เรื่องน่ารู้ : ไวรัสซิกาอันตรายอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่

29 January 2016
900 view

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.59 นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ได้เรียกร้ององค์การอนามัยโลก ผ่านวารสารการแพทย์สหรัฐฯว่า องค์การอนามัยโลกควรจะระวังจากบทเรียนการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา  เพราะไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรคกำลังเกิดการระบาดในภูมิภาคลาตินอเมริกา และแถบแคริบเบียน อาจระบาดทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสซิกา  ถึงแม้จะมีการทดลองวัคซีนซิกาบ้างแล้ว แต่อาจพร้อมสำหรับการทดสอบใน 2 ปีข้างหน้า แต่คงต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าจะสามารถนำมาใช้กับคนทั่วไป ถ้าล่าช้า จะส่งผลต่อประชากรโลกได้

ไวรัสซิกาอันตรายอย่างไร 

  1. ไวรัสซิก้ามียุงเป็นพาหะ ไม่สามารถติดต่อถึงกันระหว่างมนุษย์ได้
  2. ผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัด คือมีอาการไข้ ปวดศีรษะ และปวดข้อ ซึ่งอาจรวมถึงอาการผื่นผิวหนัง และเยื่อตาขาวอักเสบหรือตาแดงด้วย
  3. ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
  4. อาการจะปรากฏหลังผู้ป่วยได้รับเชื้อภายใน 3-12 วัน
  5.  เชื้อไวรัสซิกาส่งผลตรงต่อระบบสมอง โดยเฉพาะเด็กในครรภ์ โตช้า แคระแกร็น สมองเล็กไม่ปกติ
  6. ร้อยละ 80 ของผู้ได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการ ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ
เรื่องน่ารู้ : ไวรัสซิกาอันตรายอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่
หนูน้อยชาวบราซิล เกิดจากมารดาที่ได้รับเซื้อไวรัสซิกาขณะตั้งครรภ์ ส่งผลให้สมองเล็กกว่าปกติ

ป้องกันการระบาดของไวรัสซิกาได้ไม่ยาก

  1. เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ปลอดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะ เศษภาชนะ รอบๆบ้าน ทั้งใบไม้ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ ต้องเก็บกวาด ฝัง เผา หรือทำลาย และ
  3. เก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบริเวณครัวเรือน โรงเรียน เขตก่อสร้าง สถานีขนส่ง และหอพักรอบมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยให้ดำเนินการอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ส่วนผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในประเทศไทย มีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ สามารถมารับการรักษาและปรึกษาได้ที่คลินิกเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและการเดินทาง สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert  Editorial Team

ขอบคุณข้อมูล : www.hindustantimes.com

ขอบคุณข้อมูล : ฝ่ายอาโบไวรัส สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์