การคลอดโดยใช้เครื่องมือช่วยคลอด ที่แม่ท้องต้องรู้

04 February 2018
14545 view

เครื่องมือช่วยคลอด

ทำไมต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด

ในกรณีที่มีความผิดปกติของท่าของทารก ทารกอยู่ในภาวะคับขัน แรงเบ่งของแม่ หรือแรงหดรัดตัวของมดลูก การคลอดอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด

ชนิดของเครื่องมือช่วยคลอด

ชนิดของเครื่องมือช่วยคลอด ที่ได้รับความนิยมมี 2 ชนิดคือ

1.การใช้เครื่องมือช่วยคลอดด้วยคีม

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Forceps extraction คือ การทำคลอดโดยการใช้คีม ช่วยดึงเด็กออกซึ่งวัตถุประสงค์การทำ คือ การช่วยให้ระยะเวลาที่ 2 ของการคลอดสั้น กรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น  ผลจากการได้ยาระงับการเจ็บปวด หรือกรณีทารกขาดออกซิเจน ในระยะใกล้คลอด

ภาวะที่ต้องพร้อมในการใช้เครื่องมือช่วยคลอดด้วยคีม
  1. ปาดมดลูกเปิดหมด
  2. รู้ท่าเด็กแน่นอน
  3. ส่วนนำลงอุ้งเชิงกรานอย่างน้อยระดับ ischial spine
  4. เชิงกรานไม่แคบ
  5. ถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว
  6. ทารกมีชีวิตอยู่
วิธีการใช้เครื่องมือช่วยคลอดด้วยคีม

ก่อนที่จะช่วยคลอด แพทย์จะทำการฉีดยาชาบริเวณอุ้งเชิงกราน แล้วสอดคีมเข้าไปด้านข้างของศีรษะทารกทีละข้าง  จากนั้นจึงทำการดึงอย่างนุ่มนวลผ่านช่องคลอด  คุณแม่อาจช่วยการคลอดได้โดยเบ่ง  เมื่อศีรษะเด็กเคลื่อนลงมาต่ำจึงทำการตัดฝีเย็บ  แล้วทำคลอดส่วนศีรษะ คลายคีมออก ทำคลอดส่วนลำตัวและแขนขาตามปกติ  ทารกที่คลอดโดยวิธีนี้ มักพบรอยแดงบริเวณคีมคีบ  ซึ่งจะหายไปเองภายใน 2-3 วัน

2.การใช้เครื่องมือช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

การช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ (Vacuum extraction) คือ การทำคลอดโดยใช้เครื่องสุญญากาศดึงศีรษะเด็ก เพื่อช่วยแรงเบ่งของแม่

วิธีการใช้เครื่องมือช่วยคลอดด้วยเครื่องสุญญากาศ  

เช่นเดียวกันจะต้องทำการฉีดยาบริเวณอุ้งเชิงกราน  แล้วใส่โลหะกลมรูปร่างคล้ายถ้วยเล็กๆ เข้าไปดูดกับหนังศีรษะทารกจากนั้นดูดอากาศในถ้วยออกเพื่อให้เป็นสุญญากาศแล้วดึงให้ทารกเคลื่อนต่ำลงมาพร้อมกับแรงเบ่งของคุณแม่  เมื่อศีรษะลงมาต่ำตัดฝีเย็บท่าคลอดส่วนศีรษะปิดเครื่องดูดสุญญากาศ ถ้วยจะหลุดออก แล้วทำคลอดส่วนที่เหลือของทารกตามปกติ  ทารกที่คลอดโดยวิธีนี้ มักมีศีรษะนูนเป็นลักษณะคล้ายจุก ซึ่งเกิดจากแรงดูดของเครื่องดูดสุญญากาศ ซึ่งปกติจะหายไปใน 1-2 วัน

ข้อเสียเปรียบของเครื่องดูดสูญญากาศเมื่อเทียบกับคีม คือ ต้องใช้เวลานาน และมีอันตรายต่อหนังศีรษะเด็กได้มากกว่า

เครื่องมือทั้งสองชนิดนี้ใช้ในกรณีที่คุณแม่ไม่มีแรงเบ่งหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ไม่สามารถออกแรงเบ่งคลอดได้ เช่น ความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ เป็นต้น  หรือในกรณีที่ทารกอยู่ในภาวะคับขันจำเป็นต้องรีบให้คลอดในกรณีที่ปากมดลูกเปิดเต็มที่แล้วและทารกลงมาอยู่ต่ำใกล้บริเวณปากช่องคลอด  การเลือกใช้เครื่องมือช่วยคลอดแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับ  ท่าของทารก  ความชำนาญของผู้ทำคลอด  และความเร่งด่วนที่จำเป็นต้องรีบทำคลอด

การคลอดโดยใช้เครื่องมือช่วยคลอด  หากไม่พบภาวะแทรกซ้อนของคุณแม่และทารก คุณแม่สามารถจะกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้ในระยะเดียวกันกับการคลอดปกติค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่หลังคลอด

1.การปฏิบัติตัวของคุณแม่หลังคลอด

2.คลอดลูกแบบไหนปลอดภัยกว่า

3.การผ่าตัดคลอดบุตร

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

อ้างอิง

1.ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. พญ. เกษมศรี  ศรีสุพรรณดิฐ. Forceps & Vacuum Extraction. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/rfwfcv .[ค้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561]

2.ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คณาจารย์กลุ่มปี 6. Forceps extraction. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/zSYDTb .[ค้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561]