6 เดือนแรก เส้นรอบศีรษะควรเพิ่มขึ้น 1.25เซนติเมตร/เดือน
  • 7-12 เดือน  เส้นรอบศีรษะควรเพิ่มขึ้น  0.5เซนติเมตร/เดือน
  • 1-2 ปี เส้นรอบศีรษะควรเพิ่มขึ้น 2เซนติเมตร

หรือสามารถเปรียบเทียบได้ตามกราฟเส้นรอบวงศีรษะ โดยเเบ่งแยกเพศหญิงและเพศชาย ดังนี้

graph07big-horz

เส้นรอบศีรษะเด็กบอกอะไร ?

เส้นรอบศีรษะเด็กบ่องบอกถึงภาวะสุขภาพและการเจ็บป่วย หากลูกมีเส้นรอบศีรษะเล็กกว่ามาตรฐานตามช่วงอายุ อาจมีหลายสาเหตุซึ่งแก้ไขไม่ได้เพราะส่วนมากพบว่า มีความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา   สาเหตุทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม ภาวะติดเชื้อของมารดา และ/หรือทารกในขณะอยู่ในครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน, อีสุกอีใส ภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรงของทารกทารกได้รับสารพิษ เช่น ยาเสพติด แอลกอฮอล์ ทารกได้รับรังสีชนิดต่างๆ เช่น รังสีเอกซ (รังสีจากการตรวจโรค) ทารกได้รับบาดเจ็บที่สมอง ขาดออกซิเจน และ/หรือติดเชื้อรุนแรง และเด็กที่มีเส้นรอบศีรษะมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานอายุ อาจป่วยเป็นโรคต่างๆเช่น เนื้องอกสมอง มีเลือดออกในโพรงสมองหรือในเนื้อสมองหรือในเยื่อหุ้มสมอง เช่น จากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง มีความพิการแต่กำเนิดของสมอง สมองติดเชื้อพยาธิตืดหมู บาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น จากอุบัติเหตุที่ศีรษะ การอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

เด็กเล็กมีการเปลี่ยนเเปลงของร่างกายอย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตถึงภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้น และควรติดตามเส้นรอบศีรษะลูกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี หากไม่มั่นใจในความผิดปกตินั้นควรปรึกษาแพทย์ในทันที

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1.วิธีกระตุ้นพัฒนาการเด็กแรกเกิด-12เดือน

2. บันทึกพัฒนาการเด็กคุณแม่ต้องทำ

3. พัฒนาการลูกน้อยสร้างง่ายๆ แต่ได้คุณภาพ

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team