แยกห้องนอนกับลูก
การแยกห้องนอนเป็นที่นิยมหรือเป็นวัฒนธรรมของชาติตะวันตกเลยก็ว่าได้ แต่สำหรับแม่คนไทยนั้น ไม่เป็นที่นิยมด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นห่วงเกรงว่าลูกจะไม่ปลอดภัย แท้จริงแล้วเราสามารถแยกนอนกับลูกได้หลัง 2 เดือนขึ้นไป สำหรับผลต่อพัฒนาการต่างๆของทารกที่แยกห้อง และนอนร่วมห้องกับพ่อแม่ ยังไม่มีรายงานเชิงจิตวิยาเด็ก หรือไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ออกมายืนยันว่า เด็กสองกลุ่มจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันแต่อย่างใด แล้วจะแยกห้องนอนกับลูกได้เมื่อไหร่ มาดูกันค่ะ
แยกห้องนอนกับลูก วัยแบเบาะ
คุณแม่สามารถแยกนอนกับลูกน้อยได้เมื่อทุกอย่างลงตัวดีแล้ว คำว่าลงตัวคือ คุณแม่และลูกน้อยได้เรียนรู้กันมาพอสมควรเข้าใจพฤติกรรมระหว่างกัน เช่น การกินนม การหลับ ในช่วงหลังคลอดทันทียังไม่แนะนำให้แยกห้องนอน เนื่องจากแบบเเผนการนอนของทารกยังไม่เข้าที่หลับตื้นๆ และตื่นบ่อยๆ คุณแม่ต้องให้ลูกดูดนมทุก 2 ชั่วโมง บางคนนมแม่ล้วน100% ดูดถี่เกือบทุกชั่วโมงเลยเพราะนมแม่ย่อยง่ายเด็กบางคนหิวบ่อย หากแยกห้องคุณแม่อาจจะเพลียมาก หน้ามืดเป็นลมจากการเทียวเข้าๆออกๆห้องลูกได้ การแยกนอนกับลูกวัยแบบเบาะนั้นแนะนำหลัง 2 เดือนไปแล้ว เพราะแบบแผนการนอนของลูกเริ่มเข้าที่หลับนานขึ้นและหลับลึกมากขึ้น ให้นมห่างขึ้น คุณแม่จะได้ไม่ต้องตื่นบ่อย พักผ่อนเต็มที่ทั้งแม่และลูกน้อย
แยกห้องนอนกับลูก วัยอนุบาล
เด็กวัยอนุบาลเริ่มติดพ่อแม่น้อยลง แต่เด็กยังต้องการอ้อมกอดอุ่นๆ ตบก้นเบาๆบ้างในบางเวลา การแยกห้องนอนวัยนี้ค่อนข้างยากที่สุด และควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการส่งลูกเข้านอนพร้อมนิทาน การเล่านิทานก่อนนอนเป็นสิ่งที่แม่ควรทำ และต้องทำ เพราะการเล่านิทานเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางสมองที่ดีเยี่ยม ส่งลูกเข้านอนวัยนี้ควรมีไฟสลัวๆ ไม่ปิดทั้งหมด ลูกจะหลับนานจนถึงเช้าไม่ตื่นบ่อยๆ แต่ยังคงต้องสวมผ้าอ้อมสำเร็จรูป
แยกห้องนอนกับลูก วัยเรียน
ลูกน้อยวัยเรียน เริ่มต้องการพื้นที่ส่วนตัวในบางเวลา จึงไม่ยากนักที่จะต้องพูดคุยเพื่อบอกกล่าวเกี่ยวกับแยกห้องนอน เด็กวัยเรียน หลับยาวถึงเช้าแต่เด็กวัยนี้พบว่ามีเรื่องฝันร้ายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอาจทำให้ลูกผวากลางดึก คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดบรรยากาศให้ปลอดภัย น่านอนมีของที่ลูกชอบ เช่น ตุ๊กตา การ์ตูน และหนังสือที่ลูกชอบเปิดดูบ่อยๆวางไว้ ในห้องด้วย
ปัจจุบันมีเครื่องมอร์นิเตอร์เพื่อความอุ่นใจของคุณพ่อคุณแม่ให้เลือกใช้หลายรูปแบบ ส่วนจะแยกนอนกับลูกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของลูกและความสบายใจของพ่อแม่ค่ะ
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. 10เทคนิคปรับพฤติกรรมเบบี๋หลับยาก
2. เด็กควรนอนวันละกี่ชั่วโมง คุณแม่ควรรู้
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team